ความรู้ไม่อาจถูกจองจำ ดิกชันนารีฉบับ สอ เสถบุตร ที่เขียนขึ้นในคุกนรก

ปัจจุบัน การค้นหาศัพท์และคำแปลภาษาอังกฤษ สามารถทำได้อย่างง่ายดายชั่วพริบตาด้วย Google translate หรือ Thai dictionary จนหลายคนอาจลืมไปว่า เคยมีพจนานุกรมรูปแบบหนังสือผ่านเข้ามาในช่วงหนึ่งของชีวิต

สมัยก่อน หนังสือพจนานุกรมจัดเป็น “ตำราคู่กาย” ที่ต้องมีพกติดกระเป๋า เป็นตำราชั้นดีที่ช่วยนักเรียนทำการบ้านวิชาภาษาอังกฤษอย่างราบรื่น กระทั่งเป็นเครื่องมือในการใช้สอบชิงทุนไปเรียนต่อยังต่างประเทศอีกด้วย และเป็นหนังสือที่มีการพิมพ์ซ้ำยอดรวมเกินกว่าแสนเล่ม

ตำราที่เกริ่นไปข้างต้น คือหนังสือปทานุกรมอังกฤษ – ไทย (ปัจจุบันเรียก “พจนานุกรม”) โดย สอ เสถบุตร ซึ่งศัพท์คำแรกของตัวอักษร A กำเนิดเกิดขึ้นที่คุกบางขวาง นนทบุรี ในปี 2476

เบื้องหลังชีวิตของผู้เขียนพจนานุกรมเล่มนี้สุดแสนจะรันทด เขาถูกตั้งสถานะให้เป็นนักโทษการเมือง ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาร้ายแรงที่สุด นั่นคือ “เป็นกบฏต่อราชอาณาจักร” โดยระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในคุก สอ เสถบุตร ได้แต่งตำราเล่มนี้ขึ้น เพื่อหวังให้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังผู้ใฝ่หาวิชาความรู้ติดตัว พจนานุกรมเล่มนี้จึงถือได้ว่าเป็น “ผลงานแห่งชีวิต” จนกระทั่งเขาถูกย้ายไปคุมขังบนเกาะกลางทะเลไกลสุดหล้าฟ้าเขียว แม้จะมีช่องทางหลบหนี แต่เขายอมตัดใจไม่หนี เพียรก้มหน้าทำงานแห่งชีวิตชิ้นนี้ จนสำเร็จเสร็จสิ้นลง

ด้วยความที่เป็นคนเรียนดี หลังจากสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงได้แล้ว สอ เสถบุตร กลายเป็นบัณฑิตหนุ่มเนื้อหอม มีกรมกองต่าง ๆ มาทาบทามไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้ไปร่ำเรียนเมืองนอก แต่ที่สุด สอ เสถบุตร เลือกไปเรียนด้านการเหมืองแร่ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางบรรยากาศที่คุกรุ่นเร่าร้อนของยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ดังที่เขาได้บรรยายความรู้สึกในจดหมายลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2466 ที่เขียนถึงหญิงสาวคนรักว่า

..ฉันทราบมาว่าพวกนักเรียนไทยที่ฝรั่งเศสเขาชุมนุมกันเสมอ นัยว่าจะมีการคบคิดที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นดีมอคเครซี แต่พวกนี้ออกจะหัวรุนแรงมาก ฉันเกรงไปว่ามันจะไม่ใช่ดีมอคเครซีน่ะซิ…”

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน การเมืองไทยเริ่มทวีความร้อนแรงขึ้น พระองค์เจ้าบวรเดชได้รวบรวมกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ เข้าทำการสู้รบกับกองกำลังทหารของรัฐบาลใหม่ ด้วยเพราะไม่เห็นว่ารัฐบาลจะทำการบริหารบ้านเมืองให้สมกับที่ได้ประกาศไว้ อีกทั้งยังมีแนวโน้มให้คุณแก่คณะพรรคพวกตนเอง และให้โทษแก่คณะพรรคพวกที่เห็นต่าง แม้ว่าพระองค์เจ้าบวรเดชจะเคยวิพากษ์วิจารณ์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และน่าจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ตาม

