Absolutist ‘รอยัลลิสต์หลงยุค’ ที่รังแต่จะทำร้ายสถาบันฯ โดยที่คุณไม่รู้ตัว
หากพูดถึง รอยัลลิสต์ (Royalist) หรือพวกนิยมเจ้า คนทั่วไปมักคิดว่าหมายถึง กลุ่มบุคคลเดียวกันที่มีความคิดจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ที่จริงแล้ว รอยัลลิสต์ตามความหมายสากลหาใช่กลุ่มบุคคลเดียวกันทั้งหมดไม่ หากแต่สามารถแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มก็มีทัศนะ แนวคิด และจุดมุ่งหมายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
สถานการณ์ที่จะทำให้เกิดการแบ่งกลุ่มระหว่าง ‘รอยัลลิสต์’ กับ ‘กลุ่มอื่น ๆ’ ได้นั้น ต้องเกิดขึ้นในประเทศที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างกลุ่มหนึ่งที่ยึดโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับกลุ่มฝ่ายตรงข้าม เช่น สถานการณ์ของประเทศอังกฤษในช่วงสงครามกลางเมืองและยุคสาธารณรัฐของครอมเวลล์ ระหว่างฝ่าย ‘รอยัลลิสต์’ (นิยมคาทอลิค) กับ ‘ฝ่ายรัฐสภา’ (นิยมโปรแตสแตนท์)
ส่วนในอเมริกาเอง ปรากฏว่ามีทั้งฝ่ายสนับสนุนปฏิวัติที่เป็น ‘รอยัลลิสต์’ และฝ่าย ‘รอยัลลิสต์’ที่สนับสนุนกองทัพอังกฤษ กับฝ่าย ‘ผู้รักชาติบ้านเมือง’ สุดท้ายเหตุการณ์จบลงที่ฝ่าย ‘รอยัลลิสต์’ ต้องอพยพกันขนานใหญ่ไปแคนาดา เหตุจากการแพ้สงคราม
จึงกล่าวได้ว่าสถานการณ์ที่จะทำให้เกิดการสถาปนากลุ่ม ‘รอยัลลิสต์’ ขึ้นมาได้นั้น โดยมากมักจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติตามวิสัยคนที่ยังนิยมชมชอบและศรัทธาต่อสถาบันฯ อยู่แล้ว และมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง สำหรับประเทศไทย การเกิดขึ้นของ ‘รอยัลลิสต์’ สามารถย้อนกลับไปได้เพียงแค่ช่วง พ.ศ.2475 ภายหลังจากที่คณะราษฎรได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรถูกเรียกว่า ‘คณะเจ้า’ หรือ ‘พวกนิยมเจ้า’ ซึ่งก็คือ ‘รอยัลลิสต์’ ในความหมายเดียวกับประเทศอื่น ๆ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในกรณีของไทยนั้นบางครั้งฝ่ายขุนนางและเจ้านายก็ยังถูกนับรวมเป็น ‘รอยัลลิสต์’ด้วย จึงสะท้อนให้เห็นว่านิยามของ ‘รอยัลลิสต์’ ในยุคต้นประชาธิปไตยของไทยหาได้ลงตัวเหมือนกับฝั่งโลกตะวันตกไม่
แม้จะมีความแตกต่างกันในเรื่องมิติและความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ไม่ว่าจะตัดสินจากฝั่งโลกตะวันตกหรือจากฝั่งไทย ‘รอยัลลิสต์’ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีความคาดหวังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะที่แตกต่างกันไป
โดยกลุ่มแรกคือ ‘ฝ่ายนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (Absolutist) หรือผู้ที่เชื่อว่าระบอบการปกครองที่ดีที่สุดจะต้องกระทำโดยการมอบอำนาจให้แก่คน ๆ เดียวเป็นผู้ปกครอง นั่นคือ พระมหากษัตริย์ ฝ่ายนี้ไม่เชื่อว่าสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น รัฐสภาหรือพรรคการเมือง จะสามารถปกครองประชาชนให้อยู่ดีกินดีได้
ในอดีตประเทศอังกฤษ ฝ่าย ‘รอยัลลิสต์’ ในระยะแรกถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้ กล่าวคือ พวกเขาเชื่อว่ากษัตริย์ชาร์ลที่ 1 แห่งราชวงศ์สจ๊วต เป็นผู้ที่มีอำนาจชอบธรรมในการปกครองอังกฤษ ซึ่งพระองค์เองก็มองว่าทรงได้รับการมอบพระราชอำนาจนี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ภายหลังจากที่ทรงถูกประหารชีวิตโดยฝ่ายรัฐสภา อังกฤษถูกปกครองด้วยระบอบทรราชย์รัฐสภาอยู่ช่วงหนึ่ง คนอังกฤษเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะต้องมีการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่ จึงได้ทูลเชิญพระโอรสของกษัตริย์องค์ก่อนกลับมาครองราชย์อีกครั้ง
ในเวลาแห่งการรื้อฟื้นราชประเพณีนี้เอง ‘รอยัลลิสต์’ ได้เริ่มแตกออกเป็น 2 กลุ่ม ในขณะที่กลุ่มแรกสนับสนุนอำนาจเทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ กลุ่มที่ 2 คือ ‘ฝ่ายวิก’ (Whigs) ได้แก่ กลุ่มที่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ กลับเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องการให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด แต่จะต้องทรงอ้างกฎหมายและรัฐธรรมนูญในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น
ส่วนเรื่องงบประมาณและการตรากฎหมายนั้น เห็นควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาไม่ใช่หน้าที่ของกษัตริย์อีกต่อไป นั่นคือยังเชื่อว่าอำนาจเป็นของปวงชนผ่านรัฐธรรมนูญ หาใช่อำนาจเทวสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้าแต่อย่างใด สรุปสั้น ๆ ได้ว่า ‘ฝ่ายวิก’ คือ ‘รอยัลลิสต์’ ที่สนับสนุน‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ นั่นเอง
