‘นายใน’ นวนิยายหวือหวา จากงานวิชาการที่ตั้งธงด้วยอคติของผู้เขียน

งาน “นายใน” นั้นน่าจะเป็นที่รู้จักกันอย่างดีเนื่องจากงานชิ้นนี้ได้สร้างกระแสฮือฮาและตอบรับอย่างสูงไม่ว่าจะในแง่ใดก็ตาม งานชิ้นนี้ยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างดีดังสังเกตได้จากสำนักพิมพ์ผู้ตีพิมพ์ในปัจจุบันได้ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2565 ที่แล้วมานี้เอง ซึ่งอาจจะแสดงให้เห็นทั้งแง่ว่ามีผู้สนใจอยากอ่านงานประวัติศาสตร์ที่มากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่งก็ได้แสดงให้เห็นว่า ความหวือหวาก็สามารถขายได้โดยมีความเป็นวิชาการมาบังหน้าเอาไว้

ประเด็นที่น่าพูดถึงภายในงานนี้มีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน แต่หนึ่งในประเด็นที่น่ากล่าวถึงเป็นเรื่องของการโยงคำว่า “ที่รโหฐาน” เข้ากับสมมติฐานของผู้เขียนที่ได้ตั้งเอาไว้ ในประเด็นนี้ปรากฏอยู่ในวิทยานิพนธ์ซึ่งระบุว่า [1]

ในพระราชวังและสโมสรสถานสมาคมภายในพระราชวัง สวนหลวง และที่ดินที่ติดต่อกับพระราชฐานให้เป็น ที่รโหฐานซึ่งทรงมีพระราชอรรถาธิบายว่าหมายถึง ที่ลับลี้ ที่เงียบ จึงเป็นที่สำราญ แลผู้คนไม่พลุกพล่าน ซึ่ง ผู้ใดจะเข้าออกก็ได้แต่โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าบ้าน นอกจากนี้ยังทรงห้ามไม่ให้ข้าราชการอื่นๆ เข้าไปเป็นอันขาด … เว้นแต่จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษเฉพาะบุคคลจากนั้นได้สรุปรวบยอดไว้ว่า พระราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกลายเป็นพระราชสำนักฝ่ายในที่เป็นชายล้วนที่พระองค์ทรงประทับพักผ่อนและทรงพระสำราญ โดยมีพระสหายและมหาดเล็กชายหนุ่มคอยปรนนิบัติรับใช้แทนนางใน

จากข้อความนี้จะเห็นได้ว่าผู้เขียนได้พยายามแสดงให้เห็นว่า “ที่รโหฐาน” นั้นได้ถูกใช้เพื่อเป็นที่บำเรอส่วนพระองค์ ในท่อนนี้นั้นผู้เขียนได้อ้างเอกสาร “พระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยกรมศิลปากรหน้า 12-16 ซึ่งในหน้านี้เป็นการกล่าวถึง “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่รโหฐานในพระราชสำนักนิ์” ซึ่งมีอยู่ยาวแต่ผู้เขียนกลับยกมาเพียงความหมายซึ่งระบุไว้เป็นข้อแรกว่า “ทรงมีพระราชอรรถาธิบายว่าหมายถึง ‘ที่ลับลี้ ที่เงียบ จึงเป็นที่สำราญ แลผู้คนไม่พลุกพล่าน’” และโยงไปยังเรื่องสำราญบำเรอ ทั้งๆ ที่ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้กล่าวถึงเหตุผลอย่างชัดเจนในการตราขึ้น

ประเด็นแรกที่ควรจะกล่าวก่อนคือความหมายของรโหฐาน [2] ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ระบุว่าที่รโหฐานคือ ลับลี้ ที่เงียบ จึงเปนที่สำราญ แลผู้คนไม่พลุกพล่าน ต่อมาได้ระบุไว้อีกด้วยว่า พระราชวังทุกแห่ง สวนหลวงฤาที่ดินซึ่งนับว่าติดต่อกับพระราชฐาน ให้ถือว่าเปนที่ระโหฐานทั่วไป ถึงวังเจ้านายฤาบ้านข้าราชการ ตลอดจนถึงบ้านราษฎรก็ย่อมเปนที่ระโหฐานแห่งเจ้าของ นั่นหมายความว่าที่รโหฐานอันเป็นที่ลับลี้ เงียบ และผู้คนไม่พลุกพล่านนี้ ก็คือลักษณะที่มอบความเป็นส่วนตัวให้กับสถานที่ของผู้เป็นเจ้าของ ดังนั้น บ้านของประชาชนทั่วไปก็ถือเป็นที่รโหฐานด้วย สาเหตุที่ถึงกับต้องนำความหมายมาระบุไว้ด้วยนั้นก็เนื่องจากว่า … (จำเป็นต้องยกข้อความโดยเต็มมาเพื่อพิจารณา)

