เรื่องจริงแจ่มแจ้ง ความไม่เกี่ยวข้องกันของเงินถุงแดง กับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบัน

กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ร.ศ. 112 นับเป็นเหตุการณ์แห่งความสิ้นหวัง ประเทศไทยเกือบสูญเสียเอกราชให้กับฝรั่งเศส หากไม่ได้ “เงินถุงแดง” ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเก็บสะสมไว้จากการตั้งทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และได้นำมาใช้สมทบเข้ากับเงินคงคลัง เพื่อไถ่ถอนประเทศจากข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส ชนิดจวนเจียนเส้นตายราวปาฏิหาริย์ [1]

“เงินถุงแดง” หรือ “เงินข้างที่” จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในพระเอก ที่ช่วยประเทศให้รอดจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ดั่งคำของในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงตรัสว่า “ให้เก็บไว้ไถ่บ้านไถ่เมือง”

แต่ก็ยังมีความคลุมเครือที่ว่า “เงินถุงแดง” คือเงินในส่วนของ “กรมพระคลังข้างที่” หรือไม่? ซึ่งกรมพระคลังข้างที่นี้เองที่ต่อมาได้ยกระดับความสำคัญ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ในปัจจุบัน

เรื่องราวจะเป็นอย่างไร…วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังแบบเคลียร์ ๆ กันไปเลย

“เงินถุงแดง” ไม่ใช่เงินที่อยู่ในส่วนราชการ เป็นแค่กำปั่นใส่เงินแยกออกมา นึกภาพง่าย ๆ ก็คืองบเงินสดย่อยในทางบัญชีนั่นเอง เป็นเงินส่วนที่แยกมาใช้จ่ายเพื่อความคล่องตัว โดยจะเบิกมาจาก “พระคลังข้างใน” ซึ่งมี “ท้าวทรงกันดาล” เป็นผู้บังคับ​บัญชา

การที่เราเข้าใจกันสับสน เนื่องมาจากคำอธิบายในสาส์นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้บันทึกไว้ว่า “พระคลังข้างที่” เคยหยิบใช้เงินข้างที่ (เงินถุงแดง) มานานแล้ว เราจึงพากันเข้าใจว่า “เงินถุงแดง” เป็นต้นกำเนิดของ “กรมพระคลังข้างที่”

“เงินถุงแดง” คือเงินเหรียญนกเม็กซิกัน ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศที่ไม่ได้ใช้หมุนเวียนทั่วไปตามท้องตลาด [2] โดยในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงมีพระราชดำริ ให้เก็บไว้เป็นทุนสำรอง ซึ่งก็เป็นเรื่องตามหลักการเงินการคลังภาครัฐอยู่แล้ว แต่กรมพระยาดำรงราชานุภาพคงเพิ่มเติมลงไปในสาส์นด้วยว่า เงินถุงแดงมีไว้ยามบ้านเมืองวิกฤต ทีนี้ก็เลยพากันทึกทักไปว่า “เงินถุงแดง” คือเงินในส่วนของ “กรมพระคลังข้างที่”

ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าข้อเท็จจริง เงินถุงแดงถูกนำไปวางเป็นเงินมัดจำค่าปรับแก่ทางฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ก็ตาม แต่เงินในส่วนนั้นมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เพราะในตอนนั้นระบบการคลังของไทย มีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว การจ่ายเงินค่าปรับ ร.ศ. 112 จึงใช้เงินแผ่นดินจ่ายอย่างแน่นอน และเมื่อรวมกับเงินเหรียญนกถุงแดงแล้ว ก็มากพอในการฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

เงินเหรียญนกเม็กซิกัน “เงินถุงแดง” ซึ่งรัชกาลที่ ๓ ตรัสว่า “ให้เก็บไว้ไถ่บ้านไถเมือง” : อ้างอิงจาก อิสรภาพไทยแลกด้วยค่าไถ่ 3 ล้านฟรังก์ ร.ศ. 112 หาเงินจากไหนให้ฝรั่งเศส โดย อ.ไกรฤกษ์ นานา

การแยกเงินส่วนพระองค์ ออกจากเงินแผ่นดิน มีที่มาจากภัยคุกคามฝรั่งเศสบริเวณลุ่มน้ำโขง ซึ่งส่งผลให้โครงการรถไฟสายเหนือในขณะนั้น ถูกยกเลิกกลางอากาศ รัฐบาลจึงหันมาเร่งทำทางรถไฟสายโคราชก่อน

รถไฟสายโคราชนี่แหละเป็นต้นกำเนิดของ “กรมพระคลังข้างที่”

ในขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างผู้เชี่ยวชาญการคลังชาวอังกฤษชื่อ มิตเชล อินเนส (Mitchel Innes) เข้ามาเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งทาง อินเนส ได้ทูลถวายความเห็นว่า ถ้าอาศัยระบบการคลังแบบที่เป็นอยู่ การสร้างทางรถไฟราว ๆ 200 กิโลเมตร อาจต้องใช้เวลานับสิบปี