อุดมการณ์ในการปกป้องระบอบ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ของ ‘ฝ่ายวิก’ นั้นมีความชัดเจนและเข้มข้นมาก ในช่วงที่กษัตริย์เจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษพยายามจะกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหมือนยุคชาร์ลที่1 โดยมีรอยัลลิสต์ ‘ฝ่ายนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ (Absolutist) เป็นผู้สนับสนุนนั้น ‘ฝ่ายวิก’ ซึ่งแม้จะเป็นรอยัลลิสต์และนิยมกษัตริย์กลับร่วมมือกับ ‘ฝ่ายทอรี่’ (Tory) ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยมในรัฐสภาอังกฤษ ร่วมมือกันทูลเชิญเจ้าชายวิลเลี่ยมแห่งออเรจน์ ประเทศเนเธอแลนด์ให้เข้ามาเป็นพระมหากษัตริย์อังกฤษตามรัฐธรรมนูญแทนกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ซึ่งทรงต้องการมีเทวสิทธิ์เด็ดขาดและต่อต้านรัฐสภา สุดท้ายกษัตริย์เจมส์ที่ 2 ต้องยอมแพ้และลี้ภัยออกไปโดยปราศจากการต่อสู้
จึงเห็นได้ชัดว่า ‘รอยัลลิสต์’ เองก็ใช่ว่าจะเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะแต่ละกลุ่มต่างมีอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นของตนเอง สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองของไทยนั้น ‘รอยัลลิสต์’ นับตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมา ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ฝ่ายวิก’ แทบทั้งสิ้น การแสดงออกที่ชัดเจนถึงความเป็น ‘ฝ่ายวิก’ ได้แก่ กบฏบวรเดช พ.ศ.2476 ซึ่ง 6 ข้อเรียกร้องของฝ่ายกบฏสะท้อนถึงอุดมการณ์ทางการเมืองแบบ ‘ฝ่ายวิก’ อย่างเต็มที่
ดังนั้น ใครก็ตามที่บอกว่า ‘กบฏบวรเดช’ เป็น ‘ฝ่ายนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ จึงเป็นความเท็จ เพราะปัจจุบันเรายังไม่พบหลักฐานหรือเอกสารชุดใดที่สามารถระบุได้ว่า ‘กบฏบวรเดช’ ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองให้กลับไปใช้รูปแบบเดิมก่อนการปฏิวัติ 2475 ซึ่งหากแม้นมีความคิดเช่นนั้นจริง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า นอกจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จะไม่ทรงสนับสนุนการกบฏแล้ว หากฝ่ายกบฏทำการปฏิวัติสำเร็จจริง ก็ทรงไม่ยินยอมที่จะกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแน่นอน
เนื่องจากรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นชอบแล้วว่าสยามในเวลานั้นถึงกาลสมควรที่จะต้องปกครองแบบ ‘ราชาธิปไตยอำนาจจำกัด’ หรือ ‘ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองใหม่ จากเดิมที่พระมหากษัตริย์จะต้องทำหน้าที่ทั้งประมุขแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนมาเป็นให้ทรงหน้าที่เป็นประมุขเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ยกให้บุคลอื่นทำหน้าที่แทน และเป็นการทำให้พระองค์อยู่เหนือการเมืองและคำติฉินจากการบริหารจัดการรัฐเฉกเช่นในระบอบเก่า
ผู้ใดก็ตามที่สนับสนุน ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ หรือต้องการให้มีการเพิ่มพระราชอำนาจ(prerogative) ในการบริหารจัดการรัฐแก่พระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นบุคคลที่กำลังทำลาย ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ เพราะเท่ากับว่าแทนที่จะช่วยแบ่งเบาภาระของพระองค์ กลับต้องการให้พระองค์รับภาระเพิ่มมากขึ้นโดยมิจำเป็น และทรงจะรอดพ้นจากข้อครหามิได้หากทรงบริหารผิดพลาดหรือโดยใส่ร้ายมา
ประเทศไทยนั้นหมดเวลาของ ‘รอยัลลิสต์’ ที่เป็น ‘ฝ่ายนิยมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ แล้ว ใครก็ตามที่อ้างว่าภักดีต่อสถาบันฯ ควรสนับสนุน ‘รอยัลลิสต์’ ในรูปแบบ ‘วิก’ เพื่อให้เหมาะสมต่อประเพณีการปกครอง มิใช่เรียกร้องให้ทวนเข็มนาฬิกากลับไปสู่ระบอบเก่าที่ทั้งโลกเห็นว่าเป็นรูปแบบที่ล้าสมัยไปแล้ว
ฤา เชื่อมั่นใน ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นการอยู่ร่วมกันได้อย่างทันสมัย และไม่เป็นปัญหาระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากระบอบการปกครองนี้มีเสถียรภาพมากที่สุด และเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถธำรงรักษาสถาบันหลักของชาติได้โดยที่ไม่ขัดกับคุณค่าประชาธิปไตยสากล
อ้างอิง :
[1] สันติสุข โสภณสิริ. สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย. (กรุงเทพ: มูลนิธิเด็ก). 2555.
[2] Eric Nelson. The royalist revolution: Monarchy and The American revolution. (Harvard U. Press: London). 2014.
[3] Absolutism Sovereigns and estates