เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาไทยในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 2

เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 1

การปฏิรูปการศึกษาให้เป็นระบบใหม่ตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 นั้นแบ่งได้เป็น 4 ระยะ โดยในบทความแรก ฤๅ ได้นำเสนอการปฏิรูปการศึกษาในระยะที่ 1 ซึ่งเป็นช่วงก่อนตั้งโรงเรียน และระยะที่ 2 คือช่วงทดลองโรงเรียน สำหรับในบทความนี้ คือการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในระยะต่อมา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญ นั่นคือ การปฏิรูปโรงเรียนทั้งประเทศ

ระยะที่ 3 พ.ศ. 2428 – 2430 ปฏิรูปโรงเรียนทั้งประเทศ

การปฏิรูปโรงเรียนของประเทศไทย ขั้นที่ 1

มีการแต่งแบบเรียนเพิ่มเติมเพื่อใช้ในโรงเรียนแบบใหม่ และมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดทำสำเนาเรียบเรียงที่จะจัดการโรงเรียน (รายงานการปฏิรูปโรงเรียน)

โดยในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานเรื่องการจัดโรงเรียนแบบใหม่ตามพระราชกระแสรับสั่ง ก่อนหน้าที่จะให้มีการเรียบเรียงแบบสอนวิชาต่าง ๆ เพื่อรองรับการจัดตั้งโรงเรียนแบบใหม่ที่จะขยายการจัดตั้งเพิ่มมากขึ้น ความว่า …

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.. 2428

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบให้ฝ่าลอองธุลีพระบาทพระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ

ด้วยแบบสอนวิชาต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พนักงานแบ่งกันไปเรียบเรียงนั้น บัดนี้ก็จวนจะถึงกำหนดที่หนังสือเหล่านั้นจะสำเหร็จบริบูรณ์แล้วข้าพระพุทธเจ้า เหนด้วยเกล้าฯ ว่า การที่จะจัดทำต่อไปนั้น คือจะต้องตั้งแบบแผนแลอัตราโรงเรียน สำหรับที่จะใช้แบบเรียนเหล่านั้นก็เปนการสำคัญอยู่ เพราะจะต้อง ตั้งแบบสอนให้ เปนตำราอันเดียวกันทุก ๆ โรงเรียน

อีกประการหนึ่งโรงเรียนสุนันทาลัย ที่จะจัดเป็นโรงเรียนใหญ่ (ยูนิเวอสิตี) นั้น ก็เป็นการสำคัญที่จะต้องคิดให้มีนักเรียนซึ่งมีความรู้ในวิชาชั้นต้นให้พอกับที่จะเรียนในโรงเรียนนั้นก่อน

เพราะฉะนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเหนด้วยเกล้าฯ ว่า ในเวลานี้ควรจะคิดจัดโรงเรียนสำหรับสอนวิชาชั้นต้นขึ้น แลคิดตั้งธรรมเนียมเปิดการเล่าเรียนให้ได้ประโยชน์ถึงราษฎรด้วย ทั้งแบบแผนที่จะสอนก็ให้ใช้แบบเดียวกันทั้งสิ้น

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ดิศวรกุมาร”

และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ความว่า …

รูปการนั้นดีแล้ว แต่ที่เกนให้ฉเพาะสมภารเปนผู้รับผิดรับชอบฉเพาะตัวไปทีเดียว การจะเปนที่ร้อนใจมากเกินไป จนเปนทำให้เดือดร้อนในการที่ใช่กิจสมณะ เปนที่ ไปได้อย่างหนึ่ง ผู้ใดผู้หนึ่งแทนก็จะได้ดอกกระมัง แลที่ปักน่าที่เปนของใบฎีกานั้น ควรจะเปนถานาผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเปน กำกับสกูลหาไม่ ดูใบฎีกาไป เฉพาะได้นิจภักตร์ ที่ว่าด้วย ให้แก้ไขเรียบเรียงวิธีขึ้น”

สำเนาเรียบเรียงที่จะจัดการโรงเรียน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 กอมมิตตี กราบบังคมทูลเกล้าฯ ถวาย “สำเนาเรียบเรียงที่จะจัดการโรงเรียน” ซึ่งเป็นโครงการวางแผนปฏิรูประบบการศึกษาสำหรับประเทศไทย มีการวางแผนไว้ ดังนี้