ประการแรกที่ อินเนส ชงเรื่องคือ พยายามเสนอให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 กู้เงินมาสร้างทางรถไฟ ซึ่งท่านก็ทรงเห็นคล้อยตามคำแนะนำ โดยมีพระราชกระแสว่า “ถ้าจะกู้เพื่อการลงทุนเป็นดอกเป็นผล ก็ไม่รังเกียจ ถ้าหากกู้มาซื้ออาวุธจะไม่เห็นด้วย”

ประการที่สอง อินเนส เสนอต่อไปว่า การกู้เงินมหาชน (Public Loan) จำเป็นจะต้องมีการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อแสดงรายรับรายจ่าย โดยให้เหตุผลว่า “ให้มหาชนเชื่อในความมั่นคง (credit) ของประเทศนั้น” เพราะการแสดงฐานะทางการเงิน นอกจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่จะลงทุนพันธบัตรแล้ว ฐานะทางการเงินที่ดีจะช่วยให้ดอกเบี้ยหน้าตั๋วถูกลงด้วย เพราะว่าถ้านักลงทุนขาดความเชื่อมั่น พันธบัตรก็จะขายยาก ต้องเพิ่มดอกเบี้ยเข้าไปอีก จะส่งผลให้การกู้ครั้งต่อ ๆ ไป มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น

ประการที่สาม มีการจัดทำแนวทางงบประมาณแผ่นดินไว้แล้ว โดยให้โควต้าเงินส่วนพระองค์ 15% ของงบประมาณ ข้อนี้ อินเนส ทูลว่าในยุโรป จะกำหนดกันเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระราชกระแสตามที่เสนอ โดยสั่งให้กระทรวงพระคลังเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินส่วนพระองค์มา

ซึ่งได้สร้างความประทับใจต่อ อินเนส เป็นอย่างมาก จนถึงกับบอกว่าประเทศอื่นมีแต่พระเจ้าแผ่นดินเรียกร้องจะเอาเท่านั้นเท่านี้ แต่เมืองไทยกลับให้เสนาบดีเป็นผู้กำหนดมาให้

เป็นอันว่าคำเสนอแนะของ อินเนส ผ่านฉลุย ส่งผลให้กรมพระคลังมหาสมบัติยกฐานะขึ้นเป็น “กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ” และตั้ง “กรมพระคลังข้างที่” ขึ้นมาดูแลพระราชทรัพย์ในราชการส่วนพระองค์

แต่ในเวลาต่อมา ปรากฎว่าการใช้จ่ายใด ๆ ในส่วนพระองค์ กลับถูกเสนาบดีจับยัดไปลงกรมพระคลังข้างที่หมด ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายซ่อม-สร้างวัง รายจ่ายบำเหน็จ-เครื่องราชฯ ไปจนถึงเรื่องอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่เสนาบดีทั้งหลาย จนในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปรารภกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเงินไม่พอใช้ (แต่ไม่ได้บ่นเอาความใดใดกับเสนาบดีพระคลัง) กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2453 กระทรวงพระคลังจึงเพิ่มเงินส่วนพระองค์ให้เป็น 9 ล้านบาท แต่พอเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังก็ตัดเหลือ 6 ล้านบาทเหมือนเดิม

ปี พ.ศ. 2435 ได้มีการแยกงบประมาณราชการแผ่นดิน กับส่วนพระองค์ ออกจากกันเด็ดขาด กล่าวคือ โอนย้ายกรมพระคลังข้างที่ซึ่งสังกัดกระทรวงพระคลัง ไปขึ้นต่อกระทรวงมุรธาธร [3]

นับแต่นั้น “กรมพระคลังข้างที่” ก็อยู่ในบังคับบัญชา​ส่วนพระองค์ จนกระทั่งเปลี่ยนไปเป็น “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา​กษัตริย์” และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งในวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เป็น “สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”

แต่ทรัพย์สินหลาย ๆ รายการ ก็ไม่ได้อยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินแปลงริมถนนราชดำริ 67 ไร่ ซึ่งสลักหลักโอนชื่อเป็นพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 6 และทรงมีพระบรมราชโองการ ยกที่ให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไว้เก็บดอกผล

ทั้งนี้ แม้จะเป็นโฉนดในพระปรมาภิไธยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหา​กษัตริย์ดูแล โดยที่ดินของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยนั้น อยู่ในความดูแลของสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง (คนละส่วนกับกรมพระคลังข้างที่ ที่เปลี่ยนมาเป็นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์)

จนมาถึง พ.ร.บ. ทรัพย์สินพระมหา​กษัตริย์ 2561 ทรัพย์สินทุกประการก็กลับมาอยู่ในความดูแลเป็นปึกแผ่น โอนเปลี่ยนชื่อมาเป็นพระปรมาภิไธยของในหลวงรัชกาลที่ 10

ก่อนที่จะพระราชทานโฉนดที่ดิน ให้โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยไว้จัดการดูแลเอง

สิ่งที่พระราชทานไม่ใช่แค่โฉนด แต่เป็นการพระราชทานที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง พระราชทานสัญญาเช่า (สัญญาที่เอกชนเช่าที่ดินที่ได้รับพระราชทาน)​ ตลอดจนพระราชทานทั้งเงินสด เงินฝาก และตราสารทุน อาทิหุ้นในบริษัท SCG ให้แก่ทางโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด