แคทวอล์คราษฎร พรมแดงสู่ข้าวแดงของผู้ละเมิด ม.112

จากกรณีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาตัดสิน จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “นิว จตุพร” ในคดีหมิ่นเบื้องสูงจากการชุมนุมแต่งชุดไทยเดินแคทวอล์คราษฎร หน้าวัดแขกสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษ โดยให้เหตุผลว่ามีเจตนาล้อเลียนนั้น

หลังจากที่ศาลพิพากษาไม่นาน ได้มีกลุ่มบุคคลพยายามชี้นำบิดเบือนว่า “การใส่ชุดไทยไม่มีความผิด ม.112” ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้ เป็นการนำเสนอความจริงเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น

จริงอยู่ที่ใครๆ ก็สามารถใส่ชุดไทยได้โดยที่ไม่มีความผิด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้กลับมีสิ่งที่คนบางกลุ่ม “พูดไม่หมด” นั่นคือ พฤติการณ์ของจำเลยไม่ใช่เพียงแค่การใส่ชุดไทยเท่านั้น

หากกล่าวโดยละเอียดก็คือ พยานในคดี เบิกความมีสาระสำคัญดังนี้ – “จำเลยได้ทำการแต่งกายและแสดงท่าทางประกอบการเดินแบบในลักษณะที่ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นการเยี่ยมเยียนผสกนิกรของสมเด็จพระราชินี เนื่องจากเธอสวมชุดไทยสีชมพู ถือกระเป๋าขนาดเล็ก และมีชายอีกคนแต่งชุดไทยนุ่งโจงกระเบนกางร่มเดินตาม อีกทั้งยังมีผู้หญิงถือพานทองที่มีปลอกแขนการ์ดวางอยู่ข้างบนเดินตาม และในงานยังมีการเปิดเพลงข่าวในพระราชสำนัก และระหว่างการเดิน มีประชาชนที่นั่งอยู่ข้างพรมแดงส่วนหนึ่งก้มตัวลงคล้ายจะหมอบกราบ จึงเชื่อได้อาจเป็นการตระเตรียมกระทำการเป็นกลุ่ม หรือหากไม่มี ท่าทางเลียนแบบของนิวก็อาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการล้อเลียนสมเด็จพระราชินีได้ รวมทั้งมีกลุ่มคนที่กำลังชมอยู่ ตะโกนว่า พระราชินี

พยานในวันเกิดเหตุ ได้เบิกความต่อไปอีกว่า – “นอกจากการเดินแฟชั่นแล้ว ยังมีการขึ้นป้ายเขียนข้อความว่า ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ขณะที่เดินบนพรมแดง มีคนสองคนเดินตาม โดยชายคนหนึ่งเดินตามกางร่มให้คล้ายเป็นมหาดเล็ก และมีหญิงอีกคนหนึ่งถือพานเดินตามคล้ายเป็นนางสนองพระโอษฐ์ ขณะที่ในระหว่างที่เดิน จำเลยมีพฤติการณ์เดินหันหน้าทักทายคนที่นั่งอยู่ข้างพรมทั้งสองฝั่งและมีผู้ชุมนุมคนหนึ่งยื่นมือออกมาจับข้อเท้าของจำเลย คล้ายกับเหตุการณ์ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินครั้งหนึ่งของสมเด็จพระราชินี ระหว่างที่เดินแฟชั่น มีผู้ชมมาเกาะขาจำเลยและพูดว่า ทรงพระเจริญ ซึ่งการแสดงออกในลักษณะดังกล่าวน่าจะเป็นการแสดงออกต่อพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีคนก้มลงจับข้อเท้าของจำเลยและตะโกนว่า ทรงพระเจริญ จำเลยไม่ได้แสดงท่าทางปัดป้องหรือห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมหยุดการกระทำแต่อย่างใด มีทั้งเสียงเพลงมาร์ชราชวัลลภ เสียงตะโกนว่า ทรงพระเจริญ เสียงกรีดร้องด้วยความสนุกสนาน และเสียงปรบมือด้วยความสะใจ ซึ่งเพลงมาร์ชราชวัลลภเป็นเพลงที่สื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และการใช้เสียงตะโกนว่า ทรงพระเจริญ’ ‘พระราชินีสวยมากและ ในหลวงสู้ๆทำให้เข้าใจเป็นบุคคลอื่นไม่ได้ ระหว่างเปิดเพลงก็ยังมีผู้ชุมนุมเปล่งเสียงว่า ทรงพระเจริญ ซึ่งเป็นคำราชาศัพท์ที่ใช้กับพระมหากษัตริย์และพระราชินี  รวมทั้งมีเสียงผู้ชมโห่ร้อง-ปรบมือด้วยความสะใจ ทำให้เห็นว่า การแสดงดังกล่าวแสดงให้ผู้ชมถูกใจ ตลกขบขัน”

