SCB เป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ทรัพย์สินแผ่นดินตามคำบิดเบือน

นับตั้งแต่ประเทศไทยทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ในสมัย ร.4 เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบเงินตราของไทยขยายตัวตาม ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดปัญหาโรงกษาปณ์ผลิตเงินเหรียญออกมาไม่พอกับความต้องการ แม้ว่าจะเร่งหลอมเหรียญเงินทั้งวันทั้งคืนแล้วก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ในสมัย ร.4 จึงได้มีการเริ่มออกตั๋วสัญญาใช้เงินขึ้นมา และต่อเนื่องมาถึงในสมัย ร.5 ที่มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้เองที่ธนาคารต่างชาติได้เข้ามาเปิดสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทย เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ สัญชาติอังกฤษ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน สัญชาติอังกฤษ และธนาคารแห่งอินโดจีน สัญชาติฝรั่งเศส

นอกจากให้บริการด้านการเงินกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจแล้ว ธนาคารต่างชาติเหล่านี้ ยังได้ผลิตธนบัตร หรือที่เรียกว่า “บัตรธนคาร” (ไม่เรียกว่าธนบัตรเพราะออกโดยเอกชน) เพื่อนำมาใช้ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ในหลวง ร.5 จึงกังวลว่า ต่อไปในอนาคตต่างชาติจะเข้ามาครอบงำระบบการเงินในประเทศ และระบบเศรษฐกิจของไทยจะถูกต่างชาติชี้นำ พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้บ้านเมือง จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ดำเนินการวางโครงสร้างพื้นฐาน และเริ่มจัดระเบียบการเงินภายในประเทศ

งานที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้รับมอบหมายคือ ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติดำเนินการออกธนบัตรเอง เพื่อที่ต่อไปคนไทยจะได้ไม่ต้องใช้ “บัตรธนาคาร” ซึ่งเป็นของชาวต่างชาติ ดังนั้นภาระกิจแรกของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย คือการสร้างธนาคารกลางสำหรับชาติ เพื่อเป็น regulator ในระบบการเงินของประเทศ

แต่เนื่องจากในขณะนั้น ประเทศไทยยังไม่มีธนาคารของคนไทยเลยแม้แต่ธนาคารเดียว การที่จะสร้างธนาคารกลางมาเพื่อควบคุมธนาคารพาณิชย์ของต่างชาติ โดยไม่มีธนาคารสัญชาติไทยเลย จะทำให้เกิดปัญหาคือ ธนาคารต่างชาติอาจใช้การเมืองระหว่างประเทศมาบีบ หรือร่วมกันต่อต้านกฎระเบียบของธนาคารกลาง ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้นก่อนที่จะมีธนาคารกลาง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย จึงได้วางแผนให้มีการทดลองดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ โดยให้เป็นธนาคารของคนไทยขึ้นมาเสียก่อน

บุคคลัภย์ หรือ Book Club จึงถือกำเนิดขึ้น ภายใต้พระบรมราชโองการ โดยให้ก่อตั้งในนามของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย และปรากฏว่าการทดลองดำเนินการเป็นไปอย่างดี จนมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจ และในเวลาต่อมาก็ได้ประกาศตั้งเป็นธนาคารพาณิชย์

บุคคลัภย์ เริ่มกิจการด้วยทุน 30,000 บาท แค่ปีเดียวจ่ายปันผลไป 90,000 บาท ภายใน 3 ปี จึงยกระดับเป็นธนาคาร และระดมทุนมาได้ถึง 3 ล้านบาท โดยจดทะเบียนเป็น “ธนาคารสยามกัมมาจล” ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2449 มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 503 หุ้น จากหุ้นจดทะเบียน 3,000 หุ้น และทรงได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัว คือ พระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) เป็นผู้จัดการธนาคารฝ่าย

