ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 สายงานกรุงเทพฯ ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เริ่มตีพิมพ์นิตยสาร “เอเชีย” ซึ่งกลายเป็นแหล่งข่าวสารประจำที่สำคัญที่สุดในเรื่องของประเทศจีน จากจุดยืนของทางการจีนเอง

ต่อมาภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นิตยสารก็เริ่มมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา ถึงขั้นที่ “บทนำ” และ “เรื่องจากปก” กลายเป็นเนื้อหาชี้นำที่สำคัญที่สุดของขบวนการหลัง 14 ตุลาคม เลยทีเดียว

และกลางปี 2517 ได้เกิดกรณีวิวาทะระหว่าง ผิน บัวอ่อน อดีตกรมการเมืองและคณะกรรมการกลางของ พคท. กับ พคท. ในประเด็นการวิจารณ์แนวทางของพรรค และการชี้นำขบวนการนักศึกษา โดยสายงานพรรคในกรุงเทพฯ ซึ่งทาง พคท. ได้ออกเอกสารตอบโต้ผิน ทางนิตยสาร “ปิตุภูมิ” และหนังสือพิมพ์ “เสียงใหม่” เมื่อต้นปี 2518

ในด้านของผินเองก็ยังคงตีพิมพ์งานเขียนวิจารณ์ พคท. อย่างต่อเนื่อง โดยพุ่งประเด็นไปที่งานเขียนของเหมาเจ๋อตุง “ว่าด้วยการศึกษา” และ “ว่าด้วยนโยบาย” ซึ่งมุ่งโจมตีลัทธิคัมภีร์ และ “พวกฉวยโอกาสเอียงซ้าย” ในพรรคจีน โดยผินออกเป็นรูปเล่มขนาดเล็กพร้อมด้วยคำนำของเขาเอง

การเคลื่อนไหวของผินทำให้ชมรมหนังสือแสงตะวันของสายงาน พคท. ออกมาโจมตีผินว่า “ถ่อยปัญญา นกสองหัว” และประกาศจะตีพิมพ์สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง ฉบับสมบูรณ์ออกมาทั้ง 8 เล่ม และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนี้เอง สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่ม 1 ตอนต้น ของชมรมหนังสือแสงตะวัน ซึ่งถ่ายจากต้นฉบับของสำนักพิมพ์ภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ก็ออกวางตลาดในกรุงเทพฯ

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า การตีพิมพ์สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการตีพิมพ์หนังสือทั่วไป เพราะเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกการครอบงำของ “ความคิดเหมาเจ๋อตุง” ต่อขบวนการนักศึกษา ซึ่งจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่คือ พคท. ที่รับความคิดเหมาเจ๋อตุงมาเป็นแนวทางชี้นำการปฏิวัติสังคมไทย เพราะฉะนั้น การครอบงำทางความคิดในขบวนการนักศึกษา จึงแยกไม่ออกระหว่างความคิดของเหมาเจ๋อตุง และ พคท. ที่ฝ่ายหลังรับความคิดเหมาเจ๋อตุงมาโดยไม่มีการปรับใช้ให้สอดคล้องกับสังคมไทย

การอ่านงานเขียนดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะจากการจัดทำโดยกลุ่มนักศึกษา หรือสายงานของ พคท. แม้แหล่งที่มาจะต่างกัน แต่ผลที่ได้เหมือนกันคือ ทำให้นักศึกษาเกิดกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดแบบ พคท. ด้วยตนเอง และยอมรับความคิดของ พคท. ให้เข้ามาชี้นำการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จนดูเหมือนว่า พคท. สามารถจัดตั้งขบวนการนักศึกษาได้ทั้งหมด

แต่ในทางปฏิบัติ นักศึกษาส่วนใหญ่รับมาเพียงแนวคิด และกระทำด้วยตัวเอง ซึ่ง พคท. เป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลครอบงำนักศึกษา หากแต่ไม่ได้ชี้นำการเคลื่อนไหวทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า พคท. เพียงสร้างกลุ่มคนที่มีความคิดแบบเดียวกันขึ้นมาเป็น “แนวร่วมทางความคิด” จนกระแสความคิดแบบ พคท. ขยายไปสู่ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น นอกเหนือจากนักศึกษาที่อยู่ในจัดตั้งของ พคท.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้อธิบายว่า พคท. สามารถครอบงำนักศึกษาทางความคิดได้จำนวนมาก จากการอ่าน การฟังเพลง และการประสบสถานการณ์ แม้นักศึกษาที่เข้าสู่จัดตั้งของ พคท. อาจมีไม่มาก แต่กระแสความคิดของ พคท. ถือเป็นที่ยอมรับในขบวนการนักศึกษาส่วนใหญ่ ซึ่งสมศักดิ์ได้กล่าวไว้ดังนี้ …

“… พคท. ครอบงำศูนย์นิสิตได้ เพราะอะไรก็แล้วแต่คนจะอธิบาย ถ้าไปถาม บางคนจะบอกว่า เป็นเพราะเรื่องจัดตั้งเขาแข็งกว่า โดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ใช่ ที่ครอบงำจริงๆ เป็นเรื่องความคิด เอาเข้าจริงๆ จนกระทั่งถึง 6 ตุลา คนที่อยู่ในจัดตั้ง พคท. ในแง่จำนวนเป็นตัวเลขชัดๆ อาจจะไม่สูง แต่ทางความคิดนี่สูงมาก คนที่ไม่รู้จักพรรค ไม่รู้จักจัดตั้ง ไม่รู้จักอะไรเลย แต่เชื่อวิธีคิดแบบนี้ อ่านหนังสือแล้วเชื่อ ฟังเพลงแล้วเชื่อ หรือเจอสถานการณ์การเมืองแล้วเชื่อ ผมว่ามันเป็นอย่างนี้ เป็นเรื่องความคิดเป็นหลักมากกว่า เรื่องจัดตั้งในความหมายที่ว่า มี ย. (สันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย) มี ส. (สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ผมว่าไม่ใช่ประเด็นหลัก อาจจะมี ย. มี ส. ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นที่ยอมรับในขบวนการนั้นใช่ แต่ถ้าไม่มีกระแสความคิดบางอย่าง ที่คนในขณะนั้น สมัยนั้น คิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ผมว่ามันครอบงำไม่ได้ …”

การเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมของขบวนการนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม สะท้อนความคิดของ พคท. ออกมาอย่างชัดเจน โดยสมศักดิ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ความคิดของ พคท. ในขบวนการนักศึกษา เริ่มปรากฏจากการจัดนิทรรศการจีนแดง ใน พ.ศ. 2517 โดยนักศึกษากลุ่มอิสระเก่าจัดขึ้นเอง ครั้งนั้น พคท. ไม่ได้ชักนำการจัดนิทรรศการดังกล่าวโดยตรง อีกทั้งกระแส พคท. ยังไม่ได้ครอบงำขบวนการนักศึกษา กิจกรรมที่จัดขึ้น จึงเหมือนการระเบิดความสนใจที่โดนกดก่อนหน้า 14 ตุลาคม มากกว่า

อย่างไรก็ดี เมื่อความคิดของ พคท. เข้ามามีอิทธิพล ในลักษณะเป็นเครื่องชี้นำทางความคิด จึงส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษา ที่ต้องดัดแปลงให้สอดคล้องกับหลักคิดแบบ พคท. นักศึกษาในยุคนั้นจึงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นชนชั้นกรรมาชีพ อันเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมในขบวนการนักศึกษาที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้าย

ขบวนการนักศึกษาได้จำลองยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และค่านิยมที่ถือปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์ในชนบท มาใช้กับขบวนการก้าวหน้าในเมือง ทำให้ขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้นมีภาพพจน์ในลักษณะซ้ายจัด รุนแรง เถรตรง ติดคัมภีร์ ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลเริ่มโจมตีด้วยการใช้กลไกของรัฐทุกประเภท

ปรากฏการณ์ “ซ้ายจัด” ของขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้น มีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่

ประการแรก การดัดแปลงชีวทัศน์ โลกทัศน์ให้เป็นแบบชนชั้นกรรมาชีพ

ประการที่สอง อุดมการณ์สังคมนิยมแบบเหมาเจ๋อตุง เข้าครอบงำขบวนการนักศึกษาผ่าน พคท.

และประการสุดท้าย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีและนโยบายของ พคท. ในชนบท ถูกนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการนักศึกษาหัวก้าวหน้าในเมือง

นอกจากการเผยแพร่งานเขียน และเสพงานต่างๆ ข้างต้น จนนักศึกษาเกิดกระบวนการหล่อหลอมทางความคิดแบบ พคท. ด้วยตนเองแล้ว ประเด็นต่อมาที่มีความสำคัญคือ การสร้างแนวร่วมในเมืองของผู้ปฏิบัติงาน โดยวิธีทำงานของมวลชนตามหลักการที่ พคท. ประกาศไว้ในเอกสาร “แนวนโยบายการสร้างแนวร่วม” เริ่มจากการจัดตั้งลูกจีนเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ส.ย.ท.) ซึ่งเป็นองค์กรมือขวาของ พคท. เพื่อทำงานด้านขยายความคิดสังคมนิยมในหมู่เยาวชน นอกจากนี้ พคท. ยังเข้าแทรกซึมในองค์กรนักศึกษา ยึดกุม การนำ กำหนดนโยบาย จัดตั้งนักศึกษาโดยใช้สายสัมพันธ์ส่วนตัวแบบเพื่อนฝูง ยกระดับทางการเมือง ด้วยการตั้งกลุ่มศึกษาหนังสือก้าวหน้า เช่น ศึกษาปรัชญานิพนธ์ 5 บท นิทานลุงโง่ย้ายภูเขา จางซือ เต๋อ เป็นต้น

เมื่อเห็นว่านักศึกษาคนไหนมีความคิดทางการเมืองสุกงอม มากพอที่จะเปิดเผยตัวเป็นสายจัดตั้งของ พคท. ได้ ก็จะชักชวนให้ร่วมมือกับ พคท. โดยบทบาทและนโยบายขององค์กรนักศึกษาช่วงปี พ.ศ. 2518 มีน้ำหนักมากพอที่จะกล่าวว่า พคท. ได้เข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย ทิศทางการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในเมืองอยู่ไม่น้อย เป็นที่ชัดเจนว่า สายจัดตั้งของ พคท. ได้แทรกเข้าไปตามจุดต่างๆ เช่น  ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ เพื่อทำหน้าที่นำการศึกษาทฤษฎี ชี้นำการเคลื่อนไหว และวิเคราะห์สถานการณ์ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในขบวนการนักศึกษา

ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ภายหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 พคท. ได้เข้ามามีอิทธิพลทางความคิดต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเสนอความคิดของ พคท. แปลกใหม่และเป็นระบบ ทั้งยังเสนอทางออกที่เป็นรูปธรรมต่อการแก้ปัญหาได้อย่างชัดเจน พคท. จึงเป็นผู้เสนอสุดยอดทางความคิดที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก และอธิบายเหตุผลประกอบที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ในสังคมไทย นักศึกษาจึงยินดีรับความคิดของ พคท. มาเป็นเครื่องชี้นำในการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิต

จนกระทั่งความคิดแบบ พคท. ได้หยั่งรากและสร้างฐานอันมั่นคงในขบวนการนักศึกษาแล้ว พคท. จึงเข้าไปจัดตั้งนักศึกษาและเลือกผู้ที่มีความคิดแบบ พคท. ที่เข้มข้นและสุกงอม ให้เป็นผู้นำของขบวนการและส่งเสริมการเคลื่อนไหวของ พคท. ในเมืองต่อไป ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เองที่มีบทบาทนำไปสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทยหลังจากนั้น

รวมบทความเรื่องปฏิบัติการของ พคท. ในช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลาคม 2516

1. การแทรกซึมทางความคิดของ พคท. ปฐมบทแห่งการโฆษณาชวนเชื่อในยุคแสวงหา
2. ‘เหล้าเก่าในขวดใหม่’ เปิดวิธีการแทรกซึมของ พคท. ในอดีต เทียบกับวิธีของนักปลุกระดมยุคปัจจุบัน
3. การรุกคืบครอบงำนักศึกษาของ ‘พรรคคอมมิวนิสต์ไทย’ หลัง 14 ตุลา 2516
4. ปฏิบัติการคอมมิวนิสต์ กระจกสะท้อนการถูกชี้นำในปัจจุบัน ที่ขาดการประนีประนอมเพื่อผลทางการเมือง จนเกิดภาวะถูกโดดเดี่ยว
5. ‘ย้อนเกล็ดคอมมิวนิสต์’ เมื่อรัฐใช้การต่อสู้ทางความคิด จนพิชิตปัญหาความขัดแย้งลงได้

อ้างอิง :

[1] สมศักด์ิ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลา, (กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544), 94-95
[2] ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข., แลไปข้างหน้า (2516-2519) ขบวนการนักศึกษากับซ้ายไทย, 29
[3] พรภิรมย์ เอี่ยมธรรม., “ขบวนการประชาธิปไตยที่นาโดยนักศึกษาหลัง 14 ตุลาคม 2516 และความสัมพันธ์กับ พคท.,” 21-22.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า