คดีนี้ เป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงไม่ซับซ้อน เห็นได้จากการที่ทนายความจำเลยใช้คำถามค้านที่แทบจะไม่ได้เป็นประโยชน์กับรูปคดีเท่าใดนัก เช่น “พยานผู้กล่าวโทษอยู่ในเหตุการณ์หรือไม่” ซึ่งคำตอบของพยานนั้น การที่พยานจะอยู่ หรือไม่อยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะหลักฐานที่พยานมีคือภาพและคลิปวิดีโอที่จำเลยกระทำความผิดชัดเจน ถือเป็นหลักฐานที่แน่นหนา ยากที่จะปฏิเสธว่าบุคคลในภาพหรือในคลิปวิดีโอไม่ใช่จำเลย

ทนายความจำเลยพยายามถามค้านอีกด้วยว่า “การแต่งกายชุดไทยเป็นเรื่องปกติที่ใครก็สามารถทำได้ เช่นการแต่งกายไปงานอุ่นไอรัก เป็นต้น และในวันเกิดเหตุ มีบุคคลอื่นแต่งกายชุดไทยด้วยหรือไม่ การเดินแฟชั่นบนพรมแดงงานอื่นๆ ผู้เดินแฟชั่นก็จะมีการปฏิสัมพันธ์ แตะตัวผู้ชมด้วย ใช่หรือไม่”

นอกจากนั้น คำถามค้านของทนายจำเลยบางคำถาม ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็น เช่น “พฤติการณ์ของจำเลยถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่” ซึ่งการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็นกับที่ว่า จำเลยดูหมิ่นสมเด็จพระราชินีหรือไม่ การตั้งคำถามทำนองนี้ ไม่ได้มีประโยชน์กับรูปคดีของตัวจำเลยเองทั้งสิ้น

คำถามค้านของทนายจำเลยคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “ผู้แสดงบนเวที ไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมผู้ชมได้ ใช่หรือไม่” โดยคำถามนี้ ทนายจำเลยพยายามถามนำเพื่อชี้ประเด็นไปว่า การส่งเสียงตอบรับจากผู้ชม การโห่ร้องสะใจ พฤติการณ์ล้อเลียน หรือการตะโกน “ทรงพระเจริญ/ในหลวงสู้ๆ” เป็นสิ่งที่จำเลยไม่สามารถควบคุมได้ เป็นเรื่องนอกเหนือความรับผิดชอบของจำเลย

แต่อย่างไรก็ดี ในคำถามนี้ พยานโจทก์ปากหนึ่งเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า – “ในการแสดงละคร ผู้แสดงจะเล่นไปตามบท สำหรับการเดินแฟชั่นที่เกิดขึ้นแม้จะไม่มีบท แต่ผู้จัดก็มีความต้องการสื่อสารว่าต้องการสื่อความหมายถึงอะไร และผู้แสดงก็ย่อมต้องรู้ว่าตัวเองแสดงเป็นใคร ในการแสดงที่เป็นการแสดงสด ผู้จัดจะไม่สามารถควบคุมอากัปกิริยาของผู้ชมได้ แต่ผู้จัดก็รู้ได้ว่าการแสดงที่เกิดขึ้นน่าจะนำไปสู่การตอบสนองในลักษณะใดบ้าง เพราะการใช้เสื้อผ้ากิริยาท่าทางก็สามารถช่วยทำให้ผู้ชมมีอากัปกิริยาไปทางใดทางหนึ่งได้ สำหรับการเดินแฟชั่นที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงสดที่ผู้แสดงไม่สามารถควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมล่วงหน้าได้ แต่ผู้จัดก็พอจะคาดการปฏิกิริยาของผู้ชมล่วงหน้าได้จากธีมและเนื้อหาการแสดงว่าผู้ชมจะมีปฏิกิริยาไปทางใด ตามหลักวิชาชีพ การเดินแฟชั่น ทางผู้จัดจะไม่ปล่อยให้มีการเดินแฟชั่นโดยไม่กำหนดตัวผู้ร่วมเดิน แต่หากผู้จัด จัดงานในลักษณะเป็นงานเปิดที่ใครเข้าร่วมก็ได้ ผู้จัดก็จะต้องรับผิดชอบหากควบคุมปฏิกิริยาของผู้ชมไม่ได้