(ก) จัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
            (1) โรงเรียนสามัญ
            (2) โรงเรียนวิเสศ
            (3) โรงเรียนสอนวิชาชั้นสูง
(ข) จัดตั้ง 30 โรงเรียนใน 30 ตำบล
(ค) จัดทำโครงสร้างอัตรากำลังของโรงเรียนและอัตราเงินเดือน
(ง) กำหนดอัตราอาจารย์ต่อนักเรียน คือ 1 ต่อ 30
(จ) ให้เรียนโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน หนังสือ กระดานชนวน เครื่องเรียน เป็นของหลวงหรือเป็นของผู้บำรุงโรงเรียน
(ฉ) ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ เจ้าอาวาส มีหน้าที่ช่วยเหลือจัดการโรงเรียน
(ช) โรงเรียนพระอารามหลวงให้เจ้าอาวาสเป็นผู้รับผิดชอบ และหากมีนักเรียนเกิน 200 คน จะมีความดีความชอบได้เลื่อนสมณศักดิ์
(ซ) โรงเรียนชั้นตั้น ได้แก่ โรงเรียนพระอารามหลวง และโรงเรียนวิเสศ
(ฌ) โรงเรียนชั้นสูง (ยูนิเวอสิตี) ได้แก่ โรงเรียนสุนันทาไลย ประกอบด้วย
            (1) โรงเรียนหนังสือไทย
            (2) โรงเรียนธรรมและโรงเรียนบอกพระคัมภีร์
            (3) โรงพิมพ์และหอสมุด

ตั้งโรงพิมพ์ สำหรับพิมพ์หนังสือและแบบเรียน

ต่อมา ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2428 ได้มีการตั้งโรงพิมพ์หลวงเพิ่มอีก 1 โรง ชื่อ “สึกสาพิมพ์การ” สำหรับการพิมพ์หนังสือและแบบเรียน

หมอวิลลิศ เสนอขอสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตก ครั้งที่ 1

ในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2428 นายพันโท พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลเรื่อง หมอวิลลิศเสนอว่า จะสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตกแบบให้เปล่า ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชหัตถเลขาตอบว่า “ออกไม่ใคร่เชื่อว่าจะสอนสำหรับเปล่าทำไม แต่ที่สอนไว้นั้นดีมาก”

รายงานโรงเรียน ฉบับที่ 1

วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2428 รายงานโรงเรียน ฉบับที่ 1 ระบุว่า …

จำนวนโรงเรียนที่อยู่แล้วก่อนเดือนเจด 9 แห่ง คือ โรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง 2 แห่ง โรงเรียนนันทอุทยานแห่ง 1 โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเทพ 4 แห่ง โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเก่าแห่ง 1 โรงเรียนในพระอารามเมืองสมุทรปราการแห่ง 1 ในเดือนเจดได้ตั้งโรงเรียนขึ้นอีก 10 แห่ง คือ โรงเรียนในพระอารามแขวงกรุงเทพ 7 แห่ง กรุงเก่ารวม 3 แห่ง รวมทั้งเก่าใหม่เป็นโรงเรียน 19 แห่ง …”

ตั้งสมุหบัญชีและผู้ตรวจราชการโรงเรียน (Inspector)

วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2428 แผนกโรงเรียน กรมทหารมหาดเล็ก ได้มีการแต่งตั้งสมุหบัญชีและผู้ตรวจราชการโรงเรียน (Inspector)

สอบไล่นักเรียนครั้งแรก

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2428 เริ่มมีการสอบไล่นักเรียนเป็นครั้งแรก ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ มีหลักสูตรเรียนภาษาไทยแบบ 2 ประโยค และมีการออกกฎหมายการสอบเพื่อจบการศึกษา

ประกาศหลักสูตรการศึกษา 3 ประเภท

วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2429 มีการประกาศหลักสูตรการศึกษา 3 ประเภท ได้แก่

