ไขข้องใจ ทำไมมาตราที่ 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงระบุให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน

ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เราจะพบกับข้อความในหมวดที่ 1 ในมาตราใดมาตราหนึ่งว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” (ข้อความนี้จากมาตรา 3 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560) ซึ่งมาตราที่ระบุข้อความดังกล่าวนั้นเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ประกอบให้สถาบันการเมืองต่างๆ สามารถใช้อำนาจได้โดยมีกลไกที่ชัดเจน และทำให้รัฐสามารถทำงานได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

อย่างไรก็ดี การระบุข้อความว่า “ทรงใช้อำนาจนั้น” เอาไว้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือตีความจนเกินเลยไปได้ ดังนั้น ฤา จึงเห็นสมควรในการนำเสนอถึงประเด็นนี้โดยคำอธิบายของอาจารย์ผู้สอนกฎหมายมหาชน เพื่อให้น่ารับฟังมากที่สุดเป็นเบื้องต้น

ประเด็นแรกที่จะต้องกล่าวถึงก่อนก็คือเรื่องแนวคิดอธิปไตย อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นั้น ในทางกฎหมายมหาชนหมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ เนื่องจากเมื่อมีรัฐเกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ดังนั้น เมื่อนำอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นแนวความคิดนามธรรมมาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดไปด้วย [1] ซึ่งในรัฐธรรมนูญก็ได้มีการระบุไว้ด้วยว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของใคร และใครจะเป็นผู้ใช้เพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าต่อไปได้

แนวคิดด้านอำนาจอธิปไตยนั้นมีวิวัฒนาการอย่างยาวนานและแตกต่างไปตามบริบทของแต่ละสังคม [2] ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมาก แต่ในปัจจุบันนี้อำนาจอธิปไตยนั้นอาจถูกแบ่งออกว่า “เป็นของใคร” ได้สามประเภทใหญ่ คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ และอำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐสภา อย่างไรก็ดีในที่นี้จะจำกัดไว้ที่สองแบบแรกเท่านั้น คือ อธิปไตยเป็นของปวงชน และอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ

สำหรับอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้น สามารถย้อนสาวความคิดไปได้ถึงนักคิดในอดีตช่วงศตวรรษที่ 17 แต่โดยรวมนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนได้สนับสนุนให้ประชาชนได้ปกครองในทางตรงไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายหรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างสูง แต่จากการพัฒนาความซับซ้อนของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ทำให้การใช้อำนาจทางตรงนั้นยากมากขึ้น และได้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้มีการใช้อำนาจโดยอ้อมด้วย หรือก็คือเป็นการให้ตัวแทนของประชาชนไปทำหน้าที่แทน ทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรง ดังนั้นเราจะเห็นการระบุเรื่องอำนาจอธิปไตยโดยเป็นการผสมกันทั้งแบบทางตรงและแบบทางอ้อม เช่น รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 ในมาตราที่ 3 ได้ระบุเอาไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยแห่งชาติเป็นของประชาชน และประชาชนใช้อำนาจนั้นผ่านตัวแทนและการทำประชามติ” (National sovereignty shall vest in the people, who shall exercise it through their representatives and by means of referendum.) [3]

ส่วนอำนาจอธิปไตยเป็นของชาตินั้นแนวคิดนี้มองว่า ประชาชนทุกคนรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในชาติ ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำเพื่อชาติ ดังนั้นผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่นั้น เมื่อเลือกเข้ามาแล้วผู้แทนจะทำหน้าที่ในนามของประชาชนทั้งชาติ ไม่ได้ทำหน้าที่ให้เฉพาะคนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ดังนั้นการเลือกตั้งจึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ ไม่ใช่สิทธิ [4]

สำหรับประเทศไทยนั้นเราจะพบว่ามีการระบุว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” มาหลายฉบับ หรือปรากฏในมาตราที่ 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540, 2550, และ 2560 ซึ่งหากเราวิเคราะห์เฉพาะส่วนนี้จะพบว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อย่างไรก็ดี จะพบว่ารัฐธรรมนูญทั้งงสามฉบับกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ซึ่งสอดคล้องกับอำนาจอธิปไตยเป็นของชาติด้วย [5] เช่น ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 50 (7) ได้กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติ [6] ซึ่งการผสมทั้งระบุว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนและการมีหน้าที่ต้องเลือกตั้ง เป็นการสื่อถึงอำนาจอธิปไตยของชาติซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบกึ่งทางตรงที่ประชาชนสามารถมีทั้งส่วนร่วมเอง และการมีส่วนร่วมผ่านตัวแทน

อย่างไรก็ดี รัฐโดยตัวมันเองไม่สามารถใช้อำนาจเองได้ เพราะรัฐไม่ได้มีแขนขา แต่การใช้อำนาจนั้นก็ต้องมีองค์กรที่ขึ้นมาใช้อำนาจอย่างเป็นรูปธรรมในนามของรัฐ หากเป็นอดีตนั้นก็คือพระมหากษัตริย์ หากเปลี่ยนเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วนั่นก็ต้องเป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาล นั่นหมายความว่า รัฐกับผู้ใช้อำนาจนั้นเป็นส่วนที่แยกกัน เมื่อพิจารณาประเทศไทยที่มีระบอบการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนานและเป็นที่คุ้นเคยกับประชาชน แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงสามารถบริหารแผ่นดินได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป เพราะพระมหากษัตริย์ได้ทรงสละอำนาจอธิปไตยของตนเองให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นประชาชนจึงเป็นผู้มีอำนาจอธิปไตย แต่เนื่องจากการมีพระมหากษัตริย์อยู่ในระบอบประชาธิปไตยและเป็นการถวายเกียรติยศให้แก่พระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในอดีต การระบุให้ทรง “ใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” จึงหมายถึง ประชาชนให้พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแทน [7]

แต่ทั้งนี้สังเกตด้วยว่า มีองค์กรอย่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งองค์กรทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นผู้ทำหน้าที่แทนประชาชนอยู่แล้ว แต่พระมหากษัตริย์เป็นเพียงผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนในการทำให้บรรลุผลในขั้นสุดท้ายเท่านั้น และยังเป็นการหลอมรวมพระมหากษัตริย์ ประชาธิปไตย และประชาชนไว้ด้วยกันอีกด้วย ทั้งสามส่วนจึงอยู่ร่วมกันได้โดยสมานกลมกลืนผ่านอำนาจอธิปไตยนั่นเอง

อ้างอิง :

[1] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2564), หน้า 93.
[2] ดูการเล่าอย่างกระชับใน Daniel Philpott, “Sovereignty: An Introduction and Brief History,” Journal of International Affairs Vol. 48, No. 2, Transcending National Boundaries (Winter 1995): 353-368.
[3] Constitution of 4 October 1958 Article 3.
[4] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2564), หน้า 104.
[5] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชน, พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2564), หน้า 102.
[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 50 (7).
[7] เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, รัฐ รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563), หน้า 126.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า