‘เสียมกุก’ ความเกรียงไกรของสยามบนกำแพงนครวัด ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจปกปิดได้ของเขมร
บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี
ไม่นานมานี้ได้เกิดดราม่าเรื่องที่ทางเขมรได้สกัดทำลายจารึกเกี่ยวกับ ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ที่ปรากฏ ณ มุมแห่งหนึ่งของกำแพงของ นครวัด-นครธม ซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 โดย นครวัด-นครธม นี้ค้นพบครั้งแรกโดยชาวตะวันตกที่เข้ามาสำรวจประเทศกัมพูชาสมัยอาณานิคม
สำหรับคำว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นี้ก็ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าคือ ‘สยาม’ หรือไทยในปัจจุบัน ว่ากันว่าจารึกที่เคยมีอยู่นี้ได้ถูก ‘ทำให้หายไป’ ตั้งแต่ช่วงที่เขมรแดง (คอมมิวนิสต์สายจีน) ได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชาในช่วง ค.ศ. 1980
อย่างไรก็ดี ในความโชคร้ายย่อมยังมีความโชคดีปรากฏอยู่ เพราะต่อให้มีการทำลายจารึกโดยการกะเทาะและโบกปูนทับเพื่อปกปิดประวัติศาสตร์ หากแต่ประวัติศาสตร์เขมรส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาและบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบตั้งแต่ช่วงที่เจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสยึดครองเขมรแล้ว ดังนั้น ‘สยำ กุก / สยาม กก’ (Syam Kuk) จึงหาได้รอดพ้นจากสายตาของนักวิชาการฝรั่งเศสและไทยไปได้เลย ดังที่ได้มีตำราวิชาการและหนังสือหลายเล่มกล่าวถึง ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ไว้อย่างถึงพริกถึงขิงก่อนที่จารึกส่วนนี้จะถูกทำให้หายไปเสียอีก กล่าวสั้น ๆ ก็คือ ต่อให้ทางเขมรจะมีเจตนาจะลบล้างความจริงหรือทำลายหลักฐาน ‘สยำ กุก / สยาม กก’ไป แต่น่าเสียใจที่จะบอกว่า ‘สายไปเสียแล้ว’ เพราะเรื่องดังกล่าวได้รับการบันทึกทั้งภาพและข้อความ รวมถึงได้รับการตีความเป็นสิบ ๆ ปีก่อนที่จะถูกทำลายเสียอีก
ควรต้องกล่าวว่าจารึกที่มีคำว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นั้น มีอยู่ 2 แห่ง หากแต่แห่งแรกได้ถูกทำลายไปแล้ว ซึ่งจารึกเต็ม ๆ ของ ‘สยำ กุก /สยาม กก’ ที่ถูกทำให้หายไปนั้น ปรากฏข้อความว่า ‘เนะ สยำ กุก’ หรือ ‘นี่ สยามกก/ก๊ก’ ส่วนจารึกเกี่ยวกับสยามที่ยังหลงเหลืออีก 1 แห่งนั้น ได้ขยายความจารึก ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ต่อไปว่า คือ ‘ข้าราชการฝ่ายทหารพรานแห่งเมืองเชงฌาล ซึ่งนำชาวเสียมกุก’ (อะนัก ราชการัยยะ ภาคะ ปมัญ เชงฌาล ตะ นำ สยำ กุก) ด้วยเหตุนี้ กองทัพสยามที่ปรากฏอยู่ที่กำแพง นครวัด-นครธม จึงไม่ใช่กองทัพธรรมดา หากแต่เป็นกองทัพทหารที่เกรียงไกรเลยทีเดียว
เมื่อกล่าวมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านคงอยากจะทราบกันแล้วว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ที่กล่าวถึงนี้คือใครกันแน่ ?
ฤา จึงขอคัดความเห็นของนักวิชาการรวมไปถึงบุคคล ‘เซเลบ’ ของไทยมาแผ่ให้ดูว่าแต่ละคน/ท่าน มีมุมมองในประเด็นนี้อย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับเราที่กำลังถกเถียงเรื่องนี้กับเขมรอย่างเผ็ดมันอย่างไร
ความเห็นแรกคือความเห็นของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในปี พ.ศ. 2467 ซึ่งท่านเองในตอนนั้นก็ทรงไม่แน่พระทัยว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นี้จะตีความว่าเป็นชาวสยามหรือไทยในปัจจุบันได้ ส่วน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับยืนยันหนักแน่นในปี พ.ศ. 2496 ว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ คือ คนไทยอย่างแน่นอน ดังประโยคที่ว่า ‘เป็นไทยแน่แล้ว ไม่ผิดไปเลย’ ไม่เพียงเท่านั้น คุณชายได้กระโดดเข้าไปลูบคลำภาพสลักนั้นด้วยความรักใคร่ ดังข้อความว่า
‘เราก็ได้เห็นทัพหน้าที่สุดซึ่งประกอบด้วยบรรพบุรุษของเรา คือคนไทยในสมัยนั้น เราหยุดชะงักยืนนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วโดดเข้าลูบคลำภาพนั้นด้วยความรักและความสนใจ’
ในปี พ.ศ. 2508 จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนเสียชีวิตไม่นานได้กล่าวถึง ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ว่า‘สยำ’ ควรออกเสียงว่า ‘เซียม’ ไม่ใช่ ‘สยาม’ จิตรได้ไปไกลจนถึงชี้ชัดว่า เสียมกุก ที่ว่านี้คือ สยามกก ซึ่ง กก มาจาก ‘กุกนที’ ซึ่งน่าจะอยู่บริเวณอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายทางตอนเหนือ ด้วยเหตุนี้ จิตรจึงฟันธงว่าชาวสยามนี้คือ ‘ชาวเสียมแห่งแม่น้ำกุกนที’
