‘ศิลาจารึกคือเสียงที่เปล่งจากยุคสุโขทัย หาได้ถูกทำขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ 4’ เปิดถ้อยวิเคราะห์จากนักวิชาการ โต้วาทกรรมนักประวัติศาสตร์ผิวเผิน

นับเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่ถกเถียงกันมานานว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือที่เรียกกันว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้น เป็นของจริงที่ทำขึ้นในสมัยโบราณหรือของใหม่ที่ทำขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 แม้วิชาการกระแสหลักจะยอมรับกันว่าศิลาจารึกนี้เป็น ‘ของจริง’ หากไม่นานมานี้ ประวัติศาสตร์กระแสรองได้เริ่มเข้ามาช่วงชิงความหมายและครองอำนาจนำเหนือประวัติศาสตร์ทางการทีละเล็กละน้อย อันเป็นผลมาจากการนำเสนอแง่มุมประวัติศาสตร์ทางเลือกแบบใหม่ ทำให้น่าตื่นตาด้วยข้อเสนอที่แหวกแนวและพิสดาร การขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ทางเลือกนี้ ทำให้ในช่วงหลังวาทกรรมที่ว่า ‘ศิลาจารึกพ่อขุนรามเป็นของปลอม/ทำขึ้นใหม่’ เกือบจะกลายเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักนอกมหาวิทยาลัยไปเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ควรต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า บทการวิเคราะห์ว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ เป็นของใหม่ที่ทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ไม่ได้รับการยอมรับในวิชาการกระแสหลักทั้งในหมู่นักวิชาการไทยและนักวิชาการตะวันตกที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทย นักวิชาการมองว่างานเขียนในรูปแบบประวัติศาสตร์ทางเลือกเหล่านี้ ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการที่จะศึกษาประวัติศาสตร์แบบผิวเผิน วิธีวิทยาหรือขั้นตอนในการเข้าถึงและพิสูจน์หลักฐานและสมมติฐานนั้นหาได้เป็นไปอย่างที่ถูกต้องตามหลักวิชา การเริ่มต้นวางโครงเรื่อง (plotting) ว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ค้นพบโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้นำไปสู่การทึกทักอย่างเป็นตุเป็นตะว่าเป็นการค้นพบที่ออกจะ ‘บังเอิญเกินไป’ จนนำไปสู่การขยายความว่าเป็นของใหม่ที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้ทำขึ้นเพื่อแสดงให้ชาติตะวันตกเห็นว่าสยาม/ไทยมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องมายาวนานจนละความพยายามที่จะไม่เอาสยามเป็นเมืองขึ้น คำอธิบายแบบนี้แม้ว่าจะฟังดูสนุก หากแต่บริบทอื่น ๆ เช่น การวิเคราะห์ตัวข้อความ (text) ตรรกะ(logic) รวมไปจนถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ที่สอดรับอื่น ๆ กลับไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบตามแบบแผนให้ผู้อ่านนำไปชั่งนำหนักก่อนเลือกที่จะเชื่อแต่อย่างใด

ตามประวัติศาสตร์แล้ว นักวิชาการต่างประเทศคนแรก ๆ ที่ได้ทำการศึกษาศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ อย่างเป็นจริงเป็นจังคนหนึ่งได้แก่ ยอช เซเดส์ นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ซึ่งเขาได้ชำระและจัดพิมพ์เนื้อหาว่าด้วยศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ นี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2467 โดยได้อธิบายถึงประวัติที่มาและการอ่านคำจารึกอย่างละเอียด [1] จึงไม่แปลกใจว่าในทัศนะของเซเดส์แล้ว ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ ย่อมเป็นของจริงอย่างแน่นอน เซเดส์ยังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในบทวิเคราะห์ของเขาด้วยว่า ผู้แต่งศิลาจารึกนี้เห็นจะเปนพ่อขุนรามคำแหงทรงแต่งเอง ถ้ามิฉนั้น ก็คงตรัสสั่งให้แต่งขึ้นแลจารึกไว้ [2]

