DTD กับดักหนี้ที่จีนใช้ฮุบประเทศอื่น เรื่องจริงหรือลวง?
การทูตกับดักหนี้ (Debt-trap diplomacy; DTD) เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นโดย Brahma Chellaney นักวิชาการชาวอินเดียใน ค.ศ. 2017 โดย DTD นี้เป็นเครื่องมือ “การทูต” อย่างหนึ่งของจีนในการขยายอิทธิพลในเวทีระหว่างประเทศภายใต้โครงการหนึ่งเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative; BRI) อันเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยโครงการ BRI นี้ถูกวิจารณ์ว่าสนับสนุนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการและไม่มีความโปร่งใส แต่ BRI ก็เป็นที่นิยมอยู่มากในประเทศที่กำลังพัฒนาเพราะประเทศตะวันตกนั้นจะให้คุณค่ากับเรื่องนิติรัฐหรือประชาธิปไตยก่อนจะตัดสินใจให้การสนับสนุนใดๆ จีนกลับไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านี้ และในการขยาย BRI นี้เองที่จีนถูกวิจารณ์ว่าให้ประเทศต่างๆ กู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง แต่ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ ประเทศเหล่านี้จึงต้องจ่ายคืนด้วยสินทรัพย์ในรูปอื่นๆ ให้กับจีนนั่นเอง (Debt-to-equity swap)
ใน ค.ศ. 2019 Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้ชี้ว่าจีนใช้ DTD ในการเข้าไปทำลายความสามารถของรัฐในประเทศต่างๆ ลงด้วยการมอบให้กู้ยืมก้อนโต และกล่าวอีกว่า DTD คือนโยบายที่เป็นอาณานิคมใหม่ (Neo-colonialism) ที่ไม่ควรถูกใช้ ซึ่งตัวอย่างของ DTD ที่ถูกยกตัวอย่างมากที่สุดคือกรณีของศรีลังกาที่เมื่อประเทศไม่สามารถจ่ายหนี้ให้จีนได้พวกเขาจึงยกท่าเรือมาคัมปุระ (Hambantota Port) เพื่อลดภาระด้านการเงินลง นอกจากนี้ตัวอย่างที่มักจะพูดถึงก็ยังมีในทวีปแอฟริกาหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ้านเราเองก็มี
แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือการทูตกับดักหนี้นี้มีจริงหรือไม่? และเป็นจริงระดับใด? [1]
Brahma Chellaney ได้อธิบาย DTD ไว้ว่าเป็นเครื่องมือนโยบายที่ รัฐ X (ประเทศที่ให้กู้ยืม ซึ่งในที่นี้คือจีน) สนับสนุนโครงการโครงร้างพื้นฐานในประเทศที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์หรือรัฐ Y (ประเทศที่กู้ยืม ซึ่งคือประเทศกำลังพัฒนา) โดยการให้เงินกู้จำนวนมาก ทำให้รัฐ Yต้องพึ่งพารัฐ X และตกอยู่ใต้อิทธิพลของรัฐ X มากขึ้น และเมื่อรัฐ Y ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ก็ต้องเอาสินทรัพย์ เช่น โครงสร้างพื้นฐานบางอย่างมอบให้รัฐ X แทนเงิน ซึ่งเรียกว่าเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ (Debt-to-equity swap) นั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ Chellaney กล่าวว่าเป็นพฤติกรรมในเวทีระหว่างประทศของจีน ถึงแม้ว่าการมอบเงินกู้ให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำนั้นจะไม่ใช่สิ่งผิด แต่จีนใช้ศักยภาพทางด้านการเงินของตัวเองในการเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศปลายทางเพื่อเข้าถึงทรัพยากรหรือเปิดตลาดระบายของจากประเทศตัวเองอันเป็นพฤติกรรมแบบนักล่า (Predatory behavior) และจีนยังนำคนงานของตัวเองไปด้วยทำให้ประชาชนที่ไม่มีงานทำในประเทศผู้กู้ยืมยิ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังไปอีก ผู้ที่ได้ประโยชน์จึงมีแต่จีนกับจีนเท่านั้น
