เปิดบันทึกคดีสวรรคต เมื่อทีมชันสูตรถูกฝ่ายการเมืองกล่าวหาว่าเป็น “แพทย์เลว”

กรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 แม้จะมีการตัดสินคดีความไปแล้ว แต่ในความรู้สึกของคนไทย เรื่องนี้ยังนับว่าเป็นปริศนาดำมืดอยู่ ปัจจุบันมีหนังสือและข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากมาย และหลายคนก็เลือกที่จะปักใจ “เชื่อ” สารที่ตัวเองได้รับมาข้างเดียว โดยไม่มีการวิเคราะห์แยกแยะ จนนำไปสู่การกล่าวหาใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ครั้งนี้เราอยากนำเสนออีกมุมมองจากหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต” โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร หนึ่งในคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ ผู้ชันสูตรพระบรมศพในหลวง ร.8 เป็นมุมมองที่แสดงให้เห็นถึงท่าทีของในหลวง ร.9 ในขณะนั้น รวมถึงคณะกรรมการสอบสวนคดีสวรรคต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าแต่ละคนมีความเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไรบ้าง โดยนายแพทย์สุดฯ ได้บันทึกเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียด

วันที่ 20 มิถุนายน 2489 นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ได้เข้าพบคณะบดีหลวงพิณพาทย์พิทยเภท โดยนายแพทย์สุดฯ กล่าวว่า…

“ได้รับทราบมาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชว่า เมื่อจำเป็นจะต้องมีการชันสูตรพระบรมศพเช่นนี้แล้ว ก็ทำเสียให้เสร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียว และเพื่อปราศจากข้อขัดข้องใดๆ ควรจะมีเครื่องเอกซเรย์หลายๆ เครื่อง เพื่อป้องกันการติดขัด ต้องการให้ถ่ายรูปไว้มากๆ และควรมีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งในทางอาวุธปืนเข้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทยด้วย และให้รายละเอียดถี่ถ้วนเพื่อเป็นหลักฐานจนถึงส่งพิสูจน์ได้ ณ ต่างประเทศ ทั้งนี้มิใช่จะไม่ไว้ใจแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไทย แต่เรื่องการสวรรคตนี้ระบือไปทั่วโลก”

เป็นการร้องขอจากในหลวง ร.9 ให้มีการเพิ่มผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เข้าเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชันสูตรพระบรมศพ ซึ่งบุคคลผู้นั้นคือ พันเอกไดร์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ โดยในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เจ้าคุณลัดพลีฯ สนองพระราชกระแสในหลวง ร.9 ได้มีจดหมายเชิญถึงพันเอกไดร์เบิร์ก โดยมีข้อความจากในหลวง ร.9 ความว่า…

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้คณะกรรมการสอบสวนฯ เชิญท่านเป็นกรรมการผู้หนึ่ง ร่วมกับกรรมการที่จะชันสูตรพระเชษฐา โดยมีเจ้าคุณดำรงแพทยาคุณเป็นประธาน ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1946 ในเวลา 10.00 น. ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จะมีเจ้าหน้าที่คอยพบท่านอยู่ที่ประตูวิมานไชยศรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์อยากจะให้มีผู้ชำนาญทางชันสูตร Expert Armourer อาจเป็นชาวอังกฤษ หรืออเมริกันก็ได้ เพื่อตรวจพระวรกายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ จะทรงพอพระราชหฤทัยมาก ถ้าหากท่านจะสามารถนำผู้เชี่ยวชาญในการชันสูตรร่วมมากับท่านด้วย กรรมการสืบสวนฯ หวังในความร่วมมือของท่านและขอบคุณมาล่วงหน้าด้วย”

