Lue Podcast EP76 – ‘พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ’ ความหมายอันลึกซึ้งในบทเพลงพระราชนิพนธ์

ในยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการแต่งเพลงขึ้นมามากมายในช่วงนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงเกี่ยวกับการเผยแพร่ลัทธิชาตินิยม เพลงเหล่านี้เป็นเพลงที่ถูกเปิดระดมผ่านสถานีวิทยุอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเพื่อให้คนไทยมีความเชื่อมั่นในลัทธิผู้นำและรักชาติ ภายใต้ความรู้สึกทั้งความกลัว ความเศร้า ฯลฯ ในยุคที่ระเบิดอาจลงเมื่อไรก็ได้

เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงในช่วง พ.ศ. 2488 อันเป็นช่วงที่จอมพล ป. ต้องลงจากอำนาจด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้เปิดรับ “ฟ้าวันใหม่” ด้วยรัชกาลที่ 8 ได้บรรลุนิติภาวะและพร้อมที่จะปกเกล้าในฐานะพระมหากษัตริย์ของไทยอย่างเต็มตัว โดยพร้อมด้วยพระราชภารกิจใหม่อย่างการเสด็จประพาสเยี่ยมราษฎร ซึ่งได้กลายเป็นงานประจำและบทบาทใหม่ของพระมหากษัตริย์

ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้ารัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 นั้น เป็นช่วงเวลาของการตกลงในขอบเขตของการปกครองในระบอบใหม่ กล่าวคือ รัชกาลที่ 7 ทรงรับหน้าที่อันหนักในการเสริมการเปลี่ยนผ่านและการตกลงถึงขอบเขตอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ให้ลงตัวให้ได้ อย่างไรก็ดีความพยายามนี้ไม่เป็นผลสำเร็จ ความบาดหมางและความไม่เข้าใจกันได้เกิดขึ้นอย่างร้าวลึก และสุดท้ายรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสละราชสมบัติ หลังจากที่สละราชสมบัติ รัชกาลที่ 8 ทรงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อ แต่ก็นับเป็นเวลากว่า 10 ปีก่อนที่รัชกาลที่ 8 จะทรงพร้อมในการปกเกล้าประชาชน

ในช่วงเวลา 10 ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ของไทยได้ประทับอยู่ที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลานาน ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำและจะต้องไม่ก่อให้เกิดแรงเสียดทานทางการเมืองและความขัดแย้งแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 คือจะเชื่อมต่อกับประชาชนอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าประชาชนได้ผ่านช่วงหดหู่และการไร้ความหวังจากสภาวะของสงครามมาแล้ว … สิ่งนั้นคือ “บทเพลงพระราชนิพนธ์”

บทเพลงพระราชนิพนธ์ส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย และบทเพลงนั้นมีนัยอย่างไรต่อการเมืองในขณะนั้น ติดตามได้ใน Podcast ของ Lue History

TOP