เมื่อหนังสือ ขุนศึก ศักดินาฯ ด้อยค่ารัฐธรรมนูญด้วยอคติ กล่าวหารัฐธรรมนูญ 2492 ว่าเป็นฉบับรอยัลลิสต์

ในปัจจุบันได้มีงานเชิงวิชาการหลายชิ้นที่ศึกษาการเมืองไทยและรัฐธรรมนูญด้วยวัตถุประสงค์ของการศึกษาที่แตกต่างกันไป ในงานชิ้นหนึ่งที่เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และอาจจะเป็นงานชิ้นที่จุดประกายการถกเถียงรัฐธรรมนูญฉบับที่จะกล่าวถึงต่อไปให้เกิดขึ้น คือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง

ซึ่งในงานดังกล่าวแม้ชื่องานจะใช้ชื่อว่าเป็นการศึกษา “การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491 – 2500” ซึ่งอาจจะฟังดูแล้วเป็นงานในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ภายในเนื้อหานั้นอัดแน่นไปด้วยการวิเคราะห์การเมืองไทยภายในประเทศ โดยฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของกลุ่มกษัตริย์นิยมหรือที่ถูกเรียกว่า “รอยัลลิสต์” กับกลุ่มการเมืองอื่นๆ ในขณะนั้น

หนึ่งในประเด็นที่ถูกใช้ให้เห็นว่ากลุ่มรอยัลลิสต์และสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามเกี่ยวข้องทางการเมืองอย่างมากและมีบทบาทในการเตะตัดขาระบอบประชาธิปไตยนั้นคือการกล่าวถึงการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่ถูกระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์หรือเป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการใช้อำนาจทางการเมืองของกลุ่มกษัตริย์นิยม

ก่อนที่จะกล่าวถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ต้องย้อนกลับไปเสียก่อนว่าก่อนหน้านั้นได้เกิดรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ขึ้น โดยความสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ถูกร่างขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองและเป็นความพยายามในการประนีประนอมของปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่เคยมีการกระทบกระทั่งกันก่อนหน้าโดยเฉพาะกลุ่มของรอยัลลิสต์ ดังปรากฏว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้คืนสิทธิการเข้าร่วมในระบบการเมืองให้กับเชื้อพระวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า[1] รวมไปถึงการออกแบบโครงสร้างทางรัฐสภาที่มีการกล่าวกันว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างการให้สมาชิกพฤฒสภา (วุฒิสภาในปัจจุบัน) มาจากการเลือกตั้ง (ทางอ้อม)[2]

นอกจากนั้นอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ยังได้ชี้อีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากห้ามข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้มีการแยกข้าราชการกับการเมืองออกจากกัน และยังกล่าวอีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะต่อต้านอำนาจระบบข้าราชการและระบอบอำนาจนิยมอีกด้วย[3] ดังนั้นแล้วเมื่อเกิดการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ขึ้น รัฐธรรมนูฉบับต่างๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นก็ดูเหมือนจะเสียสถานะความเป็นประชาธิปไตยเหล่านี้ไป เพราะถูกวิเคราะห์กันว่ามีแต่กลุ่มอำนาจนิยมและกลุ่มรอยัลลิสต์ที่ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ทำให้เกิดการตีความไปว่า ดังนั้นแล้วประชาธิปไตยหลังจาก พ.ศ. 2489 ได้สิ้นสุดตัวลงไป หรือเป็นภารกิจอันล้มเหลวของคณะราษฎร หรือ “การล่มสลายของลัทธิรัฐธรรมนูญ” ก็ว่าได้[4]

อย่างไรก็ดีต้องกล่าวด้วยว่าในก่อนหน้านั้นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 นั้นก็ได้ถูกใช้ไปในทางที่ผิด การที่ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมล่มสลายลงไปนั้นจะโยนให้เป็นความคิดแค่จุดใดจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ไม่ได้ เพราะการกระทำของผู้มีอำนาจก่อนหน้าก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าจะตั้งใจให้ลัทธิรัฐธรรมนูญนิยมนี้ดำรงอยู่คู่กับระบอบใหม่ให้นานที่สุดแต่อย่างใด และในสภาผู้แทนราษฎรนั้นก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรสายพลเรือนอย่างปรีดี พนมยงค์และชนชั้นนำทางการเมืองขณะนั้นก็สามารถควบคุมคณะกรรมาธิการที่ร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน[5] รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นการต่อรองระหว่างชนชั้นนำเป็นส่วนมาก การเชื่อมโยงกับประชาชนนั้นไม่ได้มากอย่างที่คิดนอกจากการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตย เราจึงไม่สามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่าการเลือกตั้งพฤฒสภาที่มีอยู่คือประชาธิปไตยโดยละเลยบริบททั้งหมดไป

สำหรับประเด็นของการเป็นรัฐธรรมนูญฉบับรอยัลลิสต์นั้น ณัพลได้ระบุไว้ในหนังสือหน้า 67-68 ว่า[6] รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 เป็นการออกแบบที่ให้อำนาจแก่สถาบันพระมหากษัตริย์และสร้างความได้เปรียบทางการเมืองแก่กลุ่มรอยัลลิสต์และพรรคประชาธิปัตย์ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการเลือกสมาชิกพฤฒสภาโดยมีประธานองคมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และมีพระราชอำนาจทางทหารด้วยการกำหนดให้เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง นอกจากนี้บทบัญญัติการห้ามข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่าจอมพล ป. และกลุ่มของเขาไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

ในเรื่องการมีพระราชอำนาจทางทหารนั้น เป็นการกล่าวอย่างไร้เหตุผลและไม่มีความคิดอย่างมาก เพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองว่าพระมหากษัตริย์ทรงมี “พระราชอำนาจทางทหาร” อย่างที่กล่าวเลย

