‘วันสันติภาพ’ ที่เกือบ ‘สิ้นอิสรภาพ’ เมื่อไทยหลุดพ้นจากการถูกอังกฤษย่ำยี ด้วยการวางพระองค์อย่างเฉียบแหลมของรัชกาลที่ 8

หลังจากที่อเมริกาได้ปฏิบัติการยุทธการโอะกินะวะ ทิ้งระเบิดปรมาณูถล่มฮิโระชิมะและนะงะซะกิ ในวันที่ 6 สิงหาคม และวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะออกพระราชดำรัสทางวิทยุ ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประกาศยอมรับปฏิญญาพ็อทซ์ดัม และถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามเพียงวันเดียว ประเทศไทยก็ได้ประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่า การที่ประเทศไทยประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. นั้น เป็นการกระทำที่ขัดกับเจตจำนงของประชาชน ดังนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงได้ประกาศว่า “การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” เป็นโมฆะ และไม่มีพันธะผูกพันกับประชาชนชาวไทย จนกลายเป็นที่มาของ วันสันติภาพไทย (16 สิงหาคม ของทุกปี)

การประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ของนายปรีดี พนมยงค์ ได้กลายมาเป็นคุณูปการหนึ่ง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเพียงฝ่ายเดียว และโฆษณาชวนเชื่อว่าได้ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม โดยมีการประกอบสร้างให้เรื่องดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

นายปรีดีฯ ได้ให้คำอธิบายในภายหลังว่า ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม จะประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นเวลาที่นายปรีดีฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการ ได้เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเหลือคณะผู้สำเร็จราชการเพียง 2 คน ในกรุงเทพฯ คือ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ที่ลงนามในประกาศไปก่อน แล้วก็ออกประกาศเลย ส่วนนายปรีดีฯ ค่อยให้ลงนามเอาทีหลัง

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายปรีดีฯ ได้ลงนามในประกาศหรือไม่ แต่นายปรีดีฯ ก็ไม่เคยปฏิเสธถึง “ความไม่สมบูรณ์” ของการประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เลย จนกระทั่งมีการประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488

ในความเป็นจริงแล้วหลังการประกาศสันติภาพ สถานะคู่สงครามระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษยังไม่ถือว่ายุติ จนกระทั่ง 4 เดือนต่อมา ที่ประเทศไทยได้ลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” (Formal Agreement for the Termination of the State of War between Siam and Great Britain) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 สถานะคู่สงครามระหว่างไทยกับอังกฤษจึงได้ยุติอย่างแท้จริง

ก่อนที่ประเทศญี่ปุ่นจะประกาศยอมแพ้สงครามนั้น นายปรีดีฯ ได้ติดต่อไปยังอังกฤษตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่อขอประกาศตั้งรัฐบาลใหม่และยกเลิกความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามทำเอาไว้ และเพื่อประกาศให้ “การประกาศสงครามกับบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา” เป็นโมฆะ

แม้ว่าความต้องการของนายปรีดีฯ จะถูกอังกฤษมองว่า “เร็วเกินไปและอาจเป็นที่น่าอับอายทางการทหาร” แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษกลับมองว่าต่อไปอเมริกาอาจจะเข้ามามีอิทธิพลในไทยมากขึ้น ดังนั้น อังกฤษจึงวางแผนให้นายปรีดีฯ “รีบประกาศสันติภาพโดยเร็ว” หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามไปแล้ว และเร่งให้ไทยยอมรับข้อตกลงการยกเลิกสถานะสงครามกับอังกฤษ

ดังนั้น การประกาศสันติภาพของประเทศไทย จึงเป็นการอ้างความสิ้นสุดสถานะสงครามเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ชาติฝ่ายสัมพันธมิตรอื่นๆ ไม่ได้ยอมรับด้วย

ประเทศอังกฤษได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทนไปลงนามข้อตกลงยกเลิกสถานะสงครามกับบริเตน ที่เมืองแคนดี ศรีลังกา โดยเร็ว เนื่องจากในขณะนั้น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน กำลังจะเดินทางกลับจากอเมริกาเพื่อมาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์ เป็นทูตที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศสงครามกับอเมริกา

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถือเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากในการจัดตั้งขบวนการเสรีไทย นับตั้งแต่วินาทีแรกที่รัฐบาลจอมพล ป. ได้ประกาศสงครามกับอเมริกา ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการติดต่อกับคนไทยในอังกฤษจนกระทั่งรวมตัวกันขึ้นเป็นขบวนการเสรีไทย และประสานติดต่อจนสามารถสร้างเครือข่ายเสรีไทยในประเทศไทยจนสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ทำให้อังกฤษมองว่า อเมริกาอาจมีทีท่ายอมรับและไม่มองไทยในฐานะประเทศผู้แพ้สงคราม อีกทั้งบทบาทของ ม.ร.ว.เสนีย์ อาจส่งผลให้อเมริกาเข้ามามีอิทธิพลในไทยแทนอังกฤษ ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่อังกฤษพยายามที่จะให้ไทยยอมรับข้อตกลงเลิกสถานะสงครามโดยเร็ว