มีข้าราชการบางจำพวก ซึ่งมีความคิดความเห็นเปนอย่างที่ตนเองเข้าใจว่าเปนอย่างใหม่ สำคัญคิดว่าตนมีวิชาความรู้ดีกว่าบิดามารดาปู่ย่าตายายของตน คนจำพวกนี้ดูเหมือนจะเข้าใจไปเสียว่า พระราชวังเปนสาธารณสถาน คือเปนที่ใครจะไปจะมาเมื่อใดๆ ก็ได้ตามใจ แลโดยความทะเยอทะยานของตนที่จะเสนอน่ากับคนอื่น เห็นใครเข้าได้ถึงไหนก็จะเข้าไปถึงบ้าง ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโดยทรงพระมหากรุณาแก่ข้าราชการ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าได้โดยเสมอน่ากัน อย่างมากที่สุดที่จะพึงจัดให้เปนไปได้ แต่ถ้าแม้ว่าจะโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการทุกคนเฝ้าได้ทุกแห่งไปก็เปนการฟั้นเฝือเหลือเกิน แลสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็จะไม่ทรงมีเวลาที่จะทรงพระราชสำราญโปร่งพระราชหฤทัยได้บ้างเลย จึงต้องมีกำหนดขีดขั้นว่าที่นั้นๆ เพียงนั้นๆ เปนที่ระโหฐาน ฤาเรียกตามศัพท์ที่เข้าใจกันอยู่โดยมากว่าเปนข้างในในที่เช่นนี้ ในชั้นต้นมีกำหนดเข้าใจกันอยู่ว่า เฉพาะข้าราชการในพระราชสำนักนิ์เท่านั้นจึงจะเข้าไปได้ ครั้นต่อมาข้าราชการมีจำนวนมากขึ้น ความรู้ในขนบธรรมเนียมแลพระราชนิยมก็ไม่มีทั่วถึงกัน จึงเกิดมีความเข้าใจผิดไปได้ต่างๆ

จะเห็นได้ว่า ที่รโหฐานนี้มีการจำกัดความไปคนละทางกับที่ผู้เขียนนายในกล่าว อีกทั้งผู้เขียนยังเมินข้อความนี้ไปอย่างชัดเจน และตัดตอนมาเฉพาะบางส่วนเพื่อให้รับกับสมมติฐานของตน

นอกจากประเด็นที่รโหฐานนี้แล้วยังมีประเด็นอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เน้นการสัมผัสกายอย่างมาก เช่น ระบุว่า เมื่อมีการซ้อมรบเสือป่าอย่างจริงจังในที่มืดยิ่งทําให้เด็กหนุ่มมีโอกาสปลุกปลํ้าฟัดเหวี่ยงกอดกวัดสัมผัสร่างกายกันมากขึ้น หรือ “…เป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กหนุ่มจะไม่เห็นและสัมผัสถูกเนื้อต้องตัวกันเองผ่านการถวายงาน… ไม่เพียงแต่การมองเห็นการสัมผัสจับต้องเรือนร่างกันและกันยังเป็นเรื่องที่ยอมรับกันได้ในชุมชนชายล้วนอย่างพระราชสํานักฝ่ายในชายของพระองค์” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีหลักฐานยืนยันแต่อย่างใด เป็นเพียงแต่การกล่าวเองของผู้เขียน และการแสดงการคาดคะเนหลายครั้งกลับแสดงให้เห็นความไม่มั่นใจในข้อมูลของผู้เขียนเองเสียด้วยซ้ำ [3]

หรือประเด็นที่แสดงอคติอย่างชัดเจนคือ การกล่าวว่ารัชกาลที่ 6 ไม่โปรดผู้หญิงและบริภาษไว้มากมาย ทั้งที่พระองค์ทรงแสดงไว้ด้วยว่าบทบาทของผู้หญิงที่ดีควรเป็นอย่างไร เช่น บทละครเรื่องสาวิตรีและมัทนะพาธา ซึ่งผู้เขียนกลับจำกัดตัวเองไว้ที่ข้อมูลแคบๆ ของตน [4]

ประเด็นที่ยกมานี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายประเด็นในงานชิ้นนี้ที่เกิดจากอคติของผู้เขียน และเป็นงานที่ออกแนวงานเขียนเชิงเรื่องแต่งเสียมากกว่า แต่กลับได้รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ปีการศึกษา 2554 ซึ่งแสดงให้เห็นเพียงพอถึงปัญหาในวงการสังคมศาสตร์ของไทย และอาจจะรวมถึงการมุ่งเน้นแต่เรื่องที่หวือหวาหยิบมาพูดได้อย่างสนุกก็เพียงพอโดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง

อ้างอิง :

[1] ชานันท์ ยอดหงษ์, “นายใน: ชีวิตทางสังคมชายล้วนและเพศภาวะในพระราชสำนักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555), หน้า 45-46.
[2] พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยที่ระโหฐานในพระราชสำนักนิ์, ราชกิจจานุเบกษา 29 (23 มิถุนายน 131, หน้า 100 – 106.
[3] นาวิน วรรณเวช, “นายใน กับปัญหา “ความจริงในเรื่องเล่า” และ “ร่างทรงของอดีต”,” สงขลานครินทร์ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2556): 253.
[3] นาวิน วรรณเวช, “นายใน กับปัญหา “ความจริงในเรื่องเล่า” และ “ร่างทรงของอดีต”,” สงขลานครินทร์ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 (เมษายน – มิถุนายน 2556): 253-254.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า