21 เมษายน 2565 ครบรอบ 240 ปี กรุงเทพมหานคร กับเรื่องเล่าสายมูที่เชื่อถือไม่ได้

ในโอกาสครบรอบ 240 ปีตามสุริยคติ ทุกๆ วันครบรอบการยกเสาหลักเมืองตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 21 เมษายน เรามักจะได้รับฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานงู 4 ตัว กับอาถรรพ์ชะตาเมืองกรุงรัตนโกสินทร์

ทว่าเรื่องเล่าที่ว่ามีงู 4 ตัวเลื้อยลงหลุม เมื่อขณะยกหลักเมือง เป็นคำร่ำลือ ที่เพิ่งจะเริ่มลือกันไม่ถึงร้อยปีด้วยซ้ำไป จริงๆ ตามพงศาวดารหรือหลักฐานประวัติศาสตร์ก็ระบุไว้ตรงกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีที่แห่งใดเลยได้กล่าวถึงเหตุประหลาดอัศจรรย์เกี่ยวกับการพบงูก้นหลุมในขณะยกเสาหลักเมือง ทั้งๆ ที่ ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 คงยังมีเรื่องเล่าอภินิหารในหมู่ชนชั้นสูงอยู่ หรือที่เรียกว่า “อภินิหารบรรพบุรุษ” ซึ่งได้รับตีพิมพ์เป็หนังสือชำร่วยในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ แต่ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฎว่าชนชั้นสูงได้มีการกล่าวถึงตำนานงูสี่ตัวเลย แม้ขนาดตำนานนางนากพระโขนง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ยังได้กล่าวถึงไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “ความทรงจำ” เอาไว้เล็กน้อย

แต่มีหนังสือเล่มหนึ่ง คือ ประเพณีและไสยเวทในขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งโดย ร.ศ.ประจักษ์ ประภาพิทยากร และเป็นหนังสือได้รับรางวัลประกวดชมเชยหนังสือดีเด่นประเภทหนังสือสารคดี ประจำปี พ.ศ. 2519 ได้มีการค้นคว้าหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับความเชื่อการสร้างอาถรรพ์เมือง หรือการสร้างหลักเมือง ปรากฎว่า มีความเชื่อเกี่ยวกับตำนานการฝังอาถรรพ์ที่ประตูเมืองด้วยคนเป็นๆ เช่นคำกล่าวที่ว่า มีการมีการขานเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ใครที่ขานรับ ก็จะเอาฝังลงหลุม แต่ตำนานการฝังอาถรรพ์คนเป็นๆ ก็แค่ตำนานที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นอกจากวรรณคดีเรื่องราชาธิราช ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่แต่งมาจากพงศาวดารมอญที่มีการต่อเติมเสริมแต่งเรื่องเล่าเชิงอภินิหารเหนือธรรมชาติ

ราชาธิราช เป็นวรรณคดีที่ในหลวงรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง(หน) แปลและเรียบเรียงมาจากพงศาวดารมอญ เพราะว่าเป็นวรรณคดีที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว เนื่องจากเป็นตำนานเมืองโบราณที่อยู่ในช่วงระหว่างยุคเริ่มต้นอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรอยุธยา ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้มีบางช่วงบางตอนได้เล่าถึงเมื่อครั้งพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาท เผอิญหลุมที่ขุดรอฤกษ์ลงเสานั้น ได้มีหญิงท้องแก่เดินตกลงไปตาย ชนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตอันดีงาม พระเจ้าฟ้ารั่วก็ทรงบัญชาตามด้วยทรงเห็นว่าไม่มีใครกล่าวถึงเสนียดจัญไร แต่ครั้นเมื่อยกเสาลงไปก็เกิดทำให้มีงูวิ่งพล่านออกมาหลายตัว คนงานก็ช่วยกันตีงู ทว่าก็ยังมีงูหนีไปได้ตัวหนึ่ง

