การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่…

“การที่มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดหรือการแสดงความคิดเห็นนั้น มิได้หมายความว่าจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างไรก็ได้ เพราะสิทธินั้นมาควบคู่กับหน้าที่ คือในการใช้สิทธิ ก็ต้องคำนึงถึงหน้าที่ ที่จะต้องเคารพถึงสิทธิของคนอื่นด้วย”

มีชัย ฤชุพันธุ์ , ปัญหาการแก้ไขมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา
22 ธันวาคม 2554

หลายครั้งที่คำว่า “เสรีภาพในการพูด” หรือ “เสรีภาพในการตั้งคำถาม” ถูกบางคนนำมาใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับการทำผิดกฎหมาย เพราะถ้ายกคำอ้าง “เสรีภาพ” ออก สิ่งที่ชัดแจ้งอยู่ในพฤติการณ์ของคนเหล่านั้นคือการกล่าวหา ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย

และกฎหมายก็มีบทบัญญัติชัดเจนอยู่แล้วว่า พฤติการณ์ใดคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย โดยจะพิจารณาจากความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วๆ ไป ไม่ใช่ยึดตามความรู้สึกของคนที่ทำผิดหรือคนที่กล่าวหาว่าอีกฝ่ายทำผิดแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น การจะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอะไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงทั้งสิทธิของตัวเองและของผู้อื่นควบคู่ไปด้วย และต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ส่วนการมองว่ากฎหมายใดไม่เข้ายุคสมัยจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยังไง ก็ต้องว่ากันตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำประชาพิจารณ์ หรือเข้าชื่อเสนอผ่านไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการประชาธิปไตย

ไม่ใช่พยายามเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย ทั้งๆ ที่บางคนที่เฮโลกันออกมาเรียกร้องนั้นยังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าอะไรคือ “สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน” อะไรคือ “การละเมิดสิทธิของผู้อื่น”