นอกจาก Chellaney แล้วก็ยังมีนักวิชาการอื่นๆ ที่ชี้ไปในทางเดียวกัน แต่เสริมประเด็นอื่นๆ เข้าไป เช่น จีนไม่ทำตามนโยบายในเวทีระหว่างประเทศอย่างเรื่องความโปร่งใส การจัดการการทุจริต อย่างไรก็ดี DTD ได้ถูกดีเบตกันอย่างกว้างขวางว่าจริงหรือไม่ หรือเป็นความตั้งใจจริงของจีนหรือไม่ที่ดำเนินนโยบาย DTD นี้ โดยหนึ่งในข้อถกเถียงของผู้ที่ไม่เชื่อว่า DTD ของจีนมีอยู่จริงที่น่ารับฟังคือโต้แย้งว่าประเทศที่ตกลงไปในกับดักหนี้นั้นเป็นประเทศที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว และมีปัญหาภายในในหลายๆ ด้านทำให้เกิดปัญหาทางด้านการบริหารและปกครอง ประเทศเหล่านี้จึงตกที่นั่งลำบากได้ง่าย นอกจากนี้ยังโต้แย้งอีกว่าการเล่นประเด็นเรื่อง DTD เป็นความตั้งใจของประเทศตะวันตกในการไม่ให้ประเทศต่างๆ ไปมีความสัมพันธ์กับจีน ดังนั้น ประเด็นเรื่อง DTD ไม่ใช่ว่าทุกประเทศที่ยืมเงินจีนจะตกอยู่ในกับดักหนี้ แต่เป็นเรื่องของประเทศที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่างหาก DTD จึงมีความซับซ้อนมากกว่าที่คิดและไม่ควรตั้งเป้าว่าเป็นวิธีการที่จีนตั้งใจใช้ การเล่าเรื่องแบบด้านเดียวนั้นจึงไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องเล่าที่ผิดแต่มักจะเป็นเรื่องเล่าที่ไม่สมบูรณ์แบบ ดังนั้นจึงควรเจาะลงไปทีละประเทศที่มักเชื่อว่าตกอยู่ในกับดักหนี้ของจีน เพราะแม้แต่ศรีลังกาที่มักเป็นตัวอย่างนั้นก็มีหนี้กับจีนน้อยกว่าประเทศอย่างโดมินิก้า โมซัมบิค ตองก้า และอีกหลายประเทศอีกต่างหาก
เคนย่า
เคนย่าเป็นประเทศที่มีความสำคัญของจีนในการเพิ่มอิทธิพลในแอฟริกากลางและตะวันตก นอกจากนี้ที่ตั้งของเคนย่ายังเชื่อมกับมหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามแม้เคนย่าจะไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามกลางเมืองแบบประเทศอื่นแต่เคนย่าก็มีปัญหาด้านการปกครองและนโยบายด้านการเงินที่ไม่มีความรับผิดชอบนัก เคนย่ากู้ยืมเงินจากจีนทั้งหมดราว 6.3 พันล้านเหรียญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศในช่วง ค.ศ. 2010-2015 หรือคิดเป็น 2 ใน 5 ของ GDP ซึ่งในเงินจำนวนนี้ครึ่งหนึ่ง (3.6 พันล้านเหรียญ) ถูกใช้ในโครงการ Mombasa-Nairobi Standard Gauge Railway (SGR) ซึ่งเป็นโครงการสร้างทางรถไฟของเคนย่า โดยหนี้ทั้งหมดนี้ 90% ผู้ให้กู้คือธนาคาร China Exim Bank และการก่อสร้างดำเนินการโดยบริษัทChina Road and Bridge Corporation โดยจีนจะบริหารทางรถไฟนี้จนถึงปี ค.ศ. 2022 แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกได้เตือนว่าทางรถไฟนี้มีค่าดำเนินงานที่สูง และเคนย่าอาจจะตกอยู่ในกับดักหนี้จีนได้ และยังมีปัญหาการดำเนินงานอื่นๆ ที่ทางรถไฟนี้ไม่น่าจะทำกำไรให้รัฐบาลเคนย่าได้
ในการสร้างทางรถไฟนี้รัฐบาลเคนยายังต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 28.8 ล้านเหรียญต่อไตรมาสให้กับผู้ดำเนินการอย่าง Afristar ซึ่งบริษัท China Communications Construction Company เป็นเจ้าของอยู่ด้วย จากการที่ SGR ไม่สามารถทำกำไรได้และค่าดำเนินงานที่สูงทำให้รัฐบาลเคนย่ามีค่าดำเนินงาน 350 ล้านเหรียญที่ติดค้างอยู่ แต่ต่อมาใน ค.ศ. 2021 จีนได้ตัดสินใจเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปให้ 6 เดือนคิดเป็นมูลค่า 245 ล้านเหรียญเพราะรัฐบาลเคนย่าประสบวิกฤตโควิด-19 ถึงแม้จีนจะลดภาระหนี้ตัวนี้ลงผู้เชี่ยวชาญก็ยังกลัวว่าจีนอาจจะยื่นข้อเสนอในการมอบท่าเรือ Mombasa ให้จีนทดแทนการจ่ายเงินคืน แต่ต่อมานักวิชาการได้ชี้ว่ากรณีของเคนย่าอาจเกิด DTD หากผู้กู้ยืมคือบริษัท Kenya Railway Corporation (KRC) แต่ในกรณีนี้ผู้กู้ยืมคือกระทรวงการคลังของเคนย่าเอง (Kenyan National Treasury; KNT) ซึ่ง KNT ได้ออกสัญญากู้เงินให้ KRC อีกทอดหนึ่ง นั่นหมายความว่าบริษัท KRC ที่ดำเนินการในทางรถไฟและเป็นเจ้าของนี้ไม่ได้กู้ยืมเอง และจีนก็ไม่สามารถใช้ DTD กับกระทรวงการคลังของเคนย่าได้ในการยึดเอาทางรถไฟหรือท่าเรือมาใช้แทนหนี้ได้ เพราะ KNT ไม่ได้เป็นเจ้าของทางรถไฟ นอกจากนี้ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าจีนจะได้ประโยชน์อะไรจากการได้ทางรถไฟหรือท่าเรือ ตรงกันข้ามจีนกลับเลื่อนการจ่ายหนี้ให้เคนย่าและต้องการการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเพิ่มเติมในประเด็นการทำกำไรของทางรถไฟด้วย กรณีนี้ของเคนย่านี้จึงมีแค่ว่า เคนย่ารับภาระหนี้หนักเท่านั้น – DTD จึงเป็นแค่เรื่องลวงในเคนย่า
มัลดีฟส์
กรณีของมัลดีฟส์นั้นก็มีการคาดกันว่าจะตกอยู่ในกับดักหนี้จีนเพราะว่ามัลดีฟส์กำลังมีหนี้ที่เมื่อเทียบกับ GDP แล้วกำลังจะเกิน 50% และในจำนวนนี้ 40% เป็นหนี้ของจีนหากโครงการBRI เสร็จเรียบร้อย แต่อย่างไรก็ตามมัลดีฟส์มีหนี้มากอยู่แล้วก่อนที่จีนจะดำเนินการเรื่อง BRIเสียอีก กรณีของมัลดีฟส์อาจมีพิเศษตรงที่ว่าประธานาธิบดี Abdulla Yameen ที่เข้ามาตั้งแต่ ค.ศ. 2013 มีนโยบายที่โน้มเอียงเข้าหาจีนมากขึ้นซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับอินเดียแย่ลง ในช่วงการเป็นประธานาธิบดีของ Yameen (2013-2018) มัลดีฟส์ได้รับเงินจากจีน 1.4 พันล้านเหรียญซึ่งถูกนำไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะสะพานมิตรภาพจีน-มัลดีฟส์ (Sinamalé Bridge) อันเป็นส่วนหนึ่งของ BRI
ต่อมาใน ค.ศ. 2018 Ibrahim Mohamed Solih ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งอินเดียก็สนับสนุนเขาด้วย ดังนั้นโยบายระหว่างปะเทศของ Solih จึงเป็นการตีออกจากจีนและเข้าหาอินเดียมากขึ้น เนื่องจากัลดีฟส์มีหนี้จำนวนมากจึงทำให้ Solih ต้องกลับมาประเมินข้อผูกพันต่างๆ ในโครงการ BRI ใหม่เพราะกลัวในเรื่องหนี้และอธิปไตยที่อาจจะถดถอยลง ในตอนที่เขาเข้ามา มัลดีฟส์มีหนี้ 600 ล้านเหรียญโดยตรงกับรัฐบาลจีน และมีหนี้ที่ถูกค้ำอีก 935 ล้านเหรียญ (Guaranteed loans) หนี้ทั้งหมดของมัลดีฟส์จึงอยู่ที่ 1.5 พันล้านเหรียญ คิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP ซึ่ง Mohammed Nasheed ที่ปรึกษาของ Solih ได้ประมาณว่ายังมีหนี้ที่ถูกค้ำแต่ไม่ได้เปิดเผยอีกซึ่งรวมแล้วทั้งหมดอาจสูงถึง 3 พันล้านเหรียญซึ่งสามารถทำให้มัลดีฟส์ต้องยกสินทรัพย์ให้จีนได้ แต่ Solih ยอมรับเองว่ามีการทุจริตด้วยทำให้หนี้เพิ่มขึ้นมากจึงได้พยายามปรับโครงสร้างหนี้ใหม่กับจีน แต่จีนปฏิเสธเพราะว่าหนี้ทั้งหมดเป็นไปตามข้อตกลง ดังนั้น Solih จึงหันไปรับเงินช่วยเหลือจากอินเดียมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญเพื่อจ่ายคืนให้จีน การที่อินเดียมอบเงินให้จึงอาจถูกเข้าใจได้ว่าทำให้มัลดีฟส์เลี่ยงการตกในกับดักหนี้ได้ แต่ถึงแม้จีนจะปฏิเสธการปรับโครงสร้างหนี้กับมัลดีฟส์ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ว่าจีนจะเอาทรัพย์สินใดๆ จากมัลดีฟส์หรือมีความต้องการที่จะยึดอะไร เพราะมัลดีฟส์ก็ยังมีหนี้ที่ต้องจ่ายอีกราว 117 ล้านเหรียญ ซึ่งจีนอาจจะสามารถยื่นข้อเสนอได้ แต่กลับไม่ปรากฏข้อเสนออะไร – กรณีของมัลดีฟส์จึงเป็นเรื่องลวง