1) หลักสูตรนักเรียนภาษาไทย
            1. หัดอ่านและแปล
            2. หัดลายมือ
            3. เรียนสะเปล
            4. เรียนวิชาเลข
            5. เรียนวิชาภูมิศาสตร์
            6. เรียนแกรมเมข (แกรมม่า)
2) หลักสูตรนักเรียนภาษาอังกฤษ
            1. หัดอ่านและแปล
            2. หัดลายมือ
            3. เรียนสะเปล
            4. เรียนวิชาเลข
            5. เรียนวิชาภูมิศาสตร์
            6. เรียนแกรมเมข (แกรมม่า)
3) หลักสูตรนักเรียนแผนที่ทหาร รับนักเรียน 50 คน
            1. หัดเลขอย่างสูงสำหรับใช้ในการวัดแดดดาว 1
            2. หัดเขียน 1
            3. หัดวิชาหนังสือไทย 1
            4. หัดทำแผนที่ 1

ประกาศการสอบไล่หนังสือตามหลักสูตรประโยคต้นและประโยค 2

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2429 มีประกาศเรื่อง ประกาศในการสอบไล่หนังสือ โดยให้ตั้งแบบเรียนหลวงสำหรับสอบไล่หนังสือไทย และให้มีข้าหลวงเป็นพนักงานสอบไล่หนังสือปีละ 1 ครั้ง

หลักสูตรมี 2 ประโยค ได้แก่

1. ชั้นประโยคต้น มี 6 วิชา
            ตั้งแต่มูลบทบรรพกิจจนจบพิศาลการันต์
2. ชั้นประโยคสอง มี 8 วิชา
            (ก) ลายมือหวัดและบรรจง
            (ข) เขียนหนังสือใช้ตัววางวรรคถูกตามใจความไม่ต้องดูแบบอย่าง
            (ค) ทานหนังสือที่ผิด คัดจากลายมือหวัด
            (ง) คัดสำเนาและย่อใจความ
            (จ) แต่งจดหมาย
            (ฉ) แต่งแก้กระทู้ความร้อยแก้ว
            (ช) เลข
            (ซ) ทำบัญชี

จัดตั้งแบบแผนการจัดการศึกษาในโรงเรียน ระเบียบและวิธีการสอบไล่ประโยคต้นและประโยค 2

วันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2429 มีการจัดตั้งแบบแผนการจัดการศึกษาในโรงเรียน หรือระบบบริหารจัดการโรงเรียน โดยแบบแผนการจัดการศึกษาในโรงเรียน มีการแบ่งเป็น 2 แผนก คือ

(ก) ข้าหลวง (คอมมิชันเนอ)
(ข) แพนก 1 พนักงานไล่ (แอกแซมมิเนอ) แพนก 1
      (รายชื่อ) ข้าหลวง
           1) กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
           2) พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ
           3) พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร
           4) พระองค์ศรีเสาวภางค์
           5) พระยาศรีสุนทรโวหาร
      (รายชื่อ) พนักงานไล่
           1) พระพินิจวินัย
           2) พระผดุงสุลกกฤต
           3) ขุนนิพนธ์ไพเราะ
           4) ขุนวรการโกศล

โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ได้กราบบังคมทูลถวายรายงานเรื่องการปรับปรุงระเบียบและวิธีการสอบไล่ ความว่า …

อนึ่งการไล่หนังสือ (การสอบไล่) เมื่อปีระกาสัปตศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้มีข้าหลวง 5 คน เป็นพนักงานไล่ หากการครั้งนั้นเป็นครั้งแรกพึ่งจะคิดจัดการจึ่งยังไม่ใคร่เรียบร้อย ดูเป็นที่หนักแรงข้าหลวงอยู่มากถ้าโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็น 2 แผนก คือ

ข้าหลวง (คอมมิชันเนอ) แพนก 1
พนักงานไล่ (แอกแซมมิเนอ) แพนก 1

ข้าหลวง มีพนักงานที่จะตัดสินว่าผู้ใดสอบไล่ได้แลไม่ได้ แลเปนพนักงานที่จะบังคับสิทธิ์ขาดในการไล่หนังสือ ส่วนพนักงานไล่ นั้นเป็นพนักงานสำหรับแจกประโยค ควบคุมนักเรียน แลเป็นผู้ตรวจผิดชอบหนังสือที่นักเรียนทำด้วย อย่างนี้คงจะเรียบร้อยเปนแบบแผนต่อไป …

