2475 จากบันทึกมิชชันนารีชาวอเมริกัน ข่าวลือและบรรยากาศคุกรุ่นก่อนการปฏิวัติ
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า แท้จริงแล้วการปฏิวัติสยาม เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้เป็นที่ระแคะระคายมาก่อนหน้านั้นแล้ว บรรดาเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรวมไปถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ ต่างก็รับทราบข่าวลือเรื่องนี้
แต่การจับกุมปราบปรามก็ไม่ได้เกิดขึ้นในเวลานั้น เนื่องจากทางกรมตำรวจภายใต้การนำของพระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) ยังไม่มีหลักฐานแน่นหนาพอที่จะใช้ดำเนินคดี หรือแม้กระทั่งผู้มีอำนาจในเวลานั้น อาทิ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ทรงไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่าบุคคลที่กรมตำรวจได้ถวายรายนามมาให้ทอดพระเนตร จะเป็นผู้ที่คิดล้มล้างการปกครอง เนื่องจากบางคนทรงรู้จักมักคุ้นดีเสียด้วยซ้ำ
นอกจากในหมู่ชาวสยามด้วยกันแล้ว ข่าวเรื่องการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังลือสะพัดไปถึงบรรดาชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม ณ เวลานั้นด้วย
นางเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์คลีย์ ภริยาของนายแพทย์ลูเยส คอนสแตนท์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน เธอได้เดินทางเข้ามายังสยามพร้อมครอบครัวในสมัยรัชกาลที่ 5 และลงหลักปักฐานใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ณ จังหวัดตรัง เมืองปักษ์ใต้ของสยาม จนกระทั่งถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ( สมัยรัชกาลที่ 8 )
เอ็ดน่า คือผู้ที่ได้รับทราบข่าวลือเรื่องการปฏิวัติเช่นกัน โดยเธอได้บันทึกเงื่อนงำเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงในหนังสือ Siam was our Home (สยามคือบ้านของเรา) ว่า …
“… ปี 1932 (2475) เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศสยาม … สถานการณ์ทางการเมืองซึ่งคุกรุ่นมาก่อนหน้านี้แล้วระยะหนึ่ง ได้ดำเนินมาจนถึงจุดแตกหัก เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นโดยฝีมือของกลุ่มบุคคลเพียงกลุ่มเดียว นำโดยชายหนุ่มผู้หนึ่งที่รัฐบาลส่งไปร่ำเรียนที่ปารีส ‘การปฏิวัติที่ปราศจากเลือด’ ของพวกเขาครั้งนั้น ทำให้ประเทศชาติชะงักชะงันไปช่วงหนึ่ง และยังส่งผลพวงต่อไปอีกยาวไกล …”
ในปี พ.ศ. 2475 เอ็ดน่าและครอบครัวได้ตั้งใจเดินทางจากเมืองตรังขึ้นมายังกรุงเทพฯ เพื่อชมพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ อันเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างพระนครกับฝั่งธนบุรี พิธีดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 โดยมีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 7 ทรงเป็นประธานในพิธี
ปรากฏว่าก่อนหน้าที่เธอจะเดินทางมากรุงเทพฯ เอ็ดน่าได้รับการห้ามปรามอย่างกลายๆ จากข้าราชการคนไทยหลายคน รวมถึง “หัวหน้าผู้พิพากษาผู้หนึ่ง” ว่า “อย่าไปกรุงเทพฯ เลยครับแหม่ม”
และเมื่อเธอถามกลับว่า “กรุงเทพฯ จะมีอะไรเกิดขึ้น ?” พวกเขากลับตอบแบบอ้อมค้อม ซึ่งทำให้เอ็ดน่าทราบโดยทันทีว่า กำลังมีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดความตั้งใจที่จะไปร่วมพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ และชื่นชมพระบารมีของในหลวง ร.7 ของครอบครัวมิชชันนารีชาวอเมริกันครอบครัวนี้ได้ กระทั่งวันที่ 6 เมษายน มาถึง เอ็ดน่าได้บันทึกเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้นอย่างเป็นกังวลใจว่า …
“… ตลอดเวลายาวนานถึง 4 ชั่วโมงที่เรายืนอยู่ตรงนั้น ไม่มีเสียงร้องตะโกน กิริยาไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งคำพูดล้อเลียนที่ไม่สุภาพ อันอาจจะสร้างความด่างพร้อยให้กับงานพระราชพิธีแต่อย่างใดเลย … ปกติแล้วชาวสยามจะมีนิสัยรักสนุก ชอบทำอะไรง่ายๆ สบายๆ … ทว่าในวันนี้ พวกเขากลับพากันมาแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีอย่างเงียบๆ แทบจะเรียกได้ว่าเงียบกริบทีเดียว ภาพนี้ติดตรึงอยู่ในใจของฉันไปอีกนานเท่านาน …
… พระเจ้าอยู่หัวประทับยืนเพียงลำพังพระองค์เดียวบนพระแท่นที่ยกสูงกลางที่โล่งแจ้ง เพื่อทอดพระเนตรการสวนสนามของเหล่าทัพ ฉันชื่นชมในความกล้าหาญของพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก และตั้งจิตอธิษฐานอยู่คนเดียวเงียบๆ ขอให้พระองค์ทรงได้รับการถวายอารักขา ให้แคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวงด้วยเถิด …
… ในวันนั้น ทุกคนต่างรู้อยู่แก่ใจว่า อาจจะมีเสียงปืนดังขึ้นในนาทีใดนาทีหนึ่งก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้คนล้มตายและเกิดการจลาจลขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบางคนคาดคะเนว่าคณะปฏิวัติคงตัดสินใจเลื่อนกำหนดการลงมือออกไปอีก 2 ชั่วโมง หากในความเป็นจริงแล้ว การปฏิวัติได้เกิดขึ้นหลังจากพระราชพิธีนี้ผ่านไปแล้วถึง 2 เดือนเลยทีเดียว …”
จากบันทึกของเอ็ดน่า ได้สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับความเป็น “สยาม” เลย แต่พวกเขาต่างก็มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมของชาติที่ตนเข้าไปพึ่งพาอาศัยอีกด้วย ดังเช่นที่เอ็ดน่าเรียกแผ่นดินสยามว่า “บ้าน”
และบันทึกฉบับนี้ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญ ที่ฉายภาพให้เห็นถึงเรื่องราวและบรรยากาศของบ้านเมืองช่วงเหตุการณ์ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้เป็นอย่างดี และถึงแม้เอ็ดน่าจะไม่กล่าวถึงตรงๆ ว่า “ชายหนุ่มผู้หนึ่งที่รัฐบาลส่งไปร่ำเรียนที่ปารีส” ผู้นั้นเป็นใคร แต่เชื่อว่า … ผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยากอย่างแน่นอน
อ้างอิง :
[1] เอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์ลีย์, สยามคือบ้านของเรา (แปลจาก Siam was our Home). (กรุงเทพฯ : 2550), สำนักพิมพ์ ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน).