‘พระยาอนุศาสน์จิตรกร’ จิตรกร 5 แผ่นดิน ศิลปินผู้ ‘ครบเครื่อง’ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยเรามีศิลปินระดับเอกอุอยู่มากมาย โดยเฉพาะในสาขาทัศนศิลป์ มีศิลปินหลายท่านที่ได้รังสรรค์ผลงานจิตรกรรมชิ้นเอกเอาไว้ โดยผลงานเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องบันทึกบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้กลายมาเป็นมรดกอันล้ำค่าของแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบัน

และศิลปินผู้มีความสำคัญท่านหนึ่งของไทย คือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกร 5 แผ่นดิน ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ. 2414 – 2492 (ร.5 – ร.9) เป็นขุนนางชาวไทย อดีตองคมนตรี และเป็นผู้มีฝีมือทางด้านศิลปะ โดยเฉพาะด้านจิตรกรรม และการถ่ายภาพ จนได้เป็นช่างภาพประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

พระยาอนุศาสน์จิตรกรเกิดที่ตำบลวัดราชบูรณะ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2414 เข้าศึกษาวิชาการชั้นต้นที่ วัดสังเวชวิศยาราม สำนักพระอาจารย์เพชร และพระอาจารย์สังข์ และวิชาการอื่นๆ จากครูพุด ยุวะพุกกะ

ท่านได้เข้ารับราชการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436 โดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ด้วยทรงเห็นว่า “มีฝีมือทางช่าง” จึงทรงนําเข้าเฝ้าถวายตัวต่อในหลวงรัชกาลที่ 5 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการตําแหน่งช่างเขียนในพระบรมมหาราชวัง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2448 ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดเล็ก ถือศักดินา 600 เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แล้ว ในปี พ.ศ. 2454 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศชั้นหัวหมื่นมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” ตำแหน่งจางวางกรมช่างมหาดเล็ก และได้โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้ากรมช่างมหาดเล็กในปี พ.ศ. 2459

พระยาอนุศาสตร์จิตรกรเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะหลายแขนง โดยเฉพาะการเขียนภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพลายเส้นประกอบเรื่อง หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง ทั้งยังเป็นผู้ที่รับสนองพระราชกระแสรับสั่งเขียนภาพต่างๆ ถวายในหลวงรัชกาลที่ 6 เป็นจํานวนมาก รวมทั้งภาพประกอบในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ ซึ่งได้รับการพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยที่พระองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ โดยลักษณะเด่นของหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 นั้น มีลักษณะปกสวยเดินทอง มีภาพประกอบสวยงาม ยากที่หนังสือรุ่นอื่นๆ จะเทียบได้ ซึ่งส่วนหนึ่งของหนังสือ “ปกสวย” เหล่านั้น เป็นฝีมือของพระยาอนุศาสน์จิตรกรนั่นเอง

พระยาอนุศาสน์จิตรกร ยังมีผลงานด้านจิตรกรรมตามวัดวาอารามต่างๆ อีกมาก เช่น ภาพชาดกในพระวิหารหลวงจังหวัดนครปฐม ภาพตัดขวางแสดงพระปฐมเจดีย์องค์เดิม ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ภาพเรื่องรามเกียรติ์ ในพระที่นั่งบรมพิมาน และระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพเขียนสีน้ำมันบนกุฏิสมเด็จฯ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นต้น

และด้วยความสามารถโดดเด่นทางการเขียนภาพ ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุล “จิตรกร” ให้แก่พระยาอนุศาสน์จิตรกร

นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนในรูปแบบศิลปะสมัยใหม่ที่ต่างจากจิตรกรรมไทยประเพณี คือเน้นลักษณะความสมจริงของเรือนร่างมนุษย์ มีกล้ามเนื้อ แสงเงา และให้ความสำคัญกับระยะความใกล้-ไกลของภาพ (Perspective) แบบศิลปะตะวันตก นั่นคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดสามแก้ว ชุมพร ซึ่งพระยาอนุศาสน์จิตรกรเขียนขึ้นเพื่ออุทิศถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ดังปรากฏจารึกที่ผนังด้านหลังพระประธาน ความว่า …

มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) รับช่วยพระธรรมวโรดม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมโกษาจารย์ เขียนภาพนี้ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2471 ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายาม มิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อมีธุระจำเป็นก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่างจึงออกมาเขียน ถึงเดือนสิงหาคม 2473 การเขียนภาพจึงแล้วบริบูรณ์ และมิได้คิดมูลค่า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อุทิศถวายแด่สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระทั่งล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 7 พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้สร้างผลงานชิ้นเอกที่ทำให้คนไทยรู้จักมากที่สุด นั่นคือ ภาพพงศาวดาร การกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวร ในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดสำคัญประจำราชวงศ์จักรี เนื่องด้วยเป็นวัดที่สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้สร้างไว้ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยายังไม่แตก เดิมวัดนี้ชื่อ “วัดทอง” และมีการปฏิสังขรณ์ในฐานะวัดสำคัญประจำราชวงศ์เรื่อยมา

ผลงานจิตรกรรมชิ้นเอกนี้ เขียนขึ้นโดยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2473เป็นภาพพระราชพงศาวดาร เกี่ยวกับประวัติและการกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวร จำนวน 15 ภาพ รวมทั้งภาพยุทธหัตถี ที่เขียนขึ้นด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผนังปูน เป็นภาพแบบเหมือนจริง มีมิติ การจัดวางภาพที่น่าสนใจ และใช้สีตามหลักสากล ซึ่งพระยาอนุศาสน์จิตรกรใช้เวลาเขียนเกือบ 2 ปีเต็ม จากการค้นคว้าและจินตนาการด้วยตนเอง โดยเมื่อร่างแบบขึ้นมาแล้วก็จะนําขึ้นถวาย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อทรงพิจารณาก่อนจะนําไปเขียนจริงทุกครั้ง

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างผลงานชิ้นนี้ นั่นคือ พระยาอนุศาสน์จิตรกรได้รับพระราชทานให้นําแพไปจอดที่หน้าวัด ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาแพเกิดจมลง ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทราบ จึงได้พระราชทานเรือ “ปิคนิค” ให้ใช้แทนแพจนกระทั่งวาดภาพเสร็จสมบูรณ์

และพระยาอนุศาสน์จิตรกรยังเคยเล่าให้ลูกๆ ฟังว่า เมื่อเขียนถึงพระเนตรของสมเด็จพระนเรศวรเป็นครั้งแรก ตัวเองเป็นลมตกลงมาจากนั่งร้านถึง 3 หน จึงต้องมีพิธีบวงสรวง ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจึงสามารถเขียนต่อได้

จนกระทั่งผลงานภาพพระราชพงศาวดารชิ้นนี้ได้สำเร็จลง และกลายเป็นงานจิตรกรรมชุดที่โด่งดังที่สุดของพระยาอนุศาสน์จิตรกร

นอกจากความสามารถทางด้านจิตรกรรมแล้ว พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังมีผลงานศิลปะในสาขาอื่นๆ ด้วย โดยท่านเป็นผู้สร้างฉาก และออกแบบเครื่องแต่งกายให้กับบทละครเรื่องต่างๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงแสดง และท่านยังเป็นช่างภาพที่มีฝีมือดี เคยเป็นผู้อำนวยการ “ร้านถ่ายรูปฉายานรสิงห์” (อยู่ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นร้านถ่ายภาพหลวง โดยพระยาอนุศาสน์จิตรกรได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 6 และภาพสถานที่ต่าง ๆ ที่พระองค์เสด็จประพาสไว้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรยังได้แต่งกวีนิพนธ์ไว้จำนวนหนึ่ง ตามความนิยมในแวดวงพระราชสำนักของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เช่น “นิราศตามเสด็จฯ” เมื่อคราวตามเสด็จการแปรพระราชฐาน ระหว่างเดือน เมษายน – กรกฎาคม พ.ศ. 2467

พระยาอนุศาสน์จิตรกร เสียชีวิตในวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2492 เมื่อมีอายุได้ 78 ปี และงานชิ้นสุดท้ายของท่านคือ งานประดับมุกพานแว่นฟ้า ที่มีลวดลายวิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง

ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราวของ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกร 5 แผ่นดิน ศิลปินผู้มีความสามารถ “ครบเครื่อง” ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นสำคัญไว้เป็นบทบันทึกแห่งยุคสมัย และเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติสืบไป

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า