Francis B.Sayre ศาสตราจารย์กฎหมายชาวอเมริกัน ผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับรัชกาลที่ 7

ในปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ชาวต่างชาติผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่เข้ามารับราชการในประเทศสยาม คือ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ (Dr. Francis Bowes Sayre) ซึ่งเป็นผู้ที่ช่วยให้สยามรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระยากัลยาณไมตรี”

ต่อมา ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญ ฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อปี พ.ศ. 2469 อีกด้วย

ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ เกิดที่เมืองเซาธ์เบธเลเฮม ในเพนซิลเวเนีย เรียนจบด้านกฎหมายจากฮาร์วาร์ด เมื่อปี พ.ศ. 2455 และเริ่มงานด้านกฎหมายด้วยการเป็นผู้ช่วยอัยการแห่งนิวยอร์กเคาตี

ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ได้รับข้อเสนอจากคณบดีโรงเรียนกฎหมายฮาร์วาร์ด ให้ไปเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งเขาตอบตกลงด้วยอยากเผชิญกับความแปลกใหม่ จึงได้เข้ามารับราชการในเมืองสยามเมื่อปี พ.ศ. 2466 ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

ขณะนั้นสยามกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมในสมัยจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งสัญญาที่เป็นปัญหาหนัก ก็คือ “สนธิสัญญาเบอร์นี” ในรัชกาลที่ 3 และ “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ที่ทำในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งประเทศสยามมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายจุด

จากการที่สยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สหรัฐอเมริกายินยอมยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับสยาม แต่กับชาติพันธมิตรอื่น ๆ อย่างเช่นฝรั่งเศส หรืออังกฤษ การเจรจาในการแก้ไขสนธิสัญญากลับเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากทั้งสองชาติต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนอย่างเต็มที่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแต่งตั้ง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ให้เป็นผู้แทนประเทศสยามไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับชาติต่าง ๆ ในยุโรป โดยเริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2467 และด้วยความสามารถทางการทูตของ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ทำให้การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ ประสบผลสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยากัลยาณไมตรี”

กระทั่งในปี พ.ศ. 2468 ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการของสยาม และเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ยังคงติดต่อกับประเทศสยามอยู่เสมอด้วยความสัมพันธ์อันดี

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้ในประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2469 ซึ่ง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ คือผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญนี้

ก่อนหน้าที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชหัตถเลขาเป็นคำถามถึง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ 9 ข้อ โดยคำถาม 4 ข้อแรกนั้น ว่าด้วยการปกครองระบอบประชาธิปไตย

ซึ่งในข้อ 3 ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงตั้งคำถามว่า “หากประเทศนี้จำเป็นต้องมีระบบรัฐสภาเข้าสักวันหนึ่ง การปกครองในระบบรัฐสภาแบบแองโกล – แซกซัน นั้นเหมาะสมกับชาวตะวันออกหรือไม่?”

และคำถามข้อ 4 ทรงตั้งคำถามว่า “ประเทศนี้พร้อมหรือยังที่จะมีการปกครองในระบบผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน?”

พร้อมกันนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงให้พระราชวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยว่า “ในคำถามที่ 3 นั้นข้าพเจ้าเองยังไม่แน่ใจนัก ส่วนคำถามที่ 4 โดยความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่”

เมื่อ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ได้อ่านแล้ว จึงได้ถวายความเห็นเกี่ยวกับโครงสร้างที่เหมาะสมของรัฐบาลสำหรับสยามในสมัยนั้นกลับมาว่า

ข้าพเจ้าไม่คิดว่าการพิจารณาให้มีระบบรัฐสภา โดยสมาชิกมีที่มาจากประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติได้ในสยาม ณ เวลานี้ ระบบรัฐสภาที่สามารถทำงานได้นั้น ขึ้นอยู่กับผู้ลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษา หากปราศจากการควบคุมอย่างชาญฉลาดโดยประชาชนแล้ว องค์กรเช่นนี้ย่อมเสื่อมทรามลง กลายเป็นองค์กรทุจริตและเผด็จการอำนาจเป็นแน่ จนกว่าประชาชนทั่วไปในสยามจะได้รับการศึกษาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ มันคงอันตรายเกินไปที่จะตั้งรัฐสภาภายใต้การควบคุมของประชาชน

พร้อมกันนี้ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ยังได้แนบร่างรัฐธรรมนูญ 12 มาตรา ที่เขาเรียกว่า “Outline of Preliminary Draft” หรือเค้าโครงเบื้องต้นว่าด้วยโครงสร้างของรัฐบาล ซึ่งตามความเห็นของเขาถือเป็นร่างรัฐธรรมนูญการปกครองที่เหมาะกับสยามที่สุดในขณะนั้น

แต่สุดท้าย กลับเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เสียก่อน รัฐธรรมนูญฉบับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ มีส่วนช่วยในการร่างนั้น จึงไม่ได้นำออกมาประกาศใช้

ทั้งนี้ แม้ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ จะพ้นจากหน้าที่ในสยามไปแล้ว เขาก็ยังได้รับการยอมรับนับถือจากรัฐบาลสยามเป็นอย่างยิ่ง และยังได้เดินทางกลับมาเยี่ยมเมืองไทยอยู่หลายครั้ง กระทั่งในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2515 พระยากัลยาณไมตรี ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ก็ได้ถึงแก่อนิจกรรมที่บ้านพักในกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

จะเห็นได้ว่า ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ได้ทำคุณประโยชน์ด้านการต่างประเทศให้แก่สยามเป็นอย่างมาก เป็นผู้ดำเนินการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ทำให้ประเทศสยามรอดพ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการร่วมร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 7 ที่ทรงมุ่งหวังให้ประเทศสยามมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

และจากพระราชหัตถเลขาที่มีถึง ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ก็เป็นสิ่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญการปกครองที่ถูกต้องและเหมาะสมกับประเทศสยาม ทรงต้องการให้ประชาชนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงการปกครองในระบอบใหม่อย่างแท้จริง เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศสยาม พร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า