แต่ในหลักฐานประวัติศาสตร์ยุครัตนโกสินทร์ ไม่มีแห่งใดกล่าวถึงงู 4 ตัวเลื้อยลงหลุมเลย เพราะแม้กระทั่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับงู 4 ตัว ก็ยังเป็นเรื่องเล่าที่มีสาระสำคัญที่ขัดแย้งกันเอง กล่าวคือ เล่ากันว่า

เมื่อใกล้ได้เวลาพระฤกษ์ พระโหราจารย์กล่าวโฉลกบูชาฤกษ์แล้ว พระมหาราชครูอ่านพระราชโองการ ตั้งพระมหานคร ขุนโหรเริ่มพิธีกล่าวอุทิศเทพสังหรณ์ อัญเชิญก้อนดินซึ่งพลีมาแต่ทิศทั้ง 4 แห่งพระนคร กระทำให้เป็นก้อนกลมดุจลูกนิมิต ลงสู่ก้นหลุมเป็นลำดับกันไป เริ่มแต่ทิศบูรพา ทักษิณ ปัจฉิม และอุดร จากนั้นก็นำแผ่นศิลาลงยันต์ สำหรับรองรับหลัก วางลงบน ก้อนดินทั้ง 4 นั้น ภายในก้นหลุม ตกแต่งเรียบร้อยกรุด้วยผ้าขาวบริสุทธิ์ ดาดด้วยใบไม้อันเป็นมงคล 9 ประการ โปรยด้วยแก้วนพรัตน์ ไว้เรียงราย โดยรอบขอบปริมณฑล

เมื่อถึงพระฤกษ์ โหราจารย์ก็ย่ำฆ้องบอกกำหนด ชีพ่อพราหมณ์เป่ามหาสังข์ แกว่งบัณเฑาะก์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์แตรสังข์ และพิณพาทย์ เจ้าหน้าที่ประจำยิงปืนใหญ่ เป็นมหาพิไชยฤกษ์ เริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่ก้นหลุม ทันใดนั้น ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน…มีงูเล็ก 4 ตัว ปาฏิหาริย์ไปอยู่ก้นหลุม แต่เมื่อใด ไม่มีใครเห็น มาเห็นเอาก็เมื่อเสาหลักเมืองเคลื่อนลงสู่หลุม จะยั้งไว้ก็มิได้เพราะขั้นตอนพิธีทุกอย่างต้องเป็นไปตามพระฤกษ์ เมื่อเสาหลักเมืองลงสู่ก้นหลุม ก็กลบดินทับงูเล็กทั้ง 4 ตัวไว้ในหลุมด้วย

จะเห็นได้ว่า เรื่องเล่า ได้เล่าว่า เห็นงู 4 ตัวเลื้อยลงหลุมก่อนยกเสา
– แต่ว่าดูแล้วไม่เห็นตัวงู
– จึงลงเสาฝังงูไปพร้อม
ไหนว่ามองดูแล้วไม่เห็นงูในหลุม แล้วรู้ได้ไงว่ามีงูถูกฝังไว้ใต้หลุม!

ในข้อเท็จจริง เสาหลักเมืองถูกฝังในระดับความลึก 42 นิ้ว ดังนั้นหลุมจะต้องลึกประมาณ 2 เมตร ซึ่งการขุดหลุมเมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้วอย่างดีที่สุดก็คือการขุดเจาะด้วยมือแหละครับ ดังนั้นการขุดหลุมระดับ 2 เมตร ต้องใช้เสียมขุด และปากหลุมต้องกว้างมากพอที่ตัวคนจะต้องลงไปนั่งขุดและโกยดินขึ้นมาได้ โดยที่ต้องกว้างพอจะสามารถเคลื่อนไหวด้ามเสียมได้สะดวกไม่ขัดกับผนังหลุมด้วย อย่างน้อยๆ เส้นผ่าศูนย์กลางต้องเป็นเมตร