ลาว
ลาวเป็นประเทศที่ได้รับเงินจากจีนจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ลาวไม่สามารถใช้หนี้คืนได้ และ IMF เองก็ได้เตือนลาวด้วยว่าให้ก่อหนี้อย่างพอดี เพราะลาวได้ขอพักชำระหนี้โครงการโครงสร้างพื้นฐานไว้แล้วแม้จะปรับโครงสร้างหนี้จีนก็ยังเป็นเจ้าหนี้ลาวที่ 40% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
ลาวถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศที่จนที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ลาวก็เติบโตขึ้นทุกปี และโดยตรรกะแล้วการเติบโตนี้ก็ทำให้รัฐบาลลาวอยากลงทุนมากขึ้นด้วย โดยหนึ่งในโครงการที่ลาวลงทุนคือทางรถไฟจีนลาว (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) เป็นจำนวนเงิน 6 พันล้านเหรียญซึ่งเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ในจำนวนเงินที่ลงทุนนี้ลาวออก 12% ส่วนอื่นส่วนใหญ่เป็นเงินจากChina Exim Bank (CEB) ซึ่งอยู่ใต้การกำกับของคณะมนตรีของจีน (State Council) โดย CEB ให้กู้ 465 ล้านเหรียญดอกเบี้ยที่ 2.3% ยกเว้นหนี้ 5 ปีแรก และต้องใช้หนี้คืนใน 25 ปี ส่วนหนี้อื่นๆ ก็มาจากผู้ให้กู้จีนอื่นๆ นอกจากนี้จีนยังลงทุนในโครงการอื่นๆ รวม 6.7 พันล้านเหรียญและมีการไกล่เกลี่ยหนี้ลาวให้บางส่วนโดยแลกกับสิทธิในพื้นที่เกษตรกรรมหรือการค้าอื่นๆ ที่จะทำให้คนจีนได้ประโยชน์
แต่กรณีที่น่าสนใจนั้นคือเมื่อ ค.ศ. 2020 กรณีของบริษัท China Southern Power Grid Company (CSG) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (ราว 90%) ในบริษัท Électricité du Laos Transmission Company Limited (EDL-T) ซึ่งรับผิดชอบในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ลาว ซึ่งถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัดนักว่า CSG กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้อย่างไร ซึ่งอาจจะตั้งสมมติฐานได้ว่าเป็นการมอบให้แทนการใช้หนี้เป็นตัวเงิน เหตุผลที่รัฐบาลลาวมอบหุ้นส่วนใหญ่ให้อาจจะเป็นเพราะว่า EDL-T มีหนี้อยู่ 5 พันล้านเหรียญ ต่อมาใน ค.ศ. 2021 ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีของลาวส่งสัญญาณว่าลาวอาจะผิดชำระหนี้ต่างประเทศซึ่งเป็นอีกเหตุการณ์ที่สนับสนุนประเด็นการยกหุ้น EDL-T ให้แทนการชำระตัวเงิน แต่ก็ต้องกล่าวด้วยว่าการตดสินใจเช่นนี้ก็มาจากรัฐบาลลาวที่อ่อนแอและจีนที่มีนโยบายการลงทุนกับสินทรัพย์มากกว่าการให้กู้ยืมเฉยๆ ด้วย และยังมีรายงานกรศึกษาอีกว่าภาคพลังงานของลาวสามารถทำกำไรได้ซึ่งส่งผลประโยชน์ต่อจีนอีกด้วย และจีนเองก็ศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2018 หมายความว่าจีนสนใจใน EDL-T มาก่อนหน้าแล้ว แต่ปัญหาคือการถือหุ้นใน EDL-T ของจีนสามารถกำหนดผู้ซื้อไฟฟ้าและราคาได้
การที่รัฐบาลลาวอ่อนแอและวิธีการของจีนที่ปฏิบัติตามความเป็นจริงจึงไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่าลาวเป็นเหยื่อของจีนอย่างเต็มรูปแบบ เพราะ Nishizawa ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองก็ได้กล่าวว่าคนที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับลาวหรือประเทศอื่นในเอเชียจะพูดว่าจีนเป็นผู้ร้าย แต่การพูดแบบนี้มันง่ายเกินไป แน่นอนว่าจีนมีบทบาทสำคัญกับลาว แต่รัฐบาลลาวตัดสินใจเองในการยกหุ้น EDL-T ให้กับจีน