ทั้งนี้ยังมีการให้ธนาคารตะวันตกเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยด้วย เพื่อเป็นการคานอำนาจกับธนาคารต่างชาติอื่นๆ ที่จะเข้ามาขัดขวางการดำเนินกิจการของธนาคารสยามกัมมาจล โดยมีธนาคารดอยชเอเชียติช สัญชาติเยอรมัน ถือหุ้น 330 หุ้น และธนาคารเด็นดานสกีแลนแมนส์ สัญชาติเดนมาร์ก ถือหุ้น 240 หุ้น และมีผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศควบคู่กับผู้จัดการฝ่ายไทยด้วย

เมื่อธนาคารสยามกัมมาจลเปิดตัวเต็มรูปแบบได้ไม่นาน ก็เป็นไปอย่างที่ในหลวง ร.5 คาดการณ์ไว้ นั่นคือ บรรดาธนาคารต่างชาติ เริ่มหาทางกดดันการดำเนินกิจการของธนาคารสยามกัมมาจล ด้วยข้ออ้างที่ว่า ธนาคารสยามกัมมาจล มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นอาจดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับธนาคารอื่นๆ จึงเรียกร้องให้ในหลวง ร.5 ปิดธนาคารสยามกัมมาจล

แต่ด้วยความเสียสละของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ที่ไม่ต้องการให้ในหลวง ร.5 ระคายเบื้องพระยุคลบาท จึงทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสียเอง ก่อนที่ชาติตะวันตกจะสร้างเงื่อนไขอื่นมากดดันประเทศไทยไปมากกว่านี้

แม้ว่าธนาคารสยามกัมมาจลจะดำเนินกิจการได้ด้วยดี แต่ต่อมาเพียงปีเดียว พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ก็ทรงสิ้นพระชนม์ชีพลง ธนาคารสยามกัมมาจลจึงถูกดูแลโดยพระสรรพการหิรัญกิจ (เชย อิศรภักดี) เพียงลำพัง แม้ว่าท่านจะเป็นเลขานุการส่วนตัวของเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ แต่ก็มีความรู้ความเชี่ยวชาญไม่เท่ากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ดังนั้นธนาคารสยามกัมมาจลจึงสร้างผลประกอบการที่สวยงามอยู่ได้ไม่กี่ปี ก็เริ่มประสบปัญหาการดำเนินงาน จนในที่สุดพระสรรพการหิรัญกิจ ก็ถูกปลดจากตำแหน่งผู้จัดการธนาคาร ถูกฟ้องล้มละลาย และถูกยึดทรัพย์มาใช้หนี้ให้กับธนาคาร

วิกฤติการณ์การครั้งนี้ เกือบทำให้ธนาคารสยามกัมมาจลต้องถูกปิดตัว แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.6 ที่ขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ได้โปรดเกล้าฯ รับซื้อบ้านของพระสรรพการหิรัญกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สามเสนปาร์ก” ในราคา 240,000 บาท ที่ธนาคารสยามกัมมาจลยึดไว้ เป็นการปลดหนี้ แล้วต่อมาได้พระราชทานให้กระทรวงนครบาล นำมาทำเป็นโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ด้วยเหตุนี้ธนาคารสยามกัมมาจลจึงผ่านพ้นปัญหามาได้ด้วยดี

หลังจากที่พระสรรพการหิรัญกิจพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว นายฉลองนัยนาถ (เซียวยู่เส็ง) ได้เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายไทยเป็นคนถัดมา ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก จากการที่นายฉลองนัยนาถ ได้ยักยอกเงินของธนาคารออกไปใช้ถึงกว่า 4 ล้านบาท ถึงขนาดที่ว่าธนาคารสยามกัมมาจลแทบจะล้มละลายเลยทีเดียว

เดชะบุญที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำความขึ้นกราบบังคมทูล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ธนาคารลดทุนเพื่อล้างหนี้ แล้วพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2 ล้านบาท เพื่อรับซื้อหุ้นที่จะเพิ่มทุนใหม่ ทำให้ธนาคารสยามกัมมาจลรอดพ้นจากวิกฤติครั้งสำคัญได้อีกครั้ง