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ดิศวรกุมาร”

การปฏิรูปโรงเรียนของประเทศไทย ขั้นที่ 2 จัดตั้งโรงเรียนพระอารามในวัดทุกตำบลทั่วประเทศ

วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2429 เริ่มต้นการขยายการศึกษาชั้นต้นออกไปสู่ราษฎร โดยจัดตั้งโรงเรียนพระอารามในวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกรมหมื่นดำรงราชานุภาพได้กราบบังคมทูลถวายรายงาน ดังนี้

1) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงวิเคราะห์การจัดการปฏิรูปโรงเรียน ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2429 ดังนี้

  1. โรงเรียน (รร.สามัญและ รร.วิเสศ) ที่จัดตั้งขึ้น 30 ตำบล เป็นโรงเรียนสอนวิชาสำหรับผู้มีตระกูล โรงเรียนที่สอนราษฎรโดยแท้มีเพียงแห่งเดียว คือ โรงเรียนที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ สาเหตุเป็นเพราะว่าราษฎรไม่รู้คุณของการโรงเรียน และไม่นิยมการเล่าเรียนอยู่เป็นพื้น
  2. ความหวาดหวั่นของราษฎรเป็นข้อขัดขวางสำคัญ (กลัวการเป็นทหาร)
  3. ฝ่ายการที่จะจัดพนักงานออกตรวจตราก็เป็นการใหม่อยู่ทั้งสิ้น คงจะยังไม่ทำการได้ถูกถ้วนเต็มที่
  4. อาจารย์ที่จะตั้งออกไปฝึกสอนวิชาก็หายาก ไม่ใคร่มีพอครบจำนวน
  5. และในอย่างที่สุด ความเห็นที่จะจัดโรงเรียนทั้งปวง ก็ยังตกอยู่ในระหว่างการคาดคะเน “ข้าพระพุทธเจ้ายังไม่เป็นที่มั่นใจว่าจะสำเร็จตลอดไปได้ดังความคิดนั้นฤๅไม่ ด้วยเหตุเหล่านี้ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้าว่า สมควรจะกำหนดไว้แต่น้อยค่อยจัดพอตั้งเป็นเค้ามูลไปก่อน แล้วจึ่งค่อยคิดขยายออกไปตามสมควรแก่การแลเวลา …”

2) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายสาเหตุการคิดขยายการจัดการศึกษาออกไปอย่างกว้างขวาง

“… เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นการสมควรจะคิดจัดการขยายออกไปได้อีกด้วยเหตุต่างๆ คือ

  1. โรงเรียนสำหรับสอนหนังสือราษฎรซึ่งได้ตั้งไว้แล้ว ยังไม่พอที่ราษฎรจะเล่าเรียน เพราะตั้งเป็นแห่ง ๆ ห่างกัน ราษฎรที่อยู่ใกล้เขตโรงเรียนก็ได้เล่าเรียน ที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็ไม่ได้เข้าเล่าเรียน
  2. โดยธรรมดาราษฎรตามหัวเมืองที่ได้เล่าเรียนหนังสือนั้นก็มักเล่าเรียนในสำนักพระสงฆ์ตามวัดเป็นพื้น วิชาหนังสือที่สอนตามวัดก็เป็นแค่ ก ข้ ก กา อยู่เกือบทุกแห่ง ถ้าหนังสือไทยแบบหลวงยังไม่แพร่หลายออกไป ราษฎรก็จะต้องเล่าเรียนไปตามแบบที่ผิดอยู่นั้นเป็นปกติ
  3. โรงเรียนสอนวิชาชั้นสูงซึ่งจะตั้งขึ้นนั้น กำหนดต่อผู้เล่าเรียนมีความรู้ตลอดในวิชาโรงเรียนชั้นต่ำนี้แล้ว จึ่งจะเข้าเป็นนักเรียนได้ เพราะเหตุนั้น ถ้าโรงเรียนชั้นต่ำยังมีน้อยอยู่ นักเรียนที่จะเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นสูงคงมีน้อยนัก
  4. โรงเรียนสอนหนังสือราษฎรในประเทศอื่น ๆ (ตามที่ข้าพเจ้าในตรวจดูในหนังสือต่าง ๆ **) มีเมืองยี่ปุ่นเป็นต้นมีจำนวนถึง 29041 โรง แต่เมืองยี่ปุ่นมีธรรมเนียมบังคับให้ราษฎรเรียนหนังสือทุกคน แลเมืองอินเดีย (ดูเหมือน) ไม่ได้มีกฎหมายเช่นนั้น แต่ยังมีโรงเรียนถึง 92931 โรง ในประเทศเหล่านี้คงจะได้ตั้งโรงเรียนตลอดทุกแขวงทุกอำเภอจึ่งได้มีจำนวนโรงเรียนมากถึงเช่นนี้ … เมืองสิงคโปร์ยังมีถึง 70 กว่าแห่ง …”

