Lue Podcast Ep81 – จาก ‘สมเด็จย่า’ ถึง ‘พระราชินีสุทิดา’ จากสามัญชน สู่ไอดอลของคนรุ่นใหม่
ในประวัติศาสตร์ราชวงศ์จักรี บุคคลผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ จากสามัญชนขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงบุคคลแรกคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ ‘สมเด็จย่า’ ของคนไทย
สมเด็จย่ามีพระนามเดิมว่า ‘สังวาลย์’ ก่อนที่พระชนนีจะนำพระองค์ไปถวายตัวเป็นข้าหลวง และได้ศึกษาเล่าเรียนจนได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวดั่งเทพนิยาย…
ที่ฮาร์วาร์ดนี้เองที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ ( พระราชบิดาของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 ) ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1 ได้ทรงพบและพอพระทัยกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนได้มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เพื่อขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้น และอภิเษกสมรสในเวลาต่อมา
กระทั่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประสูติพระราชธิดาและพระราชโอรส และทรงเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนด้วยพระองค์เอง จนพระราชโอรสทรงเติบใหญ่กลายเป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินของไทยถึง 2 พระองค์
ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จย่ายังทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย และทรงงานเพื่อคนไทยมาโดยตลอด แม้จะมีพระชนมายุมากแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังเสด็จไปยังท้องที่ทุรกันดารต่างๆ เพื่อฟื้นฟูผืนป่าและพลิกฟื้นโอกาสให้คนในพื้นที่เหล่านั้นได้มีชีวิตที่ดีขึ้น จนชาวบ้านต่างเรียกพระองค์ว่า “แม่ฟ้าหลวง”
ผ่านมาหลายสิบทศวรรษ ประวัติศาสตร์ดั่งเทพนิยายก็ได้เริ่มต้นบทบันทึกอีกครั้ง…
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี คือสามัญชนคนที่สองที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระบรมศานุวงศ์ชั้นสูงของราชวงศ์จักรี
พระองค์มีพระนามเดิมว่า ‘สุทิดา ติดใจ’ ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ก่อนที่ทรงเข้าทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของการบินไทย
ต่อมาทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายทหารปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด และยังทรงเคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ได้รับพระกรุณาให้เป็นราชองครักษ์เวรในพระองค์ รวมถึงพระบรมศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ อีกด้วย
กระทั่ง เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และต่อมาได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี
พระองค์ทรงเป็นพระราชินี ที่เป็นทหาร ทรงผ่านหลักสูตรการฝึกต่างๆ มากมาย รวมทั้งทรงผ่านการศึกษาวิทยาลัยการทัพบก รุ่น 59 อีกด้วย ซึ่งความเข้มแข็งของพระองค์ เราคนไทยต่างเคยเห็นเป็นประจักษ์มาแล้วในการแสดงทางทหารประกอบดนตรี “ราชวัลลภ เริงระบำ” ที่พระองค์ทรงนำการแสดงอย่างสง่างามและเข้มแข็ง ตลอดระยะเวลายาวนาน 48 นาที
ไม่ใช่แค่มุมของความเข้มแข็งเท่านั้น แต่พระจริยวัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ยังทรงอ่อนน้อมถ่อมตน และมีความสง่างดงามในทุกครั้งที่ทรงปรากฏพระองค์ตามหมายพระราชกิจต่างๆ
โดยในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 4 ถึงวันที่ 7 พ.ค. 2566 เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา หลายคนยังคงจดจำและชื่นชมในความสง่างามของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เมื่อทรงอยู่ในฉลองพระองค์ที่ดูทันสมัยบนความเรียบง่าย และในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกฯ ทรงฉลองพระองค์ ชุดไทยบรมพิมาน ที่มีความสง่างามสมพระเกียรติ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้พบเห็น และได้รับการจับตาไปทั่วโลก
จึงไม่แปลกที่พระองค์จะได้รับการถวายพระสมัญญาว่า “Thai’s Soft Power Queen” กระทั่งทรงกลายเป็นไอดอลของเด็กรุ่นใหม่บางกลุ่ม และทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของเยาวชนไทยยุคใหม่อีกด้วย
นี่คือสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สถาบันพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีการพัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันต่อยุคสมัยมาตลอดเวลา นับแต่ยุคสมัยของสมเด็จย่า มาจนถึง สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชินีผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสง่างาม ทันสมัย และเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ใหม่แห่งประวัติศาสตร์ราชวงศ์ไทย