แม้ว่าเซเดส์จะกล่าวไว้ชัดเจนเช่นนี้แล้ว นักวิชาการชาวไทยยุคหลังบางท่านก็โจมตีว่าทัศนะของเซเดส์ นั้นเก่าแก่คร่ำครึไม่สมแก่เวลา มีเหตุต้องลบล้างคำวินิจฉัยนี้ไปเพราะค้นพบหลักฐาน/ข้อเสนอที่ใหม่กว่า เช่น ทฤษฎีที่ว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ เป็นของทำขึ้นใหม่ช่วงรัชกาลที่ 4 เป็นวาทกรรมที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2531 [3]

อย่างไรก็ดี David K. Wyatt หรือ เดวิด เค. ไวแอต นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ไวแอตได้โจมตีทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าวอย่างรุนแรงและเผ็ดร้อนว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้ถูกโจมตีจากบรรดาผู้ที่มิใช่ผู้เชี่ยวชาญ (nonexperts) ว่าเป็นของที่ถูกทำขึ้นใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19  และในสายตาของไวแอต นักวิชาการที่จะทำการวิเคราะห์กล่าวหาว่าหลักฐานชิ้นนี้เป็นของปลอมได้ จำเป็นจะต้องอาศัยทักษะความชำนาญ (skills) ด้านภาษาศาสตร์อย่างมาก (ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก) ดังเหตุนี้ ในสายตาของเขาแล้ว ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจึงย่อมได้รับการยอมรับว่าเป็นของแท้ (genuine) [4]

ยิ่งกว่านั้น ในบทความที่เขียนขึ้นในประเด็นนี้เป็นการเฉพาะ เพื่อยืนยันว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่าเป็นของแท้ (Contextual arguments for the authenticity of the Ramkhamhaeng Inscription) ไวแอตได้ไปไกลยิ่งกว่าการอ้างนักภาษาศาสตร์ในการวิเคราะห์ตัวคำศัพท์หรือเรื่องของธรรมเนียมในการสร้างหลักศิลาจารึกหรือการตรวจหาอายุของหลักฐาน กล่าวคือเขาได้สำรวจตรวจสอบและเทียบเคียงเนื้อหาและบริบทที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักดังกล่าว จนได้ข้อสรุปที่น่าเชื่อถือว่าสำนวนและหลักตรรกะที่ปรากฏในศิลาจารึกนี้มีกลิ่นอายของภูมิรู้ยุคกลาง (หรือที่ตรงกับสุโขทัยของไทยเรา) อย่างมิพักต้องสงสัย และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่สำนวนและตรรกะเหล่านี้จะปรากฏในยุคสมัยใหม่ ไวแอตจึงมีข้อสรุปหนักแน่นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ จึงเป็นเสียงที่เปล่งมาจากยุคสุโขทัย (ยุคกลาง) มิใช่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (คริสต์วรรษที่ 19) อย่างแน่นอน [5]

สำหรับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญชาวไทย หากงดไม่กล่าวถึงประเสริฐ ณ นคร ซึ่งเป็นปราชญ์ผู้ชำนาญด้านการอ่านภาษาโบราณรวมถึงประวัติศาสตร์ชนิดหาตัวจับได้ยากย่อมจะเป็นการประหยัดพื้นที่อธิบายไปได้มาก เพราะทัศนะของอาจารย์ประเสริฐนี้ ผู้เขียนเห็นว่าผู้ที่ติดตามในประเด็นศิลาจารึกพ่อขุนรามฯ เป็นของแท้หรือไม่คงจะคุ้นชินกับคำวินิจฉัยของอาจารย์ประเสริฐอยู่แล้วในแง่ที่ว่า ท่านก็เป็นนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญอีกคนที่ยืนยันหนักแน่นว่าศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของแท้ถึงยุคสมัยอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอนำความเห็นของนักวิชาการชาวไทยอีกท่านหนึ่งมานำเสนอ และที่สำคัญนักวิชาการท่านนี้เพิ่งจะเสียชีวิตอย่างสงบไปเมื่อมินานนี้ (13 ตุลาคม 2565) นั่นก็คือวินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. แห่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) วินัยก็เช่นเดียวกับไวแอตและประเสริฐซึ่งเป็นนักวิชาการร่วมสมัย ได้ยืนยันหนักแน่นว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงเป็นของแท้ที่ทำขึ้นในสมัยสุโขทัย มิใช่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยิ่งกว่านั้น เขายังได้ ‘ร่ายยาว’ ถึงปัญหาที่คนไทยส่วนมากมักหลงเชื่อคำกล่าวอ้างของผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึก ดังประโยคที่ว่า

ปัญหาใหญ่สำหรับประเด็นนี้ คือ คนไทยมักได้ฟังหรือชอบฟังเรื่องราวเกี่ยวกับจารึกหลักที่ 1 จากนักวิชาการที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจารึกโดยตรงผ่านสื่อมวลชนซึ่งต้องการขายข่าวและความตื่นเต้น นักวิชาการบางคนที่ออกมาให้ความเห็นทางโทรทัศน์พยายามโหนกระแส หรืออยากให้ราคาแก่ตนเอง ทั้งที่อาจจะอ่านจารึกนี้ไม่เข้าใจนักและไม่มีความรู้ในสิ่งที่พูดถึงแต่อย่างใด ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมข่าวสารแบบทุติยภูมิหรือตติยนิยม พอใจฟังในสิ่งที่ เขาเล่าว่า’… [6]

นี่คือเสียงที่สะท้อนออกมาจากนักวิชาการที่ทำงานด้านนี้โดยเฉพาะมาตลอดชั่วชีวิต วินัยเองก็เหมือนกับประเสริฐและอีกหลาย ๆ คนที่พยายามนำข้อเท็จจริงจากหลักฐานมาตีแผ่ให้ศึกษากันแต่กลับถูกเบียดบังจากวิชาการนอกกระแส จากน้ำเสียงที่อัดอั้นตันใจข้างต้นนี้ คงไม่ยากเกินเดาเลยว่าประวัติศาสตร์กระแสทางเลือกที่มักวิเคราะห์ข้อมูลอย่างฉาบฉวยและเน้นความตื่นเต้นต่าง ๆ นั้น ได้ครอบงำสังคมไทยในเวลานี้อย่างไร

และสำหรับกรณีที่กล่าวว่านักวิชาการผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจารึก จะเป็นใครได้บ้างนั้น ผู้เขียนคิดว่าผู้อ่านคงนึกหน้าออกอยู่รอมร่อหรือมีชื่อในใจแล้วเป็นแน่ !

อ้างอิง :

[1] ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ). หน้า 6-62.
[2] ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ). หน้า 51.
[3] ‘ดราม่าศิลาจารึก’ การรื้อสร้างประวัติศาสตร์ด้วย ‘อคติ’ บทเรียนแห่งความสะเพร่าและละเลย ที่ลงเอยด้วยการรื้อตัวเอง
[4] David K. Wyatt. Thailand : A short history (Chiang Mai : Silkworm Books) 2003. Pp. 43.
[5] David K. Wyatt. Studies in Thai history. (Chiang Mai : Silkworm Books) 1994. Pp. 48-58.
[6] วินัย พงศ์ศรีเพียร. สุโขทัยคดี (ฉบับเชลยศักดิ์) เล่ม 1. เอกสารวิชาการประกอบบรรยายพิเศษเรื่อง ‘สุโขทัยคดี : ประวัติศาสตร์ จารึกศึกษา และนิรุกติประวัติ’ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). หน้า 150-151.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า