ต่อมาในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2489 คณะกรรมการแพทย์ ได้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับคดี ซึ่งหลวงนิตย์เวชชวิศิษฏ์ หนึ่งในแพทย์ผู้ร่วมชันสูตรพระบรมศพ และเป็นแพทย์คนแรกที่เข้าไปในสถานที่เกิดเหตุในวันสวรรคต ได้แจ้งแก่คณะกรรมการว่า เวลาประมาณ 11.00 น. นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ มาถึงสถานที่เกิดเหตุ หลังจากปรึกษาหารือกันแล้ว ก็ตกลงจะให้แถลงการณ์แจ้งประชาชนว่าเป็นอุบัติเหตุ

ครั้งแรก นายปรีดีฯ ได้ถามหลวงนิตย์ฯ ว่า “จะแถลงว่าเสด็จสวรรคตโดยโรคทางพระนาภี (ท้อง) จะได้หรือไม่” แต่หลวงนิตย์ฯ ปฏิเสธ เพราะจะมีผลกระทบต่อตัวเอง เนื่องจากตัวหลวงนิตย์ฯ เป็นแพทย์ และเป็นผู้ถวายยาให้ในหลวง ร.8 ในคืนก่อนเกิดเหตุ สุดท้ายจึงตกลงกันว่าควรแถลงไปตามความจริงจะดีกว่า เพราะถึงอย่างไรประชาชนก็จะได้ทราบอยู่ดี

และในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังเสร็จสิ้นการชันสูตร คณะแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้โหวตลงคะแนนสรุปสาเหตุการสวรรคตของในหลวง ร.8 โดยเสียงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่สาเหตุ “ถูกลอบปลงพระชนม์” โดยผลโหวตคือ

ถูกลอบปลงพระชนม์ 19 เสียง
ปลงพระชนม์เอง 6 เสียง
อุบัติเหตุ 3 เสียง

นายแพทย์สุดฯ ยังเล่าต่อด้วยว่า ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ร่วมเป็นคณะชันสูตร ได้กล่าวชมและให้คำรับรองถึงความละเอียดในการทำสำนวนของทีมแพทย์ว่า “ไม่มีที่ติ”

และทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งพายุลูกใหญ่ได้พัดเข้ามา

หลวงพิณฯ ได้แจ้งกับทีมแพทย์ว่า หลังจากเสนอความเห็นของแพทย์แล้ว ปรากฏว่าคณะกรรมการสอบสวน (ที่ตั้งโดยนายปรีดีฯ) เกิดการปั่นป่วนกันยกใหญ่ และหลายคนเกิดความไม่พอใจ

บางคนหาว่าแพทย์เลว ทำงานเกิดขอบเขตที่ได้สั่งให้ทำ

ซึ่งเรื่องนี้ ประธานคณะกรรมการแพทย์ ได้แย้งและยืนยันว่าการชันสูตรรวมถึงการเสนอข้อสันนิษฐานของทีมแพทย์ กระทำอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว โดยได้กล่าวว่า “ที่ทำไปแล้ว ล้วนเป็นหน้าที่ของแพทย์ ไม่ได้ทำเกินหน้าที่”

ความตึงเครียดได้ปรากฎอยู่บนใบหน้าของแพทย์ทุกคน ในวันประชุมรายงานผลการชันสูตร ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อถึงเวลาเข้าห้องประชุม ในขณะที่ผู้แทนชันสูตรฝ่ายอังกฤษยังไม่มา ประธานได้ชี้แจงให้ทราบถึงผลการเสนอความเห็นของแพทย์ ซึ่งผู้ร่วมประชุมรับรู้ได้ทันทีถึงบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บางคนมีสีหน้ากระสับกระส่าย บางคนมีสีหน้าเคร่งเครียดขึ้น เห็นได้ชัดเจนว่า

มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในผลโหวตของกรณีสวรรคต

เวลาประมาณ 9.15 น. พันเอกไดร์เบิร์ก พร้อมผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ได้รีบร้อนเข้ามาพร้อมกับสีหน้าวิตกกังวลต่างจากวันแรก และแถลงต่อที่ประชุมทันทีว่า ตามจดหมายที่รับเชิญให้เข้าร่วมในการชันสูตรนี้ ไม่ได้แจ้งว่าให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมในการสันนิษฐานด้วย