** หมายเหตุหนังสือที่กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจ 3 เล่มได้แก่

1) หนังสือว่าด้วยการศึกษาเมืองญี่ปุ่น
2) หนังสือ Statement Year Book 1884 หน้า 772
3) หนังสือ Singapore Directory 1882, Appendix K

3) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายวิธีการขยายการศึกษาไปสู่ราษฎรทั่วประเทศดังนี้

ควรจะตั้งโรงเรียนสอนหนังสือราษฎร (โรงเรียนสามัญ) ขยายให้แพร่หลายมากออกไป โดยที่สุด (ซึ่งไม่กำหนดเวลาได้ว่าจะช้าเร็วเพียงใด) จนให้มีอยู่ทุกแขวงทุกอำเภอ ซึ่งเป็นอันบริบูรณ์เต็มที่ที่ข้าพระพุทธเจ้าทำเช่นนี้เป็นแต่กะกำหนดการเมื่อบริบูรณ์เต็มที่เหมือนกับกะโปรแกรม …

การที่จะจัดจะทำไปต้องอาไศรยค่อยจัดค่อยขยายออกไปทีละน้อยสักแต่ให้เดินไปทางนั้น แล้วแต่จะสำเร็จเมื่อใดก็ตาม การที่จะจัดโรงเรียนสอนหนังสือราษฎรให้แพร่หลายออกไปเช่นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯว่า จำเป็นต้องอาศัยตั้งขึ้นตามวัดอย่างที่ตั้งมาแล้ว เพราะการตั้งโรงเรียนสอนหนังสือราษฎรขึ้นตามวัดดีกว่าตั้งที่อื่นหลายประการ คือ

  1. วัดโดยปรกติก็มีอยู่ทุกแขวงทุกอำเภอทั้งในกรุงแลหัวเมืองถ้าโดยตั้งขึ้นได้ทั่วทุกวัดก็เหมือนกับตั้งขึ้นทุกแขวงทุกอำเภออยู่เอง
  2. ปรกติวัดคงมีศาลาเป็นที่ตั้งโรงเรียนได้ทุกแห่ง ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างโรงเรียน
  3. เป็นประเพณีของราษฎรสืบมามักเอาบุตรหลานไปฝากฝังในสำนักพระสงฆ์ตามวัด เพื่อเป็นศิศยหาให้เล่าเรียนวิชาฝ่าพระสงฆ์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยศิศยในกิจต่างๆ ก็เพราะเหตุนี้
  4. การโรงเรียนเป็นที่ตั้งของขนบธรรมเนียมความเรียบร้อย ถ้าได้ตั้งอยู่ในวัดก็คงมีอานิสงฆ์ที่สามารถจะให้ขนบธรรมเนียมของวัดนั้นเรียบร้อยขึ้นได้บ้าง ฤๅกีดกันสิ่งลามกที่จะมีจะเป็นอยู่ในวัดนั้นให้เบาบางลงไป”

4) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ กราบบังคมทูลฯ ถวายความเห็น 6 ข้อ สรุปย่อไว้ดังนี้