ประเด็นที่สำคัญที่สุดในที่นี้เห็นจะเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกพฤฒสภาได้ ซึ่งดูจะเป็นประเด็นที่ถูกพูดอย่างมาก อย่างไรก็ดีดังที่กล่าวไปว่าควรจะดูบริบทให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สาเหตุที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นต้องการให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้เลือกเองโดยตรง ก็เนื่องจากต้องการให้สถานะของสภานี้สูงขึ้นและไม่ขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง[7] ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าก่อนหน้านั้น “สภาสูง” แห่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา การหาหนทางในการทำให้เป็นสภาที่ทำงานได้จริงจึงถูกตีห่างจากการเมืองออกไปนั่นเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าตรงตามความต้องการของรัชกาลที่ 7 ที่ต้องการให้สมาชิกประเภทที่ 2 ช่วยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การออกแบบโครงสร้างในสภาสูงเช่นนี้ทำให้ฝ่ายบริหารแทรกแซงทางการเมืองได้ยาก และยังมีการวางหลักประกันความสุจริตของสมาชิกสภาสูงไว้หลายส่วน ซึ่งเป็นการทำให้ทหารไม่สามารถมามีบทบาททางการเมืองได้ ดังนั้นแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ “สู้” กับระบอบอำมาตยาธิปไตยเช่นดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489

ในการเลือกผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาสูงนั้น ควง อภัยวงศ์ ไม่ยอมให้คณะรัฐประหารเข้ามามีอิทธิพลเลย การแยกข้าราชการออกจากการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ปรากฏเช่นเดียวกัน[8] รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นความพยายามในการออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายเพื่อขจัดอำนาจทหารในความเป็นจริงซึ่งปกคลุมในขณะนั้นอยู่ นอกจากนี้แม้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้เลือกและอาจกระทบกับสถานะของการอยู่เหนือการเมือง แต่เจตนารมณ์นั้นก็มีขึ้นเพื่อให้พระมหากษัตริย์คานอำนาจฝ่ายบริหารที่มีอำนาจและอิทธิพลสูงในขณะนั้น[9] ดังนั้นการมองว่าระบอบใดจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องดูทั้งในแง่โครงสร้างกฎหมายและความเป็นจริงไปพร้อมกัน โดยไม่อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยเพราะอาจส่งผลให้ลดทอนคำอธิบายที่ควรเป็นได้

นอกจากนี้สภาสูงเองก็ไม่มีอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจทำได้แต่เพียงสอบถามและนำความเห็นให้แก่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และยังมีการบัญญัติประเด็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยละเอียดมากยิ่งขึ้น[10] รวมไปถึงการที่พระมหากษัตริย์สามารถให้มีการริเริ่มลงประชามติในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีที่อาจเกิดผลเสียต่อประชาชนได้[11] ซึ่งส่วนนี้มาก่อนรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ.1958 ที่ระบุให้ประธานาธิบดีสามารถเสนอให้ประชาชนลงประชามติได้อีกด้วย[12]

โดยสรุปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 แม้จะมีประเด็นที่พระมหากษัตริย์ทรงสามารถเลือกสมาชิกสภาสูงได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้กลไกต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญนี้ออกแบบเป็นการทำลายประชาธิปไตย เพราะโครงสร้างและมาตราต่างๆ นั้นถูกออกแบบมาเพื่อคานอำนาจและมีความพยายามในการจัดการกับปัญหาทางการเมืองให้ได้เสียก่อน การกล่าวว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เป็นฉบับรอยัลลิสต์จึงเป็นการกล่าวที่เกินความจริงไปเสียหน่อย และน่าแปลกใจว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2489 เปิดโอกาสให้เจ้ามาเล่นการเมืองอย่างชัดเจนกลับไม่ถูกเรียกว่าเป็นฉบับรอยัลลิสต์เพียงเพราะปรีดีเป็นคนออกแบบมันหรือ?

อ้างอิง :

[1] ณัฐดนัย นาจันทร์, การใช้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดสร้างรัฐธรรมนูญใหม่: ข้อสังเกตว่าด้วยการจัดสร้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ภายใต้มุมมองของแนวคิดรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565): 19.
[2] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 มาตรา 24.
[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่,” ใน ประวัติการเมืองไทย: 2475-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), หน้า 445-450.
[4] เรื่อง “รัฐประหาร 2490 กับการล่มสลายของลัทธิธรรมนูญ” จากเว็บไซต์ของสถาบันปรีดี พนมยงค์.
[5] ณัฐดนัย นาจันทร์, การใช้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อจัดสร้างรัฐธรรมนูญใหม่: ข้อสังเกตว่าด้วยการจัดสร้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ภายใต้มุมมองของแนวคิดรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำ วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2565): 11-12.
[6] ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี: การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491-2500 (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2563), หน้า 67-68.
[7] มุกดา เอนกลาภากิจ, “รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 104.
[8] มุกดา เอนกลาภากิจ, “รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 105-107.
[9] มุกดา เอนกลาภากิจ, “รัฐธรรมนูญและสถาบันการเมือง : ศึกษารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492,” (วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 104.
[10] ณัฐดนัย นาจันทร์, ความเข้าใจผิดระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2489 และ 2491 วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (กรกฏาคม – ธันวาคม 2564): 9 และ 11.
[10] ณัฐดนัย นาจันทร์, ความเข้าใจผิดระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2489 และ 2491 วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (กรกฏาคม – ธันวาคม 2564): 13.
[11] ณัฐดนัย นาจันทร์, ความเข้าใจผิดระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกับการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ในปี พ.ศ. 2489 และ 2491 วารสารกฎหมายสงขลานครินทร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (กรกฏาคม – ธันวาคม 2564): 13.
[12] Constitution of 4 October 1958 Article 89.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว