คณะราษฎร “ปล้น” แนวคิดการปกครองของรัชกาลที่ 7 : ตอนที่ 2

[คณะราษฎร “ปล้น” แนวคิดการปกครองของรัชกาลที่ 7 : ตอนที่ 1]

“ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 247…” เป็นกฎหมายว่าด้วย “การปกครองท้องถิ่น” (Local Government) ที่ได้ถูกร่างขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2472 – 2473 โดยพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 7 และได้มีการปรึกษาหารือกันในที่ประชุมเสนาบดีสภาหลายครั้ง เพื่อผลักดันการประกาศใช้กฎหมายนี้

แต่ก็ได้มีการ “เลื่อน” การประกาศใช้เรื่อยมา โดยกระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการตรวจสอบเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติเทศบาลให้มีความเหมาะสม

กระทั่งวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2473 (ตามปฏิทินเก่า) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรง “ทวง” พระราชบัญญัติเทศบาลไปยังกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์อยากทราบว่าได้ดำเนินการคืบหน้าไปเพียงใด

สามวันถัดมา กระทรวงยุติธรรมจึงส่งหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจงว่า เพิ่งได้รับร่างพระราชบัญญัติเทศบาลฉบับภาษาอังกฤษจากกระทรวงมหาดไทย โดยขณะนี้กรมร่างกฎหมายกำลังตรวจพิจารณาร่วมกับกฎหมายเทศบาลประเทศอื่น ๆ อยู่

แต่การตรวจทานร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ได้เงียบไปอีก กระทั่งผ่านไปถึง 7 เดือน นับแต่วันที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงทวงพระราชบัญญัติเทศบาล ต่อมาในวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2474พระองค์ได้ทรง “ทวงกฎหมายเทศบาล” จากกระทรวงยุติธรรมอีกรอบว่า

“…เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า กฎหมายเทศบาล (ของประเทศญี่ปุ่น- ผู้ศึกษา) นั้นได้มาแล้ว พระราชบัญญัตินี้มีพระราชประสงค์ให้เสร็จไปโดยเร็ว จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เรียนถามว่า การได้ดำเนิรไปเพียงใด.”

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลชี้แจงเหตุล่าช้าว่า

…กรรมการร่างกฎหมายได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ และทำการศึกษากฎหมายของประเทศอื่น ๆ เปรียบเทียบไว้บ้างแล้ว แต่ยังมิทันมีโอกาสประชุมหารือกัน ก็เผอิญต้องตรวจพิจารณาและร่างพระราชบัญญัติหลายฉะบับอันเกี่ยวกับเรื่องภาษีอากรซึ่งต้องทำเป็นการด่วน จำเป็นต้องระงับเรื่องนี้ไว้จนกว่าจะทำร่างพระราชบัญญัติภาษีอากรให้เสร็จเสียก่อน จึ่งจะดำเนิรการต่อไป.

“คำแก้ตัว” ดังกล่าวคงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่สบพระทัยมากนัก ดังจะเห็นได้จากพระราชกระแสตอบกลับ ซึ่งทรงพระอักษรอย่างสั้น ๆ ว่า

“ทราบ, เรื่องนี้รอมานาน จนคนบางคนว่าเราเอาเข้าลิ้นชักไปเสียแล้ว.”

 ความล่าช้าดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดข่าวลือไปต่าง ๆ นา ๆ จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ได้ลงข่าวฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 (ตามปฏิทินใหม่) ว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล เพราะเกรงว่ารายได้ของรัฐบาลจะน้อยลง เนื่องจากประชาชนต้องจ่ายภาษีแก่เทศบาลแทน โดยหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ได้ลงเนื้อข่าวดังนี้

“… อย่างไรก็ดี มีข่าวลือกันหนาหูเต็มทีว่า อย่างไรเสียพระราชบัญญัติเทศบาลจะออกใช้ไม่ได้เป็นเด็ดขาด ในระหว่างความยุ่งยากทางเศรษฐกิจนี้ เพราะรายได้จากผู้เสียภาษีแก่เทศบาล จะกระทบกระเทือนไปถึงรัฐบาล อย่างน่าวิตกทีเดียว.”

ข่าวดังกล่าวได้ถูกถวายแก่ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเจ้าพระยามหิธรเรียกว่าเป็น “ข่าวเท็จ” เนื่องจากกรมกระทรวงมุรธาธร (สำนักพระราชวังในปัจจุบัน) ยังไม่ได้รับร่างพระราชบัญญัติเทศบาลดังกล่าวจากกรมร่างกฎหมายเลย

ประเด็นนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสกลับมาเพียงสั้น ๆ อย่างเย็นชืดเช่นเดิมว่า

ทราบ. เห็นจะทำไม่รู้ไม่ชี้เสียได้.

ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ “ทวง” ร่างพระราชบัญญัติเทศบาลที่ได้คั่งค้างมานานอีกครั้งต่อเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ในช่วงเดือนสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังมีพระราชกระแสรับสั่งว่า

“…เรื่องนี้ได้รอกันมานาน ถึงกับมีเสียงจากคนบางคนว่าเรา “เอาเข้าลิ้นชัก” เสียแล้วนั้น บัดนี้การทำร่างพระราชบัญญัติภาษีอากรต่าง ๆ ก็ได้เสร็จและซาไปแล้ว.

จึงขอเรียนเตือนมาตามนัยแห่งพระราชกระแสข้างต้นนี้.”

จากลายพระหัตถ์ข้างต้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงหมดความอดทนกับการรอคอยการประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลอย่างไร้วี่แววเต็มทีแล้ว

จากหลักฐานทั้งหมดข้างต้น จะเห็นว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย ทั้งกระบวนการตรวจทานและเทียบเคียงกฎหมายเทศบาลของกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ซึ่งกินระยะเวลานานถึง 1 ปี โดยในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรง “เร่ง” และ “ทวง” ด้วยพระองค์เองมาอย่างน้อย 2 ครั้ง

กระทั่งเกิดข่าวเท็จจากหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ที่ระบุว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล เพราะเกรงว่าจะกระทบกับรายได้ของรัฐบาล

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หากดูจากหลักฐานการโต้ตอบเอกสารราชการ และพฤติกรรมส่วนพระองค์ในการติดตามนโยบายการจัดตั้งเทศบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาลโดยเร็วที่สุด

และพระองค์ทรงเลือกที่จะไม่ใช้ “อำนาจอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่พระมหากษัตริย์จะประกาศใช้กฎหมายตามพระราชหฤทัยอย่างระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) แต่ทรงมอบให้กระทรวงและหน่วยงานราชการ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นผู้ดำเนินการ แทนการใช้พระราชอำนาจส่วนพระองค์ ตามระบบราชการสมัยใหม่

แต่สุดท้าย ความตั้งพระทัยของพระองค์กลับไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ เพราะร่างพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 247… ยังคงถูก “ดอง” ไว้ในกรมร่างกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม เป็นเวลานานกว่าปีเศษ และไม่ขยับคืบหน้าไปไหนเสียที จนกระทั่งหลังเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก็ได้ “ลอก” กฎหมายนี้ทั้งฉบับ แล้วอ้างว่าเป็นผลงานของพวกเขาในเวลาต่อมา

เอกสารอ้างอิง :
  1. หนังสือเจ้าพระยามหิธร ถึง พระยาจินดาภิรมย์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เรื่อง “ขอทราบว่ากรมร่างกฎหมายได้ดำเนินการพิจารณาตรวจบันทึกความเห็นในส่วนหลักการแห่งพระราชบัญญัติเทศบาลไปได้เพียงใด” ลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2474
  2. หนังสือพระยาจินดาภิรมย์ ถึง พระยามหิธร ราชเลขาธิการ แจ้งให้ทราบว่า กรรมการกำลังตรวจพิจารณา เรื่อง “เทียบเคียงกับบทกฎหมายประเทศอื่น ๆ ” ลงวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2474
  3. หนังสือเจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ ถึง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เรื่อง “โปรดเกล้าฯ ให้เรียนถามว่า การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเทศบาลได้ดำเนินไปเพียงใด” ลงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2474
  4. หนังสือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ถึง เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ สนองพระราชกระแสเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล” ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2474
  5. พระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อหนังสือสนองพระราชกระแส เรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติเทศบาล ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม” ลงวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2474
  6. หนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2474
  7. คำกราบบังคมทูล ของเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) เรื่อง “ข่าวเท็จเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเทศบาลในหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง” ลงวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2475
  8. หนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร (กรมราชเลขาธิการ) เรื่อง “ข่าวเท็จเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเทศบาลในหนังสือพิมพ์ บางกอกการเมือง” ลงวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2475
  9. (ร่างหนังสือ) เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ถึง เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ เรื่อง “เตือนให้พิจารณาพระราชบัญญัติเทศบาล” (ไม่ระบุวันที่) มิถุนายน พ.ศ. 2475
TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า