  1. ขยายการจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองก่อน เพราะในกรุงมีมากแล้ว
  2. แจ้งพระสงฆ์ให้ทราบว่า ให้ใช้แบบเรียนหลวงสอนในโรงเรียน
  3. ให้วัดทำรายงานเสนอเข้ามา และให้เจ้าคณะช่วยเป็นธุระตรวจตรา
  4. เมื่อผู้เรียนและผู้เรียนเข้า มีความมั่นคงแล้ว ให้แจกแบบเรียนอื่น ๆ ได้ และทำรายงานการศึกษาเป็นทางการ
  5. พระสงฆ์สอนตามแบบเรียนหลวงอาจผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ต้องเลิก ให้สอนไปก่อน ให้โรงเรียนหลวงตามวัดที่มั่นคง เป็น Normal School คือ โรงเรียนสำหรับฝึกหัดครู
  6. ให้ศิษย์ที่เรียนในโรงเรียนชนิดนี้สอนวิชาเฉพาะสำหรับไปเป็นครูตามวัดอื่น เบื้องต้นพระสงฆ์ที่เป็นครูไม่ต้องจ่ายเงินเดือน แต่ครูที่จบจากโรงเรียนสำหรับฝึกหัดครู ให้จ่ายเงินเดือน ๆ ละ 6 ตำลึง 8 เฟื้อง

5) กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงสรุป ตอนท้ายหนังสือกราบบังคมทูล ดังนี้

ความเห็นของข้าพระพุทธเจ้าซึ่งทูลเกล้าถวายชั้นนี้เป็นแต่จะจัด โรงเรียนสอนวิชา อ่าน, เขียน, เลข, ซึ่งเป็นวิชาชั้นต้นสำหรับฝึกสอนราษฎร เป็นสาธารณทั่วไป มิได้เกี่ยวข้องถึงโรงเรียนชั้นสูง …

ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ”

ประกาศกำหนดหน้าที่ของอินสเป็คเตอร์ นักการตรวจโรงเรียน (School Inspector)

วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2429 ประกาศกำหนดหน้าที่ของอินสเป็คเตอร์นักการตรวจโรงเรียน (School Inspector) ๒๘ ดังนี้ …

  1. ตรวจจำนวนนักเรียน คงเรียนแลจำหน่ายตามเคยทำแล้ว
  2. ตรวจดูเด็กนักเรียน ว่าสอาดเรียบร้อยตามข้อบังคับอาจาริย์หรือไม่
  3. ตรวจดูว่าอาจาริย์ เป็นธุระว่ากล่าวให้เด็กมีกิริยาอาการเรียบร้อยถูกต้องตามข้อบังคับหรือไม่
  4. ตรวจดูว่าอาจาริย์บังคับบัญชาสั่งสอนศิศย์ด้วยกิริยาอาการอันสมควรหรือไม่แก่ลักษณผู้เป็นอาจาริย์หรือไม่
  5. ตรวจดูอาจารย์ใช้วิธีสอน แลสอนถูกต้องถ้วนถี่หรือไม่
  6. ตรวจดูว่าโรงเรียนใดเด็กนักเรียนช้า ฤๅเรียนปานกลาง ฤๅเรียนเร็วผิดกันอย่างไร
  7. ตรวจดูของหลวงที่จ่ายไป ใช้ในการเล่าเรียนตามโรงเรียนว่า จะรักษาของเหล่านั้นตามสมควรฤๅไม
  8. ตรวจดูว่า โรงเรียนสอาดเรียบร้อยฤๅไม่
  9. ตรวจดูชำรุดปรักหักพังของโรงเรียนว่า ควรแก้ไขซ่อมแซมประการใด
  10. ถ้ามีคำสั่งฤๅประกาศด้วยการณ์อันใดออกไปจากออฟฟิซ ต้องตรวจดูว่าการจะเป็นไปตามคำสั่งฤๅประกาศนั้นฤๅไม่

หมอวิลลิศ เสนอขอสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตก ครั้งที่ 2

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2429 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ผู้บัญชาการกรมทหารมหาดเล็ก กราบบังคมทูลเรื่องการฝึกหัดวิชาหมอของหมอวิลลิศ ดังนี้ …

