2474 โลกรับรู้ รัชกาลที่ 7 มีความตั้งใจ มอบอำนาจอธิปไตยให้ปวงชนชาวไทย
พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยเสด็จประพาสพร้อมกับ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในปี พ.ศ. 2474 โดยในขณะนั้นถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทั้งประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา
ซึ่งก่อนหน้านี้พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ มีเพียงแต่พระราชสาส์นประทานแก่ประธานาธิบดีอเมริกาเท่านั้น แต่มิได้เคยมาเยือนประเทศนี้ด้วยพระองค์เอง
การเยือนสหรัฐอเมริการในครั้งนี้ นอกจากเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ทรงประกาศเจตจำนงของพระองค์” แก่ชาวต่างประเทศหรือประชากรโลกให้ทราบว่า
พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม ต้องการที่จะมอบอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน
นอกจากที่พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะทรงมีบทบาทและหน้าที่ในการบริหาราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ ยังทรงมีพระราชกรณียกิจทางด้านการต่างประเทศหรือการทูตด้วย
โดยในปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความจำเป็นจะต้องเสด็จไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาต้อกระจกในพระเนตรซ้ายของพระองค์ ซึ่งการผ่าตัดประเภทนี้ยังทำในประเทศไม่ได้ ดังนั้น นอกเหนือจากภารกิจส่วนพระองค์นี้แล้ว จึงทรงถือโอกาสเจริญสัมพันธไมตรี และศึกษากิจการงานของประเทศสหรัฐอเมริกาในคราวเดียวกันด้วย
ซึ่งความสำคัญของอเมริกาได้เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461) โดยได้พยายามเป็นตัวตั้งตัวตีจัดการเจรจาสันติภาพ (Peace Negotiation) ระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดอเมริกาก็ได้ประกาศสงครามกับเยอรมัน โดยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียเป็นผู้นำ
ช่วงเวลาดังกล่าว ตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 6 และด้วยพระปรีชาสามารถประกอบกับการตัดสินพระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 ในการประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้อเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมเจรจาและยินยอมให้ไทยแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม ที่ได้กระทำไว้กับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 อีกด้วย
อนึ่ง ในเวลานั้นสหรัฐอเมริกาเริ่มจะมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมากขึ้นทุกที อีกทั้งกำลังตั้งเค้าว่าจะพัฒนากลายเป็น “ชาติมหาอำนาจ” แทนประเทศแถบยุโรป ดังนั้น การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศนี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพื่อคงไว้ซึ่งมิตรภาพอันดีสืบไป
โดยก่อนการเสด็จประพาส ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้ใช้เงินพระคลังมหาสมบัติ อันเป็นงบประมาณแผ่นดิน เป็นเงินค่ารักษาพระองค์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งจัดไว้ในงบประมาณประจำปีสำหรับการเสด็จประพาส นอกเหนือจากนั้นให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ ซึ่งถือเป็นเงินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ โดยทรงกำชับว่าให้ใช้อย่างประหยัด
จากหลักฐานของสื่อในต่างประเทศ ระบุว่าวันแรกที่เรือซึ่งทั้งสองพระองค์ประทับแล่นถึงเมืองวิกตอเรียของประเทศแคนาดา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรไข้หลอดลมอักเสบ เสด็จฯ ออกให้คณะผู้แทนรัฐบาลแคนาดาเฝ้าฯ รับเสด็จไม่ได้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงเสด็จออกแทนพระองค์ โดยผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้รายงานไว้ว่า
