‘ปัตตานี’ อยู่ภายใต้การปกครองของสยามอย่างถูกต้องมาแต่โบราณ

ทุกวันนี้มักจะมีคนชอบออกมาให้ข้อมูลว่าในสมัยก่อนเมืองปัตตานีเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงกับสยาม จนมาถึงช่วงปฏิรูปประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนที่มีการทำสนธิสัญญาแองโกล-สยาม ในปี ค.ศ. 1909 (2452) ที่สยามได้ยก ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้กับอังกฤษ และให้อังกฤษรับรองอธิปไตยของสยามเหนือปัตตานี​ ทำให้ปัตตานีตกอยู่ภายใต้อำนาจของสยามตั้งแต่นั้นมา

รู้ไหมครับว่านี่เป็น “ข้อมูลเท็จ” ทางประวัติศาสตร์ ที่คนบางกลุ่มพยายามสร้างขึ้น และพยายามโจมตีด้วยว่าเป็นการล่าอาณานิคมภายในของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5

เพราะตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ปัตตานีอยู่ภายใต้การปกครองของสยามมาแต่โบราณแล้ว ซึ่งวันนี้ ฤๅ จะขอนำเสนอในประเด็นดังกล่าว รวมถึงเรื่องที่ว่าทำไมสยามจึงไม่ปล่อยให้ปัตตานีไปอยู่กับอังกฤษ

เหตุผลที่ว่าทำไมสยามยอมเสียไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู แต่ไม่ยอมแยกมณฑลปัตตานีออกไปรวมกับอังกฤษนั้น เป็นเรื่องที่หาคำตอบได้ไม่ยาก ซึ่งเอกสารทั้งไทยและอังกฤษก็พูดถึงตรงกันในประเด็นนี้ แต่ก็มีนักวิชาการหน้าใหม่บางคนที่ไม่ค่อยอ่านเอกสารชั้นต้น แล้วไปตีความฟุ้งซ่านเอาเอง ทำให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอย่างมาก

ควรต้องมาเริ่มต้นกันก่อนว่า มณฑลปัตตานีที่ว่านี้ ประกอบด้วย เมืองหนองจิก ยะหริ่ง ยะลา ปัตตานี รามันห์ ระแงะ และสายบุรี 7 หัวเมืองเหล่านี้เป็นของสยามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นอย่างน้อย ยังไม่นับรวมช่วงที่ปัตตานีสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยามาเกือบตลอดด้วย เรื่องนี้แม้แต่บันทึกของชาวต่างชาติก็ยังเรียกกษัตริย์ผู้หญิงของปัตตานีในสมัยอยุธยาว่า ‘นาจายัง’ ซึ่งก็คือคำไทยแท้ๆ ที่มาจากคำว่า ‘นางเจ้าหญิง’ ยิ่งกว่านั้น พงศาวดารของราชสำนักปัตตานี หรือ ฮิกายัตปะตานี ก็ยืนยันเรื่องที่ปัตตานีภักดีต่อสยามด้วย หมายความว่าปัตตานียอมรับอิทธิพลที่เหนือกว่าของสยามมาโดยตลอด

ก่อนที่จะมีการแบ่ง 7 หัวเมืองทางภาคใต้สมัยรัชกาลที่ 2 นั้น จริงๆ อาณาจักรปัตตานีก็ไม่ได้กว้างใหญ่อย่างที่เข้าใจกัน ถ้าเอา 7 หัวเมืองนี้มากางลงแผนที่จะพบว่า ในสมัยรัชกาลที่ 2 สยามตั้งเมืองใหม่ขึ้นมาถึง 2 เมืองก็คือ หนองจิก และยะลา ส่วนเมืองปัตตานีเดิมนั้น ประกอบด้วยเมืองปัตตานีในฐานะเมืองหลวง เมืองสายบุรีในฐานะเมืองเอกที่เจ้าเมืองปัตตานีจะส่งเสนาบดีไปปกครอง เมืองยะหริ่งเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเลที่ปกครองโดยขุนนางยศต่ำลงมา ส่วนรามันห์และระแงะ จริง ๆ 2 เมืองหลังนี้เป็นเมืองที่ขุนนางท้องถิ่นปัตตานีแอบประกาศอิสรภาพจากสุลต่านมูฮัมหมัดของปัตตานีในช่วงสุดท้ายก่อนที่รัชกาลที่ 1 จะตีปัตตานีแตกจนเสียเอกราช

หากพูดให้ชัดๆ เลยก็คือ เมืองปัตตานีโบราณแท้ๆ มีอาณาเขตเพียงแค่ริมฝั่งทะเลตะวันออกเท่านั้น ไม่นับรวมดินแดนที่ลึกลงไปในแผ่นดินซึ่งเป็นเมืองที่สยาม ‘คิดค้นและสร้างขึ้นใหม่’แล้วจึงให้ขุนนางท้องถิ่นปกครองผ่านการกำกับดูแลจากเจ้าเมืองสงขลาอีกที การผนวกและปกครองในลักษณะนี้ คือ annexation ซึ่งในกรณีของปัตตานีนี้ นอกจากสยามจะผนวกรวมของเดิมแล้วยังตั้งขึ้นมาเพิ่มอีกต่างหาก

เรียกได้ว่าสยามปกครอง 7 หัวเมืองปัตตานีอย่างเด็ดขาดในฐานะ province หรือ จังหวัด มานานแล้ว แม้กระทั่งเชื้อสายของรายาหรือเจ้าเมือง อำนาจแต่งตั้งก็มาจากสยามที่มีการกลั่นกรองอย่างละเอียดเข้มข้นถึง 2 ชั้น คือจากเจ้าเมืองสงขลาชั้นหนึ่ง ก่อนจะส่งมาให้ทางกรุงเทพฯ พิจารณาเห็นชอบเป็นด่านสุดท้าย แม้กระทั่งรายาปัตตานีคนสุดท้าย นั่นก็คือ อับดุล กาเดร์ กามารุดดิน ต้นตระกูลก็ไม่ใช่เชื้อสายปัตตานีเดิม แต่เป็นราชวงศ์กลันตันที่แพ้ภัยการเมืองในบ้านเมืองตัวเอง แต่รัชกาลที่ 3 ท่านทรงกรุณาสงสารจึงให้ย้ายมาปกครองปัตตานี โดยลดตำแหน่งให้เป็นแค่รายาแทน ไม่ใช่สุลต่าน ซึ่งรายา 7 หัวเมืองในปัตตานีทุกคนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเป็นต้นมา ไม่มีใครที่มีฐานะเป็นสุลต่านเลย เพราะสุลต่านนั้นยศสูงกว่ารายา ในทางรัฐศาสตร์แล้วเทียบเท่ากับกษัตริย์เลยก็ว่าได้ และสยามให้คงมีสุลต่านไว้เฉพาะ ตรังกานู กลันตัน และไทรบุรี ซึ่งในเวลานั้นมีฐานะเป็นหัวเมืองแขกชั้นนอกที่มีอิสระกว่าปัตตานีอย่างแท้จริง

สำหรับกรณีการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ อังกฤษเองก็ยอมรับเรื่องสิทธิการปกครองอย่างชอบธรรมของสยามเหนือ 7 หัวเมืองเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว โดยในเอกสาร “สนธิสัญญาเบอร์นี” นั้น เฮนรี เบอร์นี ทูตอังกฤษก็ย้ำอย่างชัดเจนว่า ปัตตานีเป็นของสยามอย่างแท้จริง และอังกฤษจะไม่พยายามสร้างอิทธิพลเหนือปัตตานีทั้ง 7 หัวเมือง ซึ่งต่อมา 7 หัวเมืองปัตตานีก็ถูกตัดออกจากการเจรจาเขตแดนทุกรอบมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ

การบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแบบนี้ เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนเคารพอธิปไตยของสยามเหนือดินแดนปัตตานีมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 หรือ พ.ศ. 2369 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะมารับรองอำนาจสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามที่มีการเข้าใจกันแบบผิดๆ อยู่ในทุกวันนี้ และแนวปฏิบัติเรื่องการรับรองปัตตานีอยู่ใต้การปกครองของสยาม ก็ส่งผลต่อธรรมเนียมทางการทูตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จนถึง รัชกาลที่ 5 เลยทีเดียว