ด้วยหมอวิลเลียม วิลลิศ ซึ่งเป็นหมอรับราชการ ณ สำนักราชทูตอังกฤษ ขึ้นมาหาข้าพระพุทธเจ้า แล้วมอบจดหมายขอให้ข้าพระพุทธเจ้านำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฉบับ ๑ ใจความว่า หมอวิลลิศจะยอมรับฝึกสอนผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งเคาเวอนเมนต์สยามจะจัดให้เล่าเรียนวิชาหมอให้ชำนิชำนาญ … (ต้นฉบับเลือน) … พระราชทานเป็นเงินเดือนค่าฝึกสอนตามสมควร เนื้อความแจ้งอยู่ในต้นจดหมายของหมอวิลลิศ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้สอดผนึกทูลเกล้าฯ ถวายแล้วนั้น

การเรื่องนี้ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าว่า ซึ่งจะได้ฝึกหัดให้ไทยชำนิชำนาญวิชาหมอฝรั่งนั้น เป็นการประกอบด้วยประโยชนเป็นอันมากโดยไม่ต้องสงไสยเลย เว้นแต่จะฝึกหัดตามเช่นหมอวิลลิศรับนี้ ฤๅจะฝึกหัดได้ด้วยอย่างอื่นประการใดนั้น ไม่เป็นกำหนด สักแต่ว่าได้ฝึกหัดแล้วคงเป็นคุณอย่างยิ่ง …”

โดยหนังสือของหมอวิลลิศมีใจความสำคัญดังนี้ …

“… Should be induced to undertake the study of modern surgical science and medical science in the hope of future for curable and profitable employment in the service of their country

William Willis, M.D. FRCS Doctor of Medicine of the University of Edinburgh

Fellow of the Royal College of Surgeons of England …

ในครั้งนั้น หมอวิลลิศได้ขอพระราชทานเงินเดือนค่าจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่มีการว่าจ้างหมอวิลลิศ และในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง “กอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” สำหรับพระนครขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2430 จึงมีการจัดสร้างโรงพยาบาลใหญ่ ณ วังหลัง (ภายหลังได้รับพระราชทานนามว่า “โรงศิริราชพยาบาล”) และมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาแพทย์แบบตะวันตกขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศ ได้รับพระราชทานนามว่า โรงเรียนแพทยากร ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัย ปัจจุบันคือ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งหมดนี้คือ ขั้นตอนการปฏิรูปโรงเรียนทั้งประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งในขั้นตอนระยะที่ 3 นี้ จะเห็นว่าใช้เวลาดำเนินการอย่างรวดเร็วเพียง 2 ปีเท่านั้น เนื่องจากมีการวางแผนและทดลองอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาโดยละเอียดในระยะแรกๆ มากว่า 20 ปี จนประสบความสำเร็จมาแล้วนั่นเอง

ในบทความต่อไปจะเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ในระยะที่ 4 นั่นคือการปรับปรุงการโรงเรียน (New Education System Reorganization) โดยมีการจัดตั้งกรมศึกษาธิการ และยกขึ้นเป็นกระทรวง ซึ่งถือเป็นการปรับปรุงระบบการศึกษาแบบใหม่ที่มีเสถียรภาพมั่นคงนับตั้งแต่นั้นมา

เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 3

ที่มา :

[1] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มร 5 นก/44 หน้า 646 – 643
[2] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอกสารรัชกาลที่ 5 หนังสือกราบบังคมทูล มร 5 นก/54 หน้า 725 – 728
[3] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอกสารรัชกาลที่ 5 หนังสือกราบบังคมทูล มร 5 นก/55 หน้า 176 – 181
[4] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอกสารรัชกาลที่ 5 หนังสือกราบบังคมทูล มร 5 นก/56 หน้า 103 – 105
[5] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/60 หน้า 57 – 58
[6] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/62 หน้า 717 – 729
[7] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/63 หน้า 256 – 258
[8] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/65 หน้า 226 – 227
[9] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/75 หน้า 418 – 420
[10] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติเอกสารรัชกาลที่ 5 หนังสือกราบบังคมทูล มร 5 นก/77 หน้า 621 – 623

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า