ภายหลังวิกฤติการณ์ในครั้งนั้น ในหลวง ร.6 จึงถือโอกาสเชิญ เซอร์เบอร์นาร์ด ฮันเตอร์ หัวหน้าธนาคารแห่งเบงกอล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของอินเดีย เข้ามาให้คำแนะนำสำหรับการก่อตั้งธนาคารกลาง โดยเอาธนาคารสยามกัมมาจลนี่แหละ มายกฐานะขึ้นเป็นธนาคารกลาง แต่การดำเนินการยังไม่ทันจะคืบหน้า ไม่กี่ปีต่อมาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น การตั้งธนาคารกลางจึงถูกเลื่อนออกไป

ต่อมาในสมัย ร.7 ประเทศอังกฤษประกาศออกจากมาตรฐานทองคำ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ลดลง ทำให้ทรัพย์สินของธนาคารสยามกัมมาจลลดลงตามไปด้วย และอาจส่งผลต่อการขาดสภาพคล่อง ในหลวง ร.7 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเงินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 3 ล้านบาท มาให้ธนาคารสยามกัมมาจลยืม โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารรอดพ้นวิกฤติมาอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อธนาคารอยู่ได้ ระบบการค้าก็พลอยอยู่รอดตามไปด้วย ดังนั้นพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ จึงถือเป็นการช่วยพยุงระบบการค้าของประเทศไปในเวลาเดียวกัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ธนาคารสยามกัมมาจล ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ( The Thai Commercial Bank, Limited ) ตามการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย และภายหลัง ในปี พ.ศ. 2489 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษกลับมาเป็น The Siam Commercial Bank, Limited ดังเดิม

จากจุดเริ่มต้นของธนาคารสยามกัมมาจล ที่ก่อตั้งขึ้นในสมัย ร.5 จากการที่รัฐไม่สามารถก่อตั้งเองได้ เพราะถูกต่างชาติกดดันผ่านการเมืองระหว่างประเทศในยุคล่าอาณานิคม ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติสภาพคล่อง ในหลวง ร.6 จึงเข้ามาลงทุน เพื่อช่วยเหลือระบบการค้า ไม่ให้ได้รับผลกระทบกระเทือนจากการล้มละลายของแหล่งทุนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ธนาคารสยามกัมมาจล ก็มีฐานะเป็นบริษัทเอกชนที่ถือหุ้นในพระปรมาภิไธย ในฐานะพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456

จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการออก พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อที่รัฐบาลจะเข้ามาควบคุมพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ได้ และรัฐบาลได้เอารูปแบบการจัดการทรัพย์สินแบบ “ทรัสต์” เข้ามาใช้กับพระคลังข้างที่ โดยที่มีกระทรวงการคลังเป็น Trustee

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการคลังจึงมีฐานะเป็น Legal Ownership โดยที่การถือครองทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะกระทำในนามของกระทรวงการคลัง ส่วนพระมหากษัตริย์มีฐานะเป็น Equitable Ownership ที่จะมีสิทธิ์ในดอกผล อันเป็นรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2456 จนกระทั่งปัจจุบัน หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ที่ในหลวง ร.6 ลงทุนในครั้งนั้น จึงเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มาโดยตลอด แม้ภายหลังจะมีการโอนเปลี่ยนชื่อให้กระทรวงการคลังในฐานะเป็น Legal Ownership แต่ในหลวงรัชกาลที่ 7 และรัชกาลต่อๆ มา ก็ยังทรงเป็น Equitable Ownership อยู่ดี

ต่อมาในสมัย ร.10 รัฐบาลได้มีการยกเลิกการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในรูปแบบกองทุนทรัสต์ แล้วเปลี่ยนมาจัดการในรูปแบบ Private Fund จึงทำให้ต้องมีการโอนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง มาเป็นการถือครองในพระปรมาภิไธย

ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จึงเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เสมอมา ไม่ใช่ทรัพย์สินแผ่นดินตามที่พวกนักวิชาการจอมปลอมชอบออกมาให้ข้อมูลบิดเบือนแต่อย่างใด

อ้างอิง :

[1] นวพร เรืองสกุล. 100 ปี จากบุคคลัภย์สู่ไทยพาณิชย์.กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2550.
[2] นวพร เรืองสกุล. 100 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์.กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2550.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