ดังนั้นพวกเขาจึงขอถอนผลการสันนิษฐานที่ได้ให้ไว้เมื่อวาน และขอร่างรายงานการประชุมมาเสนอใหม่ ซึ่งที่ประชุมก็ไม่มีใครคัดค้านหรือออกความเห็นใด ๆ ด้วยต่างคนต่างรับรู้ดีแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น และการนิ่งของทีมแพทย์ ถึงกับทำให้ผู้แทนจากอังกฤษพูดออกมาด้วยความเห็นใจว่า “We are very sorry to let you down”

พันเอกไดร์เบิร์ก ได้เล่าว่า เมื่อคืนวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2489 มีบุคคลผู้หนึ่งเชิญเขาไปพบ และได้ชี้แจงให้ทราบว่า เขาทำงานเกินขอบเขตที่ได้รับคำเชิญ ในฐานที่เขายังรับราชการอยู่ในกองทัพอังกฤษ จึงไม่บังควรที่จะขัดขืนคำสั่งนี้

จากนั้นพันเอกไดร์เบิร์กได้กล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าเขาพ้นจากหน้าที่หรือไม่เกี่ยวข้องกับราชการแล้ว เขาจะถือว่าความเห็นที่เขาได้แสดงไปนั้น “เป็นหน้าที่ที่แพทย์ควรกระทำ” และหวังว่านายแพทย์ท่านอื่น เช่น นายแพทย์คอร์ต ซึ่งทำงานเป็นแพทย์อิสระคงจะไม่เปลี่ยนหรือถอนความเห็นใด ๆ และในฐานะที่เป็นคนอังกฤษ พันเอกไดร์เบิร์กกล่าวว่า เขาไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของไทย และคิดว่าคนไทยจะเข้าใจจิตใจของคนไทยได้ดีกว่าเขา ซึ่งเป็นคนอังกฤษ

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงท่าทีของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคต และมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ นายปรีดีฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ดูเหมือนจะไม่ใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญในการหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือมีท่าทีใด ๆ ที่จะอำนวยความยุติธรรมเลย

และจากคำบอกเล่าของนายแพทย์สุดฯ ในบันทึกของท่านยังบอกด้วยว่า ได้เก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในเซฟอย่างดี เพราะไม่ต้องการเผยแพร่ในขณะที่นายปรีดีฯ ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยเหตุผลด้านกฎหมาย (เกี่ยวกับข้อหาหมิ่นประมาท) ดังนั้น หลังจากที่ปรีดีฯ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2526 ท่านจึงได้ทำการพิมพ์บันทึกนี้ออกมา และกลายมาเป็นหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต” ในที่สุด

สิ่งที่เราสัมผัสได้จากเรื่องนี้คือ ความพยายามอย่างยิ่งของในหลวง ร.9 ที่จะอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างเดินหน้าไปโดยไม่มีสะดุด พระองค์ทรงมีหนังสือเชิญพันเอกไดร์เบิร์กและทีมงาน มาร่วมกับทีมแพทย์ชันสูตร เพราะทรงเห็นว่าคดีนี้โด่งดัง ทั่วทั้งโลกให้ความสนใจ และเหนืออื่นใด พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้เกิดความชัดเจนและถูกต้องที่สุดในกระบวนการยุติธรรม

ท่าทีของในหลวง ร.9 นี้ ยังได้ถูกกล่าวถึงเอาไว้โดย William Stevenson ในหนังสือ The Revolutionary King: The True-Life Sequel to The King and I อีกด้วยว่า พระองค์ไม่เคยแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเลย แม้พระองค์จะกริ้วสักเพียงใดกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่พระองค์ก็ทรงตระหนักดีว่าพระองค์ไร้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทำการอันใดได้ (He had let the months pass without interfering with the due process of law, thinking he had won his demand for a strong and independent judiciary. In his silent rage, he saw how powerless he really was).

ที่มา :

[1] ศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร, เมื่อข้าพเจ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสวรรคต
[2] William Stevenson, The Revolutionary King: The True-Life Sequel to The King and I

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า