ส่วนกรณีที่สมเด็จพระราชินีทรงไว้ผมยาว จำเลยไว้ผมสั้น โดยไม่ได้เกล้าผม ซึ่งแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในมิติการแสดง ผู้แสดงไม่จำเป็นต้องทำให้ตัวเองเหมือนกับคนที่แสดงเป็น ทุกกระเบียดนิ้ว เพียงแค่แสดงเทียบเคียงให้พอตีความได้ว่าแสดงเป็นใครก็ถือว่าใช้ได้แล้ว การกระทำของนักแสดงมีองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งข้อความบนป้าย การแต่งกาย ท่าทางของผู้เดินแฟชั่น ทำให้เข้าใจว่าผู้จัดต้องการสื่อถึงสถาบันฯ ขณะที่ผู้ชมซึ่งมีความคิดต่อต้านสถาบันฯ ก็แสดงอาการสะใจกับการดูหมิ่น และทำให้เข้าใจได้ว่าผู้จัดต้องการเสียดสีสมเด็จพระราชินี”

คำถามค้านของทนายจำเลย ไม่ได้ทำลายน้ำหนักข้อเท็จจริงว่าจำเลยดูหมิ่น พยายามแต่งกายเลียนแบบสมเด็จพระราชินีเลย เนื่องจาก พฤติการณ์ประกอบการกระทำและบรรยากาศในเหตุการณ์ ล้วนแล้วแต่ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่า จำเลยมีเจตนาดูหมิ่นสมเด็จพระราชินี

ในส่วนของประเด็นข้อกฎหมายมาตรา 112 นั้น มีการรวมองค์ประกอบข้อหาดูหมิ่น และหมิ่นประมาททางอาญาเอาไว้ด้วย กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายอาญาภาค3 ความผิดลหุโทษในมาตรา 393 บัญญัติว่า “ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ซึ่งตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น การดูหมิ่น คือการกระทำ การเหยียดหยาม การสบประมาท การทำให้อับอาย ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำโดยทางกาย หรือวาจาก็ได้ และการกระทำนั้นเป็นการลดคุณค่าผู้ถูกดูหมิ่นลงโดยผู้ที่หมิ่น ดังนั้นจึงอาจเป็นคำด่า คำหยาบ สบประมาท ล้อเลียนเสียดสีให้ผู้ถูกดูหมิ่นถูกด้อยค่า

และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนั้น แนวทางการต่อสู้คดีดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท (ซึ่งเป็นฐานความผิดหนึ่งของ มาตรา 112) ตามประเด็นข้อกฎหมายจะมีแนวทางที่ค่อนข้างชัดเจน และเข้าใจได้โดยง่าย อีกทั้งการพิจารณาว่าข้อความหรือพฤติการณ์ใดจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น กฎหมายจะไม่คำนึงถึงแต่เฉพาะความนึกคิดหรือความเข้าใจของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าเป็นโจทก์ จำเลย หรือพยาน แต่กฎหมายจะพิจารณาไปถึงว่า บุคคลทั่วๆ ไปในสังคม มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร หรือในทางกฎหมายจะเรียกบุคคลทั่วๆ ไปในสังคมว่า “วิญญูชน” หรือหากจะกล่าวในภาษาพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็จะพูดได้ว่า “ใครเห็น ใครก็ดูออกว่าหมายถึงใคร”

ข้อเท็จจริงจากพฤติการณ์ในคดีนี้ แม้จำเลยจะกล่างอ้างยืนยันหนักแน่นว่า ตนเองไม่ได้มีเจตนาให้เป็นการดูหมิ่นสมเด็จพระราชินีก็ตาม แต่หากบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวของจำเลย คือการกระทำที่เป็นการดูหมิ่นสมเด็จพระราชินี กฎหมายก็จะถือว่าจำเลยมีความผิดฐานดูหมิ่น เมื่อเป็นการดูหมิ่นตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หากบุคคลที่ถูกดูหมิ่นมีตำแหน่งสมเด็จพระราชินี ก็จะถือว่าเป็นความผิด มาตรา 112 ไปด้วยโดยอัตโนมัติทันที

จะเห็นได้ว่า กรณีการตัดสินคดีของ นิว จตุพร จึงไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไรเลย เพราะการกระทำของจำเลย (ที่ไม่ใช่แค่ใส่ชุดไทย) ล้วนเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาทอย่างชัดเจน และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกรอบของกฎหมายมาควบคุมพฤติการณ์เหล่านี้ เพราะการดูหมิ่น ล้อเลียน เสียดสี ด้อยค่าศักดิ์ศรีของบุคคลอื่น หรือที่เราเรียกว่าการ “Bully” นั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ในสังคมประชาธิปไตย

ที่มา :

[1] ฐานข้อมูลคดี จตุพร : แต่งชุดไทยเดินแฟชั่นเสียดสีพระราชินี

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า