‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้

ภายหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ รัฐบาลไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ “การทหาร” นำมาโดยตลอด จนกระทั่งในสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย และ ในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เป็นนโยบายหลักในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งในระหว่างนั้น รัฐบาลได้พลิกแพลงการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ จากการตระหนักถึงข้อผิดพลาดในอดีต ที่ได้เคยใช้กำลังเข้าปราบปรามจนส่งผลให้ พคท. เติบใหญ่ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปราบปรามประชาชนในกรณี 6 ตุลาคม 2519

ดังนั้น ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2520 – 2525 จึงเป็นช่วงที่รัฐบาลได้ปรับทิศทางการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญ โดยวิธีการหนึ่งที่รัฐบาลได้เรียนรู้และนำมาใช้ คือ “การแยกสลายแนวร่วมของ พคท.”

ภายหลังการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สถานการณ์การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร (พ.ศ. 2519 – 2520) อยู่ในสภาพที่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มงวด นโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในช่วงนี้จึงเป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรง เนื่องจากนายธานินทร์มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์แบบสุดขั้ว ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้ทำการกวาดล้างจับกุม คุมขัง จนทำให้มีบุคคลจำนวนมากหลบหนีไปเข้าร่วมกับ พคท.

นอกจากนี้ การต่อสู้ทางการทหารยังคงเป็นนโยบายหลักในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นไม่พยายามเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่ผลักดันให้คนเข้าร่วมกับ พคท. แต่ยังคงใช้มาตรการที่รุนแรงจนทำให้เกิดการสร้างแนวร่วมจำนวนมากให้แก่ พคท. ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ย้อนกลับมาสร้างผลเสียต่อรัฐบาลเอง

อีกหนึ่งปีต่อมา คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินชุดเดิมได้รัฐประหารรัฐบาลนายธานินทร์ และได้แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการปราบปรามคอมมิวนิสต์จากขวาสุดโต่ง สู่การผ่อนปรนทางการเมือง ที่เน้นการทำความเข้าใจและการให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก

นโยบายผ่อนปรนทางการเมืองที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ได้แก่ การอนุญาตให้นักศึกษาจัดตั้งสโมสรและองค์กรในมหาวิทยาลัย การอนุญาตให้กรรมกรรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน การเชิญชวนนักศึกษาออกจากป่ากลับสู่ห้องเรียน การแสดงท่าทีผ่อนปรนต่อคนที่ออกจากป่า รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ ที่หันไปฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยม

นโยบายดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะประนีประนอมกับพลังฝ่ายต่างๆ ในสังคม เพื่อสร้างบรรยากาศผ่อนคลายทางการเมืองไม่ให้ประชาชนรู้สึกกดดันมากเกินไปดังเช่นนโยบายของรัฐบาลก่อน ซึ่งนับเป็นวิธีการอันแยบยลในการที่จะคลี่คลายความขัดแย้งในสังคม นโยบายผ่อนปรนดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์โดยใช้ “การเมืองนำการทหาร” ซึ่งแนวทางนี้ไม่ใช่เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านั้นได้มีทหารและตำรวจบางกลุ่มที่เรียกว่า “สายพิราบ” เคยนำแนวทางการเมืองมาใช้ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์มาก่อนแล้ว

พันเอก (พิเศษ) หาญ พงศ์สิฎานนท์ อดีตผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายอำนวยการ (ฝ่ายข่าว) กอ.รมน. ได้กล่าวว่า ในขณะที่ พคท. ใช้หลักการปลุกระดมประชาชนให้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาล ด้วยการชี้ให้เห็นความคับแค้นทางสังคม โดยเฉพาะการข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล แต่ทางด้านฝ่ายปฏิบัติงานของรัฐก็ใช้วิธีเดียวกันคือ การเข้าไปคลุกคลีกับชาวบ้านและชี้ให้เห็นว่า คอมมิวนิสต์โหดร้ายป่าเถื่อน รวมถึงอธิบายความจำเป็นในการลุกขึ้นสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยจะเห็นได้ว่า นายทหารระดับสูงในขณะนั้นมีความคิดก้าวหน้าและนำแนวทางการเมืองมาใช้ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เพียงแต่ไม่ได้ถูกผลักดันให้เป็นนโยบายหลัก และในขั้นตอนการดำเนินงาน เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นำไปปฏิบัติจริง

การละเลยการบังคับใช้ “นโยบายการเมืองนำการทหาร” ในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ดังที่พันเอก (พิเศษ) หาญได้กล่าวไว้ ทำให้เกิดปัญหาในระดับปฏิบัติการ เช่น การแยกแยะว่าใครคือคอมมิวนิสต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่มักทำผิดพลาดโดยการจับกุมประชาชนแบบเหวี่ยงแห ดังที่ พล.ต.ต. ชัช ชวางกูร อดีตผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้เคยแสดงทัศนะต่อการปราบปรามคอมมิวนิสต์ไว้ตอนหนึ่ง ความว่า …

“… คือการปราบคอมมิวนิสต์ต้องนำเด็กมาเทรนให้รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร ให้รู้ความหมายว่าอะไรคือศัตรูของชาติ อย่าไปเที่ยวชี้บอกใคร อย่างที่ผ่านๆ มา คือเขาไม่แยกแยะ คือในภาษาปราบปรามคอมมิวนิสต์เราเรียกว่า ‘คุณต้องรู้จักศัตรูของคุณ’ …”

พ.ท. ทวนทอง สุวรรณทัต เจ้ากรมยุทธการทหาร และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วม กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้แสดงทัศนะถึงการใช้นโยบายการเมืองต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ โดยให้ความรู้และฝึกฝนเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในทำนองเดียวกัน ความว่า …

“… ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เราพยายามที่จะต่อสู้ในทางความเชื่อมากกว่าอย่างอื่น ซึ่งเรามาใช้ศัพท์กันว่าเป็นการต่อสู้ทางด้านการเมือง คือเอาความเชื่อสู้กับความเชื่อ ลัทธิต่อลัทธิสู้กัน เพราะฉะนั้นเราต้องเทรนทหารที่จะออกไปในสนามนี้ ที่จะต้องไปติดต่อสัมพันธ์กับประชาชนให้เข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้องว่ามันเป็นอย่างไร และก็จุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละลัทธิเป็นอย่างไร ทฤษฎีของคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร พอเขารู้ก็สามารถไปเถียงโดยเฉพาะเถียงกับแกนนำคอมมิวนิสต์ในหมู่บ้าน …”

การขาดความรู้ความเข้าใจในลัทธิคอมมิวนิสต์ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้ประชาชนหันไปสนับสนุนและเข้าร่วมกับ พคท. เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐใช้การจับกุมปราบปรามแบบเหวี่ยงแห ไม่ทำความรู้จักศัตรูอย่างรอบด้าน จึงนำไปสู่วิธีการต่อสู้ที่ผิดพลาดของรัฐบาลเป็นเวลานับสิบปี ซึ่งกรณี 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นตัวอย่างหนึ่งในความผิดพลาดของรัฐ ที่ส่งผลกลายเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่ พคท.

อย่างไรก็ตาม ความเข้มแข็งของ พคท. อันเนื่องมาจากการเข้าร่วมของผู้หลบหนีภัยการเมืองจำนวนมาก ทำให้รัฐเริ่มตระหนักถึงวิธีการที่ผิดพลาดของตนเอง จนนำไปสู่การศึกษาหาข้อสรุป และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

พล.ต.ต. ชัช ชวางกูร ได้กล่าวว่า “การสร้างประชาธิปไตยจะช่วยยับยั้งคอมมิวนิสต์” ซึ่ง พล.ต.ต. ชัช ได้ชี้ให้เห็นสาเหตุการเกิดคอมมิวนิสต์ และการให้ความสำคัญกับประชาชนโดยเน้นไปที่การสร้างประชาธิปไตย ดังข้อความตอนหนึ่งความว่า …

“… เราพิสูจน์ว่าของเราดีกว่า คุณดึงประชาชนของผมไปเยอะแล้ว แต่ผมต้องการดึงประชาชนของผมกลับมาบ้าง พร้อมทั้งดึงประชาชนของคุณกลับมาด้วย เราพูดกับนายผิน บัวอ่อน เราก็พูดด้วยธาตุแท้ของลัทธิประชาธิปไตย พวกนี้เกิดจากปมด้อย … ที่ว่าความยากจน ความคับแค้น การไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นบ่อเกิดให้มีอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ต้องการให้ไม่มีชนชั้น มีชนชั้นเดียวกันหมดแต่มีหน้าที่ต่างกัน …”

จากตัวอย่างความคิดของ พ.ท.ทวนทอง สุวรรณทัต และ พล.ต.ต. ชัช ชวางกูร ข้างต้น ได้สะท้อนให้เห็นความคิดอันก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ที่พยายามทำความเข้าใจสาเหตุการเกิดและการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ จนนำไปสู่การตระหนักว่า “ปัญหาแนวร่วม” เป็นปัญหาสำคัญ และยากที่สุดในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงชัยชนะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นความพยายามเสนอแนวคิดและวิธีการทางการเมืองไปใช้ในการต่อสู้ และยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดที่มุ่งจะปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยกำลังทหาร เพียงแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้น ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่บังคับให้กลไกของรัฐทำงานสอดคล้องกับนโยบายการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวไม่ได้ถูกละเลยอย่างสิ้นเชิง เพราะในเวลาต่อมาแนวคิดการต่อสู้ทางการเมืองนี้ได้พัฒนาจากหลากหลายฝ่าย ทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน รวมทั้งจากผู้ปฏิบัติงานของรัฐในพื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับประชาชนและคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง จนกระทั่งได้มีการตกผลึกเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เมื่อรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 อันถือเป็น “นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์” อีกทั้งยังมีคำสั่งเพิ่มเติมคือ คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/25 เรื่อง “แผนการรุกทางการเมือง” จนกระทั่งนำไปสู่ความสำเร็จของรัฐบาลในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ตามแนวทาง “การเมืองนำการทหาร” ตามที่คำสั่งที่ 66/23 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ปัจจัยทางการเมืองมีความสำคัญ (ต่อความสำเร็จในการต่อสู้กับความไม่สงบ) ส่วนปฏิบัติการทางทหารนั้น มีหน้าที่สนับสนุนเพื่อให้การเมืองประสบความสำเร็จนั่นเอง

รวมบทความเรื่องปฏิบัติการของ พคท. ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516

1. การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
2. ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน
3. การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516
4. ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว
5. ‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้

อ้างอิง :

[1] จิรวัฒน์ รจนาวรรณ, ยอดนักการเมือง, (กรุงเทพฯ: วรรณสาส์น, 2547), 231-232.
[2] “กองบรรณาธิการสยามนิกร” คนป่าคืนเมือง, 157.
[3] “เรามีไส้ศึกอยู่ในพวกคอมมิวนิสต์”, ไทยนิกร 2, (30) + 32 (26 พฤษภาคม 2521): 29, 30-31

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า