ส่วนกรณีของเมืองไทรบุรี ตรังกานู และกลันตัน ที่ตกเป็นของอังกฤษนั้น ทางรัฐบาลอังกฤษได้ตั้งข้อสงสัยว่าสยามอาจไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดอย่างแท้จริงต่อเมืองเหล่านี้ ตามที่เบอร์นีได้ตั้งข้อสังเกตไว้ และปัญหาการพยายามอ้างเพื่อเอาดินแดนเหล่านี้มาเป็นของอังกฤษ ได้เริ่มขึ้นในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปร์พร้อมกับพวกนักธุรกิจชาวอังกฤษบางกลุ่ม ได้พยายามยุแหย่ให้ทางลอนดอนอ้างสิทธิ์เพื่อครอบครองดินแดนมลายูที่อยู่ภายใต้การปกครองของสยาม ด้วยวิธีการนำเอาผลประโยชน์และเกียรติภูมิของจักรวรรดิมาอ้าง ทำให้ลัทธิการล่าอาณานิคมในคาบสมุทรมลายูกลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนพยายามคัดค้านไม่ให้มีการทำสงครามหรือเอาดินแดนใดๆ เพิ่ม แต่หลังจากที่กองทัพจักรวรรดิอังกฤษทำสงครามกับชาวบัวร์ในแอฟริกาใต้จนได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 1902  ความคลั่งไคล้ในลัทธิอาณานิคมก็กลับมาอีกครั้งอย่างมีนัยสำคัญ

และกรณีการเสีย ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้กับอังกฤษ จริงๆ แล้วรัฐบาลสยามก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือดินแดนเหล่านี้อย่างแท้จริง ซึ่งกิจการภายในของเมืองเหล่านี้ สยามเข้าไปมีส่วนร่วมน้อยมากถ้าเทียบกับปัตตานี และที่สำคัญ การปกครองของไทรบุรี กลันตัน และตรังกานู ยังคงมีระบอบสุลต่าน ทำให้ชนชั้นนำท้องถิ่นของเมืองเหล่านี้ยังคงมีอำนาจมากอยู่ ซึ่งใน 7 หัวเมืองปัตตานีนั้น การปกครองในระบอบสุลต่านได้ล้มเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยเหลือแต่รายาหรือเจ้าเมืองที่ทำหน้าที่เป็นข้าราชการของสยามเท่านั้น

และด้วยเหตุผลที่ว่า 7 หัวเมืองปัตตานีมีฐานะเป็นจังหวัดที่สยามปกครองโดยตรงมานานมาก ไม่ใช่เมืองแขกประเทศราชอย่าง ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานู ที่รัชกาลที่ 5 ทรงได้รับการสืบทอดมาจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อน ๆ และเมืองในกลุ่มหลังก็มีอิสระพอสมควรในการปกครองตนเอง ดังนั้น สถานะของเมืองทั้ง 2 ประเภทนี้ในแง่ของการเอามาเจรจาทางการทูตกับอังกฤษจึงแตกต่างกันอย่างมาก เมืองจำพวกแรก คือ ปัตตานี เราถือว่าเป็นเขตแดนของสยามร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนเมืองในจำพวกหลังนั้นแม้รัฐบาลสยามจะทุ่มงบประมาณและกำลังคนในการพัฒนาไปบ้างแล้ว แต่ก็เรียกได้ว่าอำนาจในการบริหารบ้านเมืองของสยามนั้นไม่เต็มไม้เต็มมือถ้าเทียบกับสุลต่านของเมืองนั้นๆ

นี่ถือเป็นจุดยืนที่หนักแน่นของรัฐบาลสยามในเวลานั้น เพราะทุกครั้งที่มีการเจรจาเขตแดน ถ้าอังกฤษมีการยกประเด็นปัตตานีมาเกี่ยวข้องเมื่อไหร่ ทางรัฐบาลสยามจะยืนกรานเด็ดขาดว่าไม่เจรจาด้วย และจากนโยบายที่หนักแน่นของสยาม รวมถึงพระอัจฉริยภาพของเจ้านายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเจรจาเขตแดนทุกพระองค์และทุกท่าน ทำให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงจังหวัดสตูล ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในฐานะด้ามขวานทองมาจนถึงปัจจุบัน

ก็น่าคิดเหมือนกันว่า หากวันนั้นรัฐบาลสยามไม่หนักแน่นพอหรือยอมจำนนต่ออำนาจทางการทูต โฉมหน้าประเทศไทยในทุกวันนี้อาจจะมีหน้าตาที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมก็เป็นได้

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า