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 พระองค์เจ้าบวรเดชได้ส่งกองกำลังทหารจากหัวเมืองต่าง ๆ ในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” เข้ายึดสถานีรถไฟบางเขน แล้วยื่นเงื่อนไขให้รัฐบาล นั่นคือ ต้องจัดการทุกทางที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน และ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก หากแต่รัฐบาลมองว่าเงื่อนไขดังกล่าว คือความต้องการที่จะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาใหม่และต่อต้านประชาธิปไตย จึงมีคำสั่งให้ พันโทพิบูลสงคราม เป็นผู้บังคับการกองกำลังผสมเข้าทำการตอบโต้ กระทั่งในที่สุดเหตุการณ์สู้รบก็ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองกำลังทหารฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช

ในช่วงเวลานี้เอง สอ เสถบุตร ถูกจับกุมด้วยข้อหาสมคบคิดทำใบปลิวโจมตีคณะราษฎร สนับสนุนฝ่ายกบฏบวรเดช ร่วมกับเพื่อน ๆ กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ ซึ่งต่อมาเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ก่อนถูกจับขังคุก เด็กหนุ่มอนาคตไกลนาม สอ เสถบุตร เป็นนักเรียนทุนคิงสกอลาร์ชิพ เรียนจบเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ เป็นบัณฑิตวิศวกรเหมืองแร่คนแรกของสยาม และเป็นนักหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพ เดลิเมล์ (Bangkok Dailymail) จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองราชเลขาธิการองคมนตรีราวสองปี (พ.ศ. 2473 – พ.ศ. 2474)

ในระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำบางขวาง แดน 6 สอ เสถบุตร เกิดความคิดอยากทำปทานุกรมหรือพจนานุกรมขึ้น จึงลักลอบเขียนหนังสือโดยไม่ให้ผู้คุมจับได้ และได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเพื่อนนักโทษทางการเมือง ช่วยกันเขียนและตรวจทาน

จากความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ที่บ่มเพาะมาตั้งแต่สมัยช่วยสอนเพื่อนชาวต่างชาติให้เรียนรู้ภาษาไทย ไปจนถึงการร่ำเรียนที่อังกฤษ และกลับมาทำงานกองบรรณาธิการ Bangkok Daily Mail ทำให้นอกจากการเขียนปทานุกรมแล้ว สอ เสถบุตร ยังเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ Bangkok Time เพื่อเป็นรายได้ดูแลแม่และน้องสาวด้วย โดยวิธีลักลอบนำต้นฉบับออกไปจากคุกของ สอ เสถบุตร คือ ซุกซ่อนต้นฉบับไว้ในกระติกน้ำเปล่าเวลานางเกษร ผู้เป็นแม่มาเยี่ยม ซึ่งในชั้นใส่กระติกจะมีที่ว่างระหว่างแก้วให้สามารถสอดกระดาษเข้าไปได้ แต่บทความของเขาก็ไปเตะตารัฐบาลเข้าจนได้ ทำให้มีคำสั่งรื้อห้องขังของนักโทษทุกคน สอ เสถบุตร จึงยุติการเขียนบทความ หากแต่การงานแห่งชีวิตในเรื่องปทานุกรมนั้น ยังคงดำเนินต่อไป

กระทั่งฝันในการเขียนความหมายของภาษาจากตัวอักษร A ไปถึง Z ใกล้ความจริงเข้าทุกขณะ ทุกสิ่งกลับต้องหยุดชะงักลงเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ และได้มีการออกคำสั่งส่งนักโทษการเมืองซึ่งรวมถึงตัว สอ เสถบุตร ในวัย 36 ปี ไปยังเรือนจำบนเกาะตะรุเตา กลางทะเลอันดามันอันเวิ้งว้าง

แม้ความเป็นอยู่ของนักโทษการเมืองบนเกาะตะรุเตา จะค่อนข้างสะดวกสบายเมื่อเทียบกับนักโทษชั้นสามัญ แต่การถูกคุมขังก็ยังคงเป็นภาวะของการมองเห็นแค่เส้นขอบฟ้ากับลวดหนามบนกำแพงสูง ไม่ว่าสิ่งที่กางกั้นอิสรภาพนั้นจะเป็นกำแพงเรือนจำบางขวาง หรือเรือนจำนิคมตะรุเตา คุกก็ยังคงเป็นคุก ที่ซึ่ง สอ เสถบุตร ยังคงมุ่งมั่นทำงานเรียบเรียงปทานุกรมของตนเองต่อไป

