‘ฝนหลวง’ องค์ความรู้เพื่อประชาชน หรือผลจาก Propaganda ?

ในปี พ.ศ. 2498 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนประชาชนในภาคอีสานย่านบริเวณเทือกเขาภูพาน จนได้พบกับปัญหาความแห้งแล้งอย่างหนัก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพอากาศที่มีฝนตกน้อยหรือไม่ตกเลย เป็นความแห้งแล้งที่เกิดจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ในตอนนั้นเอง พระองค์ได้ทอดพระเนตรบนท้องฟ้า และทรงสังเกตว่ามีปริมาณเมฆปกคลุมเหนือพื้นที่เป็นจำนวนมากแต่ไม่สามารถรวมตัวจนเกิดเป็นฝนได้ กระทั่งมีพระราชดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “โครงการฝนหลวง” เพื่อประชาชน

เมื่อเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในตอนแรกโครงการฝนหลวงนี้แทบจะไม่มีใครรับสนองงานเลย เพราะหลายคนมองว่าการทดลองนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ กระทั่งพระองค์ทรงลงมือทดลองด้วยพระองค์เองโดยได้รับความช่วยเหลือจากหม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล โดยใช้เวลาค้นคว้าวิจัยลองผิดลองถูกถึง 12 ปี เพราะรัฐบาลขณะนั้นก็ไม่ได้สนับสนุนด้านงบประมาณ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 จึงได้มีการเริ่มทดลองทำฝนเทียมอย่างจริงจัง ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้พระราชทานคำแนะนำ ปรับปรุงวิธีการหลายๆ อย่าง และติดตามการปฏิบัติงานทดลองอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน บางครั้งทรงควบคุมการทำฝนหลวงด้วยพระองค์เองเลยทีเดียว

ในที่สุดการทดลองสร้างฝนเทียมก็ประสบความสำเร็จในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยการทดลองสร้างฝนเทียมนี้แรกเริ่มในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงประยุกต์จากสูตรของฝรั่ง ซึ่งต้องเท้าความก่อนว่า ฝนเทียมถูกคิดค้นโดยนักประดิษฐ์ชาวต่างชาติ ในปี ค.ศ. 1946 แต่วิธีการนั้นก็ยังไม่ได้ผลที่ดีนัก ฝนเทียมในต่างประเทศจึงไม่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ต่อเนื่อง ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงดัดแปลงสูตรและกรรมวิธีให้เหมาะสมกับภูมิประเทศของไทย จนกระทั่งทรงค้นพบวิธีการที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ประเทศไทยจริงๆ

โครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จ และมีการสร้างฝนเทียมในหลายพื้นที่ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และเริ่มได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้รับงบประมาณเป็นครั้งแรกจากกระทรวงเกษตรฯ จำนวน 2 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2514

โครงการฝนหลวงยังได้รับการยอมรับจากต่างชาติ โดยทางอนุกรรมการภูมิอากาศอาเซียนได้ให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทำฝนเทียมในภูมิภาคอาเซียน และอนุมัติให้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้กับประเทศอื่นๆ ได้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลได้อนุมัติให้โครงการฝนหลวงขึ้นทะเบียนกิจกรรมดัดแปลงสภาพอากาศกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกในเครือสหประชาชาติและได้จัดให้มีสัมมนาเกี่ยวกับการดัดแปลงสภาพอากาศในกลุ่มอาเซียนเป็นครั้งแรก และมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติมาศึกษาโครงการฝนหลวงของไทยเป็นจำนวนมาก

เทคนิคการทำฝนเทียมของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับการจดสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 5 ได้รับการเผยแพร่และเป็นที่ยอมรับขององค์กรและสถาบันอุตุนิยมวิทยาทั่วโลก รวมถึงได้ร่วมจัดแสดงในงานนิทรรศการ Brussels Eureka 2001 ด้วย และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 พระองค์ท่านได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร “ฝนหลวง” โดยสำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) หมายเลข EP1491088 อีกทั้งสิทธิบัตรในฮ่องกงและของประเทศอื่นๆ อีกด้วย

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข้อพิสูจน์ว่า ‘ฝนหลวง’ ไม่ใช่การลอกเลียน ไม่ใช่ propaganda ตามที่มีคนกล่าวหา หากแต่ ‘ฝนหลวง’ คือองค์ความรู้สำคัญ คือความสำเร็จที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม อันเป็นผลมาจากการทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาของในหลวงรัชกาลที่ 9 และเป็นความปรารถนาดีอย่างแท้จริงของพระองค์ เพื่อให้ประชาชนคนไทยพ้นจากความทุกข์ยาก

TOP