จับโกหกบทความบิดเบือน ม.112 บนความเห็นลอยๆ ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่บทความชิ้นหนึ่ง ที่ชื่อว่า “มาตรา 112 กับปรากฏการณ์ ‘ความผิดปกติ (ใหม่)’ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่า ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการใช้กฎหมาย ม.112 เป็นอาวุธทางการเมือง เอามาใช้กับกลุ่มม็อบเยาวชน เป็นการละเมิดสิทธิเด็กและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมไปถึงมีเงื่อนไขการประกันตัวที่ซับซ้อน ทำให้คนที่ได้รับการประกันตัวไม่มีอิสรภาพอย่างแท้จริง และสุดท้ายคือ การตีความ ม.112 ทั้งของเจ้าหน้าที่และของศาล เป็นการตีความในลักษณะที่กว้างเกินไป

หากสังเกตให้ดีบทความดังกล่าวเป็นเพียง “ข้อคิดเห็น” ที่พูดไม่หมด และกล่าวถึง ม.112 เพียงด้านเดียวเท่านั้น

ซึ่ง “ข้อเท็จจริง” ที่บทความนี้ไม่ได้พูดถึง โดยเฉพาะกรณีของจำเลยที่เป็นเด็กและเยาวชนคือ ศาลอนุญาตให้มีการประกันตัวจำเลยคดี ม.112 ออกมาต่อสู้คดี แต่พอได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้ว สิ่งที่เราทุกคนเห็นคือ “จำเลยได้ออกมาก่อเหตุซ้ำๆ ในลักษณะเดิมอีกแบบไม่สนใจกฎหมายบ้านเมืองเลย แถมยังมีการสนับสนุนให้ท้ายโดยผู้ใหญ่บางคนบางกลุ่มที่ไม่เคยแม้แต่จะออกหน้ามาด้วยซ้ำ”

ส่วนที่บอกว่ามีการละเมิดสิทธิเด็ก ข้อเท็จจริงก็คือ จำเลยที่เป็นเด็กหรือเยาวชน กฎหมายมีการคุ้มครองสิทธิเป็นขั้นตอนอยู่แล้ว มีการจัดให้เด็กๆ เหล่านั้นอยู่ภายใต้การดูแลของนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมไม่ไปสุ่มเสี่ยงที่จะต้องพบปะกับผู้คนหรือสถานการณ์อะไรก็ตาม ที่จะดึงให้เด็กหรือเยาวชนต้องไปทำความผิดซ้ำอีก แล้วมาตรการพวกนี้ก็เป็นกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะความผิดฐานใดเป็นพิเศษ

และการที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีกับใคร ไม่ว่าเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ย้ำนะครับว่าจะต้องมี “พฤติการณ์” ที่เข้าข่ายการกระทำความผิดเสียก่อน แล้วการทำสำนวนของเจ้าหน้าที่จะต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองที่ตั้งขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง จึงจะสรุปสำนวนส่งอัยการได้ ไม่ใช่ว่าใครถูกแจ้งความก็ส่งฟ้องหมด อันนั้นเป็นเรื่องบิดเบือนอย่างร้ายแรง

ส่วนกรณีที่มีจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งกรณีนี้ได้ถูกคนบางกลุ่มเอาไปบิดเบือนด้วยตรรกะเพี้ยนๆ ว่า เป็นเพราะ ม.112 มีปัญหาจึงทำให้มีผู้ต้องหาเพิ่มมากขึ้นนั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการที่ว่ากฎหมายมีปัญหาหรือไม่ แต่อธิบายได้ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ในช่วงเวลานั้นๆ ถ้ามีผู้กระทำความผิดเยอะ สถิติคดีก็เยอะตามไปด้วยนั่นเอง ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น ช่วงไหนที่มีคดียาเสพติดเกิดขึ้นมาก ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายยาเสพติดมีปัญหาจนต้องรณรงค์ให้มีการยกเลิกหรือแก้ไข

นี่เป็นแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น ที่บทความดังกล่าวข้างต้นพูดความจริงไม่หมด ยังมีอีกหลายประเด็นที่บทความนี้บิดเบือนและพยายามชี้นำให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ม.112 ซึ่งทาง ฤๅ ขอนำมาเคลียร์ชัดๆ ในคลิปวิดีโอนี้

ย้ำอีกครั้งว่า บทความชี้นำชิ้นนี้เป็นเพียง Opinion ซึ่งก็คือ “ความเห็นของผู้เขียน” เท่านั้น ดังนั้นการอ่านสิ่งที่เป็นเพียง “ความเห็น” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายบ้านเมือง เราจึงควรต้องคิด วิเคราะห์ และแยกแยะให้ดีก่อนที่จะเลือกเชื่อข้อมูลนั้นๆ จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนที่หวังสร้างความแตกแยกให้กับสังคม

TOP