กระทั่งในตอนที่มีโอกาสหลบหนีจากเกาะตะรุเตา โดยการชักชวนของเพื่อนนักโทษ สอ เสถบุตร ได้ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลเพราะไม่อยากให้คนที่รออ่าน ซึ่งได้จ่ายเงินค่าสมาชิกบอกรับปทานุกรมล่วงหน้ามาแล้วต้องผิดหวัง หากเขาหนีไป ภาระของการหนีก็จะติดตัวไปจนการงานแห่งชีวิตนี้จะไม่มีวันเสร็จสิ้น

ต่อมา สอ เสถบุตร พร้อมนักโทษคนอื่น ๆ ได้ถูกย้ายไปคุมขังยังเกาะเต่า ที่นั่น พวกเขาได้รับความลำบากแสนเข็ญชนิดที่ โชติ คุ้มพันธุ์ อดีตดอกเตอร์ทางเศรษฐศาสตร์จากเยอรมนี ซึ่งถูกเนรเทศไปเกาะเต่า รุ่นหลังจาก สอ เสถบุตร เคยพูดว่า

“…ผมว่าถ้าเป็นสัตว์ มันก็ตายเสียนานแล้ว นี่เราเป็นคน ความอดทนและความหวังมันยังช่วยพยุงใจได้บ้าง…”

จนกระทั่งในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2487 สอ เสถบุตร รวมทั้งนักโทษการเมืองทั้งหมด ได้รับการอภัยโทษ ตาม พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและถูกปล่อยตัวจากคุกเกาะเต่า ในวันนั้น ทั่วทั้งตลาดเมืองสุราษฎร์ธานี ต่างขวักไขว่ไปด้วยอดีตนักโทษการเมืองในสภาพเครื่องแต่งกายอันน่าขันระคนน่าสงสาร บางคนสวมเสื้อขาดกะรุ่งกะริ่ง บางคนสวมรองเท้าซึ่งเกือบจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นรองเท้า เพราะพื้นข้างล่างโหว่จนแทบจะรองรับเท้าไว้ไม่ได้ บางคนสวมหมวกซึ่งเต็มไปด้วยรูพรุน เดินฝ่าแสงแดดอันร้อนแรงขึ้นรถไฟมุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร

จากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมา สอ เสถบุตร คือหนึ่งในเรี่ยวแรงของประเทศชาติ ที่ตกเป็นเหยื่อความกระหายอำนาจของฝ่ายการเมือง เขาคือชายหนุ่มอนาคตไกล ที่ถูกกระแสลมแห่งการปฏิวัติหอบพัดเอาร่างกายและจิตวิญญาณไปตก ณ สถานที่ที่ไม่ควรจะได้รับการเรียกขานว่าโลกมนุษย์ด้วยซ้ำ แต่กระนั้นก็ดี ด้วยสติปัญญาและแรงกายเท่าที่พอจะมี เขายังสามารถผลิตผลงานออกมาให้เป็นคุณแก่ชนรุ่นหลังได้ แม้ว่าที่จริงแล้ว สอ เสถบุตร น่าจะได้รับโอกาสในการพัฒนาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มที่ มากกว่าแค่การแต่งตำราพจนานุกรม 1 เล่มจากคุกการเมืองก็ตาม

ที่มา :

[1] พิสิษฐิกุล แก้วงาม, นักโทษการเมือง
[2] ธีรภาพ โลหิตกุล, โบกมือลา มหากาพย์ดราม่า ‘ดิกชันนารี’ คนสามคุก
[3] พิมพวัลคุ์ เสถบุตร, ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร การต่อสู้และผลงานพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ในคุก
[4] นิธิ นิธิวีรกุล, บริบทของ-อิสรภาพ สอ เสถบุตร ปทานุกรมจองจำ

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า