การที่เส้นผ่าศูนย์กลางต้องกว้างเกือบๆ เมตร ในขณะที่ยกเสาหลักเมืองลงหลุม แม้ในยุคนั้นอาจมีเทคโนโลยีการใช้รอกยกเสาแล้วก็ตาม มันก็ย่อมต้องมีคนประจำก้นหลุม เพื่อประคองโคนเสาให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง และจะต้องมีคนคอยประคองไว้ตลอดเพื่อวัดระดับฉากให้เสาตั้งตรง

ดังนั้นถ้ามีงูที่ก้นหลุมจริง ต้องมีคนเห็นตั้งแต่แรก และควรจับงูได้ทันทีก่อนที่เสาจะลงหลุม และต่อให้เกิดงูอัศจรรย์เพิ่งโผล่มาตอนที่เสาลง คนที่มีหน้าที่ประคองเสาต้องเห็นตั้งแต่ก่อนเสาจะเข้าปากหลุมด้วย เพราะการยกเสาลงหลุมต้องมีการเล็งตำแหน่งที่จะตั้งเสา

พิธีพราหมณ์กำหนดฤกษ์เป็นเวลาเริ่มพิธี แต่ไม่มีการกำหนดเวลาสิ้นสุดพิธี ดังนั้นเมื่อได้เริ่มทำพิธีแล้วก็หมายความว่าได้เริ่มพิธีตามฤกษ์แล้ว ถ้ามีงูอยู่จริงต้องให้คนลงไปจับแล้วครับ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เสียเวลาหรือเสียฤกษ์ เพราะว่าได้เริ่มพิธีตามฤกษ์มาแล้ว

เมื่อครั้งสมัย ร.4 มีการทำพิธียกเสาหลักเมืององค์ใหม่ ในครั้งนั้นก็ไม่ปรากฎว่ามีข่าวลือว่าขุดเจอกระดูกงูที่ก้นหลุม หรือแม้ตอนที่บูรณะเหลักเมือง ในพ.ศ. 2525 ก็ไม่ปรากฎว่าจะขุดเจออะไรที่ก้นหลุมนอกจากขุดเจอของมงคลที่พราหมณ์พิธีได้ฝังฤกษ์เมื่อก่อนมีการยกเสาหลักเมืองสู่หลุม

ที่สำคัญก็คือ ถ้าลือกันตั้งแต่ยุคตั้งกรุง พวกผู้ดีต้องร่ำต้องลือกันมาแล้ว จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่ง สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แม้จะทรงมีการกล่าวถึงความเชื่อในการขานชื่อ อิน จัน มั่น คง ในพิธีรับขวัญบ่าวสาวในพิธีแต่งงานบ้าง และรวมถึงทรงกล่าวถึงความเชื่อการฝังอาถรรพ์ แต่ไม่มีพระนิพนธ์ในที่กล่าวถึงความเชื่อเกี่ยวกับตำนานงู 4 ตัวที่ใดเลย

มีก็เพียงการสร้างตำนานที่เพิ่งเกิดมาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง แถมยังเป็นเรื่องเล่าที่มีเนื้อหายอกย้อนขัดแย้งกันเองอีกด้วยด้วย

ทั้งนี้ถ้าหากเราพินิจพิเคราะห์ถึงพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ตอนท้ายเรื่องได้ผูกหมายเหตุที่บ่งชี้ถึงความมุ่งหมายของพระราชนิพนธ์เอาไว้ ดังนี้

อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์
ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด
ดังพระทัยสมโภชบูชา
ใครฟังอย่าได้หลงไหล
จงปลงอนิจจังสังขาร์
ซึ่งอักษรกลอนกล่าวลำดับมา
โดยราชปรีดาก็บริบูรณ์

จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ก็ไม่มีความมุ่งหมายทางไสยศาสตร์ ถึงแม้จะประกอบตามประเพณีความเชื่อก็ตาม แต่ทรงมีความมุ่งหมายอย่างอื่น ดังนั้นพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีขึ้น ก็เป็นเพราะว่าเป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าทางวรรณกรรม จึงให้แต่งขึ้นเป็นเกียรติกับบ้านเมือง กับทั้งรามเกียรติ์เป็นการสรรเสริญเกียรติคุณของพระราม ก็ทำนองเดียวกับการสรรเสริญการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย จึงได้ทรงเตือนสติว่า วรรคดีนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มี ไม่ใช่จะให้หลงไหลไสยศาสตร์ สำคัญอยู่ว่าเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่า การตั้งเมืองใหม่จึงควรจะมีประดับเมือง

ทำนองเดียวกับรัชกาลที่ 4 บูรณะหลักเมือง ในสมัยที่กรุงรัตนโกสินทร์อายุเกือบร้อยปี เนื้อไม้ก็คงจะทรุดโทรมทำนองเดียวกับปีพ.ศ. 2525 ซึ่งกรุงรัตนโกสินทร์ อายุครบ 200 ปี ที่เสาเอียง 3 องศา เพราะรากเสาผุ แต่นัยของ ร.4 ยังแฝงประเด็นการเมืองด้วย ทรงยกเหตุตั้งเสาหลักเมืององค์ใหม่เพื่อแก้เสริมดวงพระชะตา เพราะว่าทรงขึ้นครองราชย์จากการที่ขุนนางอัญเชิญขึ้นมา ดังนั้นจึงขาดรากฐานอำนาจการเมือง การยกเหตุเสริมดวงพระชะตาก็เป็นเหตุผลที่จะกดกลุ่มคนฟุ้งซ่านซึ่งป้องกันไว้ก่อนเผื่อว่าใครจะยกว่ามีผู้อื่นที่บุญบารมีกว่า

เหมือนในขณะเดียวกันกับที่ทรงยกพระปิ่นเกล้าเป็นพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่สอง ก็เป็นการสร้างสถาบันพระราชอำนาจ กล่าวก็คือพระราชอำนาจสูงสุดไม่เพียงเฉพาะแต่พระเจ้าอยู่หัว หรือเฉพาะกับตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ ตราบัวแก้ว หรือเฉพาะกับตราสุริยมณฑล ตราจันทรมณฑล หากแต่ยังมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรอีกพระองค์หนึ่งด้วย

ตราสุริยมณฑลนี่คือที่สุดของที่สุด เป็นเสมือนประมุขของตรา 3 ดวงเดิม(ตราพระราชสีห์ ตราพระคชสีห์ และตราบัวแก้ว) จึงเป็นหลักประกันได้ว่า ผู้ถือดวงตราจะไม่คิดกำเริบอย่างพระเจ้าปราสาททองในยุคกรุงศรีอยุธยา เพราะว่าใครถือดวงตราสุริยมณฑล ย่อยอยู่ในฐานะสูงส่งและถูกเพ่งเล็ง ประกอบกับมีกรมพระราชวังบวรค่อยถ่วงดุลเอาไว้

การสร้างหลักเมืององค์ใหม่ของ ร.4 จึงเป็นการสถาปนาพระราชอำนาจ ผ่านรูปแบบต่างๆ มากกว่าจะเป็นการทำตามความเชื่อ เพราะแม้ว่าจะทำหลักเมืองใหม่ ก็ประกาศให้คนเพลาๆ กับการบูชาหลักเมืองแต่พอดี ให้พึงบูชาพระรัตนตรัยเป็นสำคัญ

ดังนั้นจึงมีแต่คนโง่ที่งมงายกับไสยศาสตร์หรือมโนมูเตลูอย่างไม่ลืมหูลืมตาที่เชื่อ ส่วนคนมีปัญญาจะใช้ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือ คือว่าเป็นเครื่องมือในการอบรมสั่งสอนคนให้คนมีวิจารณญาณ เตือนสติให้ใช้ปัญญาเนืองๆ

กองบรรณาธิการ ฤๅ

อ้างอิง :

[1] ประจักษ์ ประภาพิทยากร. ประเพณีและไสยเวทวิทยาในขุนช้าง ขุนแผน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์เจริญธรรม, 2519

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า