การที่จีนมีนโยบายให้ประเทศที่มีศักยภาพด้านการเงินต่ำกู้เงินและถูกปฏิเสธจากนักลงทุนที่อื่นทำให้จีนต้องรู้อยู่แล้วว่าลาวอาจจะจ่ายคืนไม่ได้ การมอบสิทธิทางเกษตรกรรมและอื่นๆ ก็อาจจะมาจากเรื่องนี้ด้วยแม้ว่าหลักฐานจะยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ดีการมีหุ้นราว 90% ของจีนใน EDL-T ทำให้จีนสามารถมีเสียงอย่างเด็ดขาดในการบริหารได้ซึ่งอาจสร้างปัญหากับลาวได้เพราะจีนสามารถทำให้ลาวไม่มีพลังงานใช้เลยก็ได้หากจีนต้องการ – กรณีของ DTD ในลาวนั้นจึงอาจพูดได้ว่ามีเค้าความเป็นจริงอยู่
ศรีลังกา
ศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่พูดถึงมากที่สุดในเรื่องของ DTD โดยเป็นเรื่องของท่าเรือคัมปุระ (Hambantota port) ซึ่งอยู่ในทางตะวันออกเฉียงใต้ของศรีลังกา จีนกับศรีลังกาเป็นพันธมิตรกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1952 จากการตกลงในเรื่องการค้า หลังจากนั้นเป็นต้นมาจีนก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญสำหรับศรีลังกามากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อศรีลังกาถูกตั้งประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนพวกเขาจึงตีห่างออกจากประเทศตะวันตกและอินเดีย ทำให้ศรีลังกาไปพึ่งพิงอยู่กับจีนมากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์นี้ก็จะเกี่ยวข้องกับการสร้างท่าเรือนี้ด้วย
โปรเจคต์การสร้างท่าเรือนี้มีความเกี่ยวข้องกับนักการเมืองตระกุลราชปักษาอยู่มาก แม้ว่าโครงการนี้จะเริ่มเสนอมาตั้งแต่ ค.ศ. 1970 แต่ว่ามาเริ่มจริงจังกันหลังจาก ค.ศ. 2000 นี้เท่านั้นโดยผู้ดูแลคือ มาฮินดา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของศรีลังกา ในช่วง ค.ศ. 2001 – ค.ศ. 2006 มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการนี้ซึ่งผลคือยังไม่แน่ชัดว่าโครงการนี้จะทำกำไรหรือประโยชน์ได้มากแค่ไหน จากการศึกษาโดย 4 บริษัทมีเพียงบริษัท Rambøll จากเดนมาร์กเท่านั้นที่บอกว่าโครงการท่าเรือนี้สามารถทำได้ นอกจากนี้สถานทูตสหรัฐฯ ยังได้รายงานเรื่องการสร้างท่าเรือนี้ว่าเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า และความร่วมมือในโครงการนี้ก็ต่ำและวุ่นวายมาก สาเหตุก็เพราะว่าตระกูลราชปักษาอยากจะสร้างโครงการใหญ่ๆ ให้สำเร็จเพื่อเพิ่มคะแนนทางการเมืองเพราะที่ตั้งของโครงการนี้เป็นเขตบ้านเกิดของพวกเขาโดยไม่ได้สนใจว่าโครงการจะเป็นจริงได้แค่ไหน
แม้ว่ารัฐบาลหรือตระกูลราชปักษาจะพยายามผลักดันโครงการนี้มากแต่หลายๆ ประเทศก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะลงทุน ไม่ว่าจะสหรัฐฯ อินเดีย หรือธนาคาร Asian Development Bankต่างก็ปฏิเสธทำให้จีนเป็นทางเลือกเดียวที่ศรีลังกามีอยู่ โดยใน ค.ศ. 2007 ธนาคาร Exim Bank ของจีนปล่อยกู้ให้307 ล้านเหรียญ ดอกเบี้ยที่ 6.3% ซึ่งสูงมาก เทียบกับที่อื่นเช่นธนาคาร Asian Development Bank ที่คิดดอกเบี้ยที่ 3% เป็นเพดาน แต่เมื่อได้เงินมาแล้วก็ยังเกิดปัญหาขึ้น คือ การก่อสร้างดำเนินโดยบริษัท ChinaHarbour Engineering Group(CHEG) ถูกให้เร่งก่อสร้างเพราะว่ามาฮินดาอยากให้โครงการเสร็จทันวันเกิด 65 ปีใน ค.ศ. 2010 และเมื่อเปิดท่าเรือก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเลย แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังจะขยายท่าเรือนี้ต่อ โดยใน ค.ศ. 2012 รัฐบาลศรีลังกาได้กู้เงินเพิ่มอีก 757 ล้านเหรียญ ดอกเบี้ยที่ 2%
แม้ว่าจะได้เงินอีกก้อนเข้ามาก็ไม่ได้ทำให้ท่าเรือนี้ดีขึ้นแต่อย่างใด ใน ค.ศ. 2015 การเลือกตั้งที่เกิด มาฮินดา (และราชปักษา) จึงถูกมองในแง่ลบมากจากโครงการนี้ รวมไปถึงความสัมพันธ์กับจีนที่ตระกูลราชปักษาค่อนข้างใกล้ชิดด้วยถึงขนาดที่บางแห่งถึงกับกล่าวว่าจีนให้เงินสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ดีมาฮินดาแพ้การเลือกตั้งให้กับ Maithripala Sirisena ซึ่งเขาได้เข้ามาจัดการสถานการณ์ทางการเงินโดยให้บริษัทจีน CMPort เช่าท่าเรือ 99 ปี โดยจีนจ่ายเงินให้ศรีลังกา 1.12 พันล้านเหรียญ และมีหุ้น 70% ในท่าเรือนี้ใน ค.ศ. 2017 การให้จีนเช่าท่าเรือ 99 ปีนี้ทำให้เกิดการพูดถึงการทูตกับดักหนี้ขึ้นดังที่กล่าวไปตอนต้น
ทั้งนี้ต้องพดให้ชัดด้วยว่าศรีลังกามีปัญหาในการจัดการหนี้ของตัวเองมาตั้งแต่ต้น ใน ค.ศ. 2017 หนี้ต่างประเทศศรีลังกา 39% คือหนี้ด้านการค้า โดยหนี้ที่ศรีลังกามีกับจีนคิดเป็น 10% เท่านั้นซึ่งน้อยกว่าหนี้กับญี่ปุ่นและธนาคาร Asian Development Bank ด้วยซ้ำ และการจ่ายหนี้การค้านั้นไม่ได้มีระยะเวลาในการจ่ายคืนนานเท่ากับหนี้ที่ไม่ใช่การค้า และเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายคืนก็ต้องจ่ายเป็นก้อนเดียวทำให้ศรีลังกามีปัญหาตรงนี้ ดังนั้นศรีลังกาจึงต้องหาเงินมาใช้หนี้ตรงนี้ซึ่งทำให้ศรีลังกาต้องไปกู้เงินจากจีน แต่การกู้เงินมานี้ศรีลังกากลับไม่ได้เอาไปจ่ายหนี้ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือ แต่เอาไปจ่ายหนี้ที่มีมูลค่าสูงกว่าซึ่งก็คือไปจ่ายประเทศตะวันตก แน่นอนว่าเงินที่กู้มานี้ศรีลังกาก็ต้องจ่ายคืนจีนด้วย
เรื่องของการเป็นเจ้าของท่าเรือนั้น แม้ว่า CMPort จะถือหุ้นส่วนใหญ่ แต่ศรีลังกายังเป็นเจ้าของที่แท้จริงอยู่ เรือนาวีของจีนไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ท่าเรือนี้ CMPort ทำเพียงแค่เรื่องการรับประกันความปลอดภัยของท่าเรือเท่านั้น แต่ทั้งนี้จีนก็ไม่ได้จะบริสุทธิ์จากความยากลำบากของศรีลังกาเสียทีเดียวเพราะการที่จีนปล่อยกู้ให้กับโครงการที่อาจจะไม่ยั่งยืนหลายโครงการ ไม่ใช่แค่กับศรีลังกาแต่กับประเทศอื่นด้วย และการที่ระยะการเช่าท่าเรือนี้อยู่ที่ 99 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากทั้งที่มีทางอื่นที่จีนสามารถได้ประโยชน์และช่วยศรีลังกาได้ในขณะเดียวกัน การกระทำของจีนในกรณีของศรีลังกาจึงทำให้เกิดคำถามขึ้นและทำให้นักการเมืองไม่พอใจเช่นเดียวกัน – อย่างไรก็ดียังไม่มีอะไรที่ชี้ว่าจีนตั้งใจจะฮุบสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์มาตั้งแต่ต้น กรณีนี้จึงยังเป็นเรื่องของการจ่ายหนี้คืนอยู่
มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกยกขึ้นมากล่าวว่าตกอยู่ในกับดักหนี้ของจีน เรื่องเกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของมาเลเซีย Lim Guan Eng ใน ค.ศ. 2018 ออกมาพูดว่ามาเลเซียต้องการจะหลีกเลี่ยงการตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกับศรีลังกา และมหาเธร์ โมฮัมหมัด ก็สนับสนุนในเรื่องนี้ด้วย โดยเขายังได้กล่าวเตือนฟิลิปปินส์ในเรื่องอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นผ่านการให้กู้ยืมซึ่งอาจทำให้ติดกับดักหนี้ได้
จีนแม้จะลงทุนหลายโรงการในมาเลเซีย แต่โครงการที่ลงทุนนั้นเป็นโครงการพาณิชย์ และหลายโครงการก็มาก่อน BRI ด้วย เรื่องกับดักหนี้ในมาเลเซียจึงมีอยู่สองเรื่องคือกองทุน 1MDB และ ECRL โดย 1MDB คือกองทุนที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งขึ้นใน ค.ศ. 2009 โดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง Najib Razak เพื่อนำไปลงทุนสร้างการเติบโตให้ประเทศ โดย Razak ยังนั่งเป็นประธานบอร์ดอีกด้วย แต่กองทุนนี้ไม่ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนัก เพราะมีหนี้ถึง 1.27 หมื่นล้านเหรียญ และเงินยังถูกไซฟ่อนออกไปเข้ากระเป๋าผู้มีอำนาจอีกด้วย โดยประมาณกันว่าน่าจะมีเงินอย่างน้อยๆ 4.5 พันล้านเหรียญที่ถูกดึงออกไป ดังนั้นเพื่อจัดการหนี้ก้อนใหญ่นี้ Razak จึงขอให้จีนช่วยด้วยการยื่นสัญญาการทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้ และเมื่อหนี้ก้อนโตขนาดนี้ สัญญาต่างๆ ก็ย่อมใหญ่โตและมากขึ้นไปด้วย
เมื่อคดีของ 1MDB จบไปแล้ว แต่สัญญาที่ทำไว้กับจีนก็ยังอยู่ แต่สัญญาโครงการที่ใหญ่ที่สุดคือการสร้างทางรถไฟ East Coast Rail Link (ECRL) ซึ่งถูกคิดกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1981 โดยใน ค.ศ. 2009 ผลการศึกษาความเป็นไปได้ชี้ว่าโครงการนี้จะต้องใช้เงิน 2.9 หมื่นล้านริงกิต แต่ใน ค.ศ. 2015 อีกการศึกษาหนึ่งกล่าวว่าต้องใช้เงิน 4.7 หมื่นล้านริงกิต ในปีถัดมาโครงการนี้ถูกอนุมัติเพื่อนำเงินไปใช้หนี้ในโครงการ 1MDB โดยการก่อสร้างเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 2017 แต่ถูกระงับไว้ชั่วคราวเพราะมีงบไม่พอในการก่อสร้าง เมื่อการเลือกตั้งครั้งใหม่มาถึงและมหาเธร์เป็นผู้ชนะ เขาก็ได้พูดถึงโครงการนี้ด้วย ในตอนแรกเขาคิดว่าจะพับโครงการนี้ไปเพราะต้องใช้ทุนก่อสร้างมาก แต่อย่างไรก็ดีมหาเธร์เลือกที่จะไปเจรจากับจีนแทนเพราะหากยกเลิกก็ต้องจ่ายค่าผิดสัญญา 5 พันล้านเหรียญและการพยายามรักษามิตรภาพกับจีนเอาไว้เพราะจีนก็เป็นคู่ค้าใหญ่ของมาเลเซีย เมื่อตกลงกันได้ทำให้ต้นทุนในโครงการนี้ลดลงไป 1 ใน 3 โดย ECRL จะแบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างมาเลเซียกับจีนที่ 50-50 แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของทางรถไฟนี้ยังเป็นมาเลเซีย – กรณีของมาเลเซียจึงไม่พบเรื่องกับดักหนี้อย่างที่เชื่อ
จิบูตี
จิบูตีนั้นเป็นประเทศที่มีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์สำคัญที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากหลายชาติได้ จีนเองก็ได้มาลงทุนในจิบูตีผ่านโครงการ BRI นี้ด้วยและทั้งสองประเทศก็ได้ตกลงกันในการความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ จีนได้ทำหลายโครงการในจิบูตี หนึ่งในนั้นคือโครงการท่าเรือ Doraleh Multipurpose Port ซึ่งจะมีทางรถไฟที่เชื่อมจิบูตีกับเอธิโอเปียและเขตการค้าเสรีของจิบูตีเอง โครงการนี้จีนเป็นผู้ให้กู้ยืมดังนั้นจึงทำให้เกิดความวิตกกันว่าจิบูตีเองก็จะตกอยู่ในกับดักหนี้ไปกับเขาด้วย เพราะหนี้ของจิบูตีนั้นเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 2013 ซึ่งสอดคล้องกับการเริ่มต้นของ BRI โดยใน ค.ศ. 2013 หนี้เมื่อเทียบกับ GNI ของจิบูคีอยู่ที่ 39% แต่ 6 ปีหลังจากนั้นเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 79% โดยหนี้ที่จิบูตีมีกับจีนนั้นเพิ่มไปอยู่ที่ 75% ต่อ GDP