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของไทย ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นี้น่าจะเป็นสยามที่ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันออกของไทยในปัจจุบัน และไม่น่าจะใช่สยามที่ลุ่มแม่น้ำกกที่เชียงราย หรือสยามที่สุโขทัย โดยเฉพาะกรณีสุโขทัยนั้นมีอายุหลังนครวัด-นครธมถึง 100 ปี กระนั้นก็ดี ชาญวิทย์เองก็ไม่กล้ายืนยันว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นี้คือคนไทยหรือไม่ เขามองว่าหากนำเครื่องแต่งกายที่ปรากฏในภาพสลักมาวิเคราะห์น่าจะทำให้ข้อสรุปเรื่องนี้มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ความเห็นของชาญวิทย์ข้างต้น คล้ายคลึงกับข้อสันนิษฐานของ ฤา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ นั้นอาจจะไม่ได้ตั้งอยู่ที่เชียงรายหรือสุโขทัย ความเป็นไปได้ว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ อาจจะหมายถึงพื้นที่อื่นนั้นย่อมเป็นที่ถกเถียงกันได้ ดังที่ ฤา มีสมมติฐานว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ น่าจะตั้งอยู่บริเวณจังหวัดสระแก้ว ทางภาคตะวันออก (ติดกับภาคอีสานคือบุรีรัมย์และโคราช) ของไทยที่มีพื้นที่ติดกับประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน เพราะในพื้นที่จังหวัดสระแก้วนั้น มีปราสาทแบบขอมชื่อว่า ‘สด๊กก๊อกธม’ (Stuk Kak Dham) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ‘บึงที่เต็มไปด้วยต้นกกใหญ่โต’ ซึ่ง ‘ก๊อก’ ก็คือ ‘กก’ หรือ ‘กุก’ นั้นก็เข้ารูปกับคำว่า ‘สยำ กุก’ พอดี
แล้วถ้า ‘กุก’ มีความเป็นไปได้แล้ว ‘สยำ’ นั้นเล่าจะอธิบายประกอบอย่างไร ? ไมเคิล วิคเกอรี (Michael Vickery) ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรโบราณทั้งไทยและเขมรผู้ล่วงลับ ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ‘สยำ/เซียม/เสียน’ ในเวลาที่มีการทำจารึกที่ นครวัด-นครธม นั้น มิได้หมายถึงคนไทยหรือชาติพันธุ์สยาม/ไทย แต่อาจหมายถึงพื้นที่หรือภูมิภาคแห่งหนึ่ง คือเขตสยาม/เซียม มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของชาติพันธุ์ ถึงกระนั้น พื้นที่ลุ่มภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือตามความเห็นของวิคเกอรีย่อมอนุมานได้ว่าคือ ‘สยำ/เซียน/เสียม’ หรือ ‘สยาม’ อย่างแน่นอน
ท้ายที่สุด แม้ ฤา ได้นำความเห็นต่าง ๆ ของนักวิชาการนามอุโฆษที่สนใจเรื่องขอม/เขมรและสยาม รวมกระทั่งความเห็นของ ฤา เองมาตีแผ่ให้อ่านกันข้างต้น กระนั้น ฤา ก็ขอออกตัวก่อนว่าในประเด็นที่กล่าวถึงไปนี้ ในทางประวัติศาสตร์แล้วมีข้อมูลอยู่น้อยมาก ด้วยเหตุนี้การฟันธงชี้ชัดไปว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ เป็นใครหรือที่ไหนในปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องที่ด่วนสรุปจนเกินไป เพราะหลักฐานที่หลงเหลือในปัจจุบันมีอยู่น้อยมาก
ดังนั้น ข้อมูลเรื่อง ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ต่าง ๆ ที่นำเสนอข้างต้นนี้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเพียง ‘ความเห็น’ ของนักวิชาการแต่ละท่านซึ่งย่อมเกิดมาจากบริบทแวดล้อม ทัศนคติ อคติ รวมถึงอุดมการณ์ความเชื่อของนักวิชาการนั้น ๆ
แต่กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าผู้อ่านจะยึดความเห็นของใครก็ตาม สิ่งเดียวที่ได้เป็นข้อสรุปร่วมกัน ว่าใครคือ ‘สยำ กุก / สยาม กก’ หรือเมืองของเขาตั้งอยู่ที่ไหน นั่นก็คือการที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘สยำ กุก / สยาม กก’ ย่อมอยู่ที่ไหนสักแห่งในประเทศไทยในปัจจุบันอย่างแน่นอน แม้ปัจจุบันจะยากยิ่งที่จะด่วนสรุปถึงตำแหน่งแห่งที่อันแน่นอนก็ตามที
อ้างอิง :
[1] Aymonier, E. Le Cambodge. Tome II, Les Provinces siamoises. Paris: Ernest Leroux. (1901).
[2] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการแปล). นี่ เสียมกุก. มูลนิธิโครงการตำรา. (2545).
[3] Michael Vickery. Cambodia and Its Neighbors in the 15th Century. (2004)