ข้อตกลงเลิกสถานะสงครามดังกล่าวมีชื่อว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” (Formal Agreement for the Termination of the State of War between Siam and Great Britain) หรือที่รู้จักกันในนาม “ข้อตกลงสมบูรณ์แบบ 21 ข้อ” ซึ่งสาระสำคัญของข้อตกลง คือ การบังคับให้ไทยยุบกองทัพ และยอมให้อังกฤษใช้ท่าเรือและเรือรบต่างๆ รวมถึงยอมให้ควบคุมสื่อ และยอมให้ใช้สอยทรัพยากรต่างๆ ตามแต่อังกฤษจะเรียกร้อง

ซึ่งนายปรีดีฯ ในฐานะผู้สำเร็จราชการ ได้เห็นชอบที่จะให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อตกลงในสัญญาทาสนี้

แต่ทว่าในขณะที่ ม.ร.ว.เสนีย์ กำลังเดินทางจากอเมริกาเพื่อมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเดินทางผ่านอังกฤษ อินเดีย จนกระทั่งถึงศรีลังกา ก็เป็นเวลาเดียวกับที่คณะผู้แทนไทยนำโดย พลโทศักดิ์ เสนาณรงค์ และนายทวี ตะเวทิกุล กำลังจะมีการลงนามยอมรับข้อตกลงกับอังกฤษที่ศรีลังกาพอดี ม.ร.ว.เสนีย์ จึงได้ประสานงานให้คณะผู้แทนไทยติดต่อกับรัฐบาลอเมริกา จนเป็นผลให้อเมริกาเข้ามาคานอำนาจอังกฤษ ทำให้การลงนามดังกล่าวถูกชะลอออกไปก่อน

การดำเนินการด้วยท่าทีที่พยายามรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ให้ได้มากที่สุดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ด้วยการไม่ยอมรับข้อตกลงที่ไม่ยุติธรรมของอังกฤษ ทำให้แนวทางการดำเนินนโยบายของ ม.ร.ว.เสนีย์ นั้น ขัดแย้งกับนายปรีดีฯ เป็นอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามของ ม.ร.ว.เสนีย์ ที่วิ่งเต้นให้อเมริกาเข้ามาเป็นคนกลางเพื่อลดทอนข้อเรียกร้องที่เอารัดเอาเปรียบของอังกฤษ จนทำให้ความพยายามของอังกฤษที่จะเอากองทัพเข้ามาปลดอาวุธกองทัพไทยต้องล้มเลิกไป และทำให้การดำเนินการยุติสถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ สามารถจบลงได้ด้วยดี เรื่องนี้แม้แต่นายปรีดีฯ เองยังต้องหันมาชื่นชมอเมริกาว่า “นี่ขอขอบใจอเมริกาอย่างที่สุด ไม่รู้จะหาทางใดขอบใจ” รวมทั้งยังชื่นชมไปถึง ม.ร.ว.เสนีย์ อีกด้วย

ความสำเร็จของการที่อเมริกาเข้ามาคานอำนาจกับอังกฤษนั้น ได้ส่งผลให้การลงนามข้อตกลงยกเลิกสถานะสงคราม เลื่อนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 และทำให้ประเทศไทยยังคงรักษาเอกราชสมบูรณ์เอาไว้ได้ อีกทั้งยังส่งผลให้อังกฤษต้องถอนกำลังทหารที่เข้ามาเตรียมจะตั้งฐานทัพในไทยออกไป

ในครั้งนั้นยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญคือ ในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 Lord Louis Mountbatten ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตรแห่งกองบัญชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีความพยายามที่จะจัดพิธีสวนสนามทหารสหประชาชาติขึ้นในประเทศไทย นัยว่าเป็นการประกาศและเฉลิมฉลองในการเข้ายึดครองดินแดนในอารักษา ซึ่งถือเป็นการย่ำยีศักดิ์ศรีของประเทศไทยให้กลายเป็นประหนึ่งประเทศผู้แพ้สงคราม ทั้งๆ ที่อังกฤษเพิ่งยอมรับการยกเลิกสถานะคู่สงครามกับประเทศไทยไปหมาดๆ

แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 8 พระองค์ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะเข้าร่วมพิธีสวนสนามด้วย ซึ่งส่งผลให้ Lord Louis Mountbatten ที่แม้จะมีฐานะเป็นอุปราชแห่งอินเดีย หรือเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ก็มีสถานภาพที่ต่ำกว่าพระประมุขของรัฐ ดังนั้น ในพิธีสวนสนาม ในฐานะที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 มีพระสถานะที่สูงที่สุด พระองค์จึงทรงเป็นประธานในพิธี ประทับอยู่บนพระแท่นตรวจพลสวนสนามรับการแสดงความเคารพจากเหล่าทหาร แทนที่จะเป็น Lord Louis Mountbatten ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานภาพของไทยและอังกฤษกลายเป็นประเทศที่มีความทัดเทียมกัน

อ้างอิง :

[1] หลัง 16 สิงหา:ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชกับโชคชะตาแห่งการรอดพ้นจากบริเตน
[2] ประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 49 ตอนที่ 5 วันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2485 หน้า 244
[3] ประกาศสันติภาพ. ราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 44 เล่ม 62 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488 หน้า 503
[4] เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต, กรุงเทพฯ : มูลนิธิม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช, 2548

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า