ในกรณีของจิบูตีนั้นมีเรื่องของสถานีบนท่าเรือ Doraleh Container Terminal (DCT) ที่เดิมทีถูกบริหารโดยบริษัท DP World ของดูไบ แต่ใน ค.ศ. 2018 รัฐบาลจิบูตีตัดสินใจนำหุ้นของ DP World ซึ่งคิดเป็น 33% กลับมาทำให้การดำเนินงานของ DP World ต้องยุติลง ทำให้ DP World ดำเนินการในทางกฎหมายต่อไปเพราะพวกเขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่ใน DCT นี้ยังมีบริษัทจีนอย่าง China Merchants Ports ถือหุ้นอยู่ด้วยที่ 23.5% ทำให้มีการกังวลกันถึงอนาคตของ DCT เพราะอาจจะถูกใช้เป็น equity-to-swap ในการใช้หนี้ได้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ชี้ไปในทิศทางนั้น และถึงแม้จิบูติจะมีหนี้เยอะก็จริงแต่ยังไม่มีการมอบอะไรให้เพื่อจ่ายหนี้แทนตัวเงิน โครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดยังคงเป็นของรัฐบาล และ Aboubaker Omar Hadi ผู้เป็นประธานของท่าเรือและเขตการค้าเสรีของจิบูตีกล่าวอีกด้วยว่ารัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เสมอ และท่าเรือก็สามารถทำเงินได้จึงไม่มีปัญหาในการใช้หนี้คืน – กรณีของจิบูตีนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องกับดักหนี้
—–
จากหลายประเทศที่ยกมาข้างต้นนี้เราสามารถพูดได้ว่าจีนไม่เคยหลีกเลี่ยงที่จะใช้พลังทางการเงินของตัวเองไม่ว่าจะผ่านการให้การกู้ยืมหรือเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ โดยไม่ได้สนใจในประเด็นอย่างสิทธิมนุษยชนหรือความรับผิดชอบทางการคลังของประเทศปลายทางอันเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศตะวันตกให้น้ำหนัก และจีนเองก็น่าจะรู้ถึงศักยภาพในการจ่ายคืนของประเทศเหล่านี้อยู่แล้วแต่จีนก็ดูจะไม่ใส่ใจมากนัก
ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับ DTD ก็ไม่พบว่าจีนมีความตั้งใจแต่แรกในการเข้าไปฮุบสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ต่างๆ ในประเทศปลายทาง และบางครั้งจีนก็กระทำการตรงข้ามด้วย เช่น การเลื่อนการจ่ายหนี้กับเคนย่า หรือลดต้นทุนการก่อสร้างในมาเลเซียลงหนึ่งในสาม ซึ่งจีนสามารถเรียกร้องเอาสินทรัพย์ก็ได้แต่กลายเป็นว่าจีนไม่ได้เรียกร้อง จีนจึงแค่ทำสิ่งที่นักการเมืองหรือรัฐบาลอื่นก็จะทำเหมือนกันหากมีโอกาสเท่านั้น เพราะประเทศปลายทางก็ขอกู้ยืมเพราะเหตุผลทางการเมืองกันทั้งสิ้น แต่บางประเทศก็กู้เพราะว่าจีนเป็นตัวเลือกที่ง่ายและสะดวกที่สุด ดังที่ Aboubaker Omar Hadi กล่าวว่าจีนมีทัศนคติที่แตกต่างออกไป เพราะจีนเชื่อในแอฟริกา ดังนั้นประเทศที่กู้ยืมจึงไม่ใช่เป็นเหยื่อของจีนแบบง่ายๆ ดังที่เข้าใจ แต่เป็นเสมือนผู้กระทำความผิดร่วมกันเสียมากกว่า ความผิดที่สถานการณ์การเงินของประเทศปลายทางไม่ได้เกิดขึ้นเพราะจีนถ่ายเดียว เมื่อประกอบกับที่จีน “โนสนโนแคร์” กับสถานะของประเทศที่กู้แล้ว จึงทำให้เกิดสภาวะการเงินที่ตึงเครียดของประเทศปลายทางได้ การที่มีปัญหาหนี้จึงไม่เท่ากับ DTD ในตัวมันเอง
กรณีของ DTD ที่มีเค้าความเป็นจริง (มอบสินทรัพย์แทนเงิน) มีกรณีเดียวที่ยกมาคือประเทศลาวที่จีนสามารถควบคุมบริษัท EDL-T ได้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ดีการศึกษาเรื่อง DTD ยังต้องการการเติมเต็มอีกมาก เพราะนี่เป็นเพียงแค่มุมมองในเชิงวัตถุเท่านั้น จีนอาจจะมีอิทธิพลทางด้านอื่นๆ อีกก็ได้ และอาจจะเสริมมุมมองของ DTD ให้สมบูรณ์ขึ้นอีกก็ได้เช่นกันเพื่อหลีกเลี่ยงการอธิบายอย่างลดทอนและสรุปง่ายๆ อย่างเกินไป
อ้างอิง :
[1] เรียบเรียงจาก Michal Himmer and Zdeněk Rod, “Chinese debt trap diplomacy: reality or myth?,” Journal of the Indian Ocean Region Vol. 18 No. 3 (2022): 250-272.