ทรงเป็นศูนย์กลางความสนใจและตกตะลึงของบรรดาผู้เข้าเฝ้าฯ ทั้งในฉลองพระองค์แบบตะวันตกที่พอเหมาะพอสมกับพระราชสถานะและโอกาส พระสรวลที่ทรงยิ้มแย้ม พระอิริยาบถไม่แสดงพระอาการกระดากอายแม้แต่น้อย ทรงพระดำเนินตรงไปยังข้าราชการชาวแคนาดา ซึ่งยืนสง่าอยู่เป็นแถว
จากนั้นเมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จถึงมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22เมษายน พ.ศ. 2474 นั้น ได้ทรงประทับแรมที่คฤหาสน์โอฟีร์ ฮอลล์ (Ophir Hall) ซึ่งเจ้าของถวายเป็นที่ประทับโดยไม่คิดมูลค่า เนื่องจากต้องประทับเข้ารับการผ่าตัดและทรงพักฟื้นอยู่นานเป็นเดือน
ต่อจากนั้น ได้เสร็จเดินทางไปเยี่ยมประธานาธิบดี เฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Clark Hoover) ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2474
ในช่วงเสด็จเยือนอเมริกานี้ ยังปรากฏเหตุการณ์ที่น่าสนใจในประเด็นการเมืองการปกครองด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนอเมริกา คือ หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 28 เมษายน 2474 ณ ที่ประทับโอฟีร์ ฮอลล์ ต่อคำถามที่ว่า “ปัจเจกบุคคลไม่มีเสรีภาพในระบอบกษัตริย์ที่มีผู้ปกครองคนเดียวเท่ากับในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีผู้ปกครองหลายคน” ทรงรับสั่งว่า ในฐานะที่ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ประเทศหนึ่ง พระองค์ไม่ควรจะทรงตอบ แต่ได้รับสั่งว่า
“ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดก็คือ ระบอบที่เหมาะสมแก่ผู้คนที่อยู่ภายใต้ระบอบนั้น”
ทั้งยังได้ทรงถือโอกาสนั้นแถลงให้ทราบว่า พระองค์ประสงค์จะให้ราษฎรชาวสยามมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอีกด้วย กล่าวคือ จะมีการพระราชทานกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องถิ่นแบบเทศบาล (Municipality)
พระองค์เชื่อว่าการปกครองแบบเทศบาลเช่นนี้ จะทำให้ราษฎรทั่วไปรู้จักการใช้สิทธิทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นการศึกษาเรียนรู้และทดลองการปกครองระดับประเทศไปในตัว ซึ่งต่อไปจะต่อยอดเป็นการปกครองในระบอบรัฐสภา (Parliamentary Government)
การกล่าวกับสื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงของอเมริกาเช่นนี้ เท่ากับเป็นการประกาศเจตจำนงของพระองค์แก่ชาวต่างประเทศหรือประชากรโลกให้ทราบว่า พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม ต้องการที่จะมอบอำนาจการปกครองแบบประชาธิปไตยบางส่วนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นรู้จักเรียนรู้และปกครองกันเองก่อน
การกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นการชี้ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยมากเพียงใด
ดังจะเห็นได้จากรายงานของ นายแฮโรลด์ เอ็น. เด็นนี่ (Harold N. Denny) ผู้สื่อข่าว The New York Times ที่ระบุว่า
เป็นที่ประจักษ์แต่แรกว่า ทรงมีความรู้และความสนพระราชหฤทัยกว้างขวางไม่ธรรมดา ทั้งปรัชญาการปกครอง...ไปจนถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาในสยามประเทศ มีพระสมาธิ สติ ปัญญา บ่งบอกออกมาด้วยสายพระเนตรที่เปล่งประกาย...ทรงตอบคำถามอย่างแคล่วคล่อง และดูเหมือนจะทรงพระสำราญกับการนั้น
ที่มา :
[1] สถาบันพระปกเกล้า, ปกเกล้าธรรมราชา (2558 : กรุงเทพ) สำนักพิมพ์ สถาบันพระปกเกล้า
[2] The New York Times, Tuesday 28th April 1931.
[3] ร.7 พระราชทานสัมภาษณ์เมื่อเสด็จประพาสสหรัฐฯ ศิลปวัฒนธรรม, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564