เปิดหลักฐานใหม่ตอกย้ำ ที่ตั้งแท้จริงของ ‘ลังกาสุกะ’ มิใช่ที่เดียวกับอาณาจักรปัตตานี

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ปัจจุบันแม้จะมีวาทกรรมที่ทำให้เชื่อว่า ลังกาสุกะ (Langasuka) อันเป็นเมืองโบราณเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายูนั้น ผู้รู้หลายคนมักทึกทักฟันธงลงไปว่าเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี บางท่านถึงขนาดยืนยันหนักแน่นว่าปัตตานีคือศูนย์กลางของลังกาสุกะเสียด้วยซ้ำ

ความเชื่อเช่นนี้ปรากฏอยู่ในแทบจะทุก ๆ สื่อวิชาการที่เกี่ยวข้องกับลังกาสุกะ อย่างไรก็ดี ข้อสรุปเช่นนี้ออกจะด่วนเกินไปเสียหน่อย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์อันใดมายืนยันสมมติฐานที่ว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่ในปัตตานีอันเป็นพื้นที่ทะเลฝั่งตะวันออก งานวิชาการที่สนับสนุนว่าปัตตานีคือลังกาสุกะนั้นเป็นเพียงการเจริญรอยตามวาทกรรมของพอล เวตลีย์ (Pual Wheatley) นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษเท่านั้น โดยเขาได้เข้าใจไปเองว่า ‘หลังยะสิ่ว’ (Lang-ya-hsiu) ในเอกสารจีนคือ ‘ลังกาสุกะ’ [1]

แต่จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมในปัจจุบัน พบว่า สิ่งที่เวตลีย์เชื่อนั้นไม่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงตามภูมิรัฐศาสตร์ เพราะหลังยะสิ่วนั้นตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองทราวดีรวมไปถึงอิศานปุระ จึงทำให้เป็นไปไม่ได้ที่เมืองนี้จะตั้งอยู่ในคาบสมุทรทางใต้ ทุกวันนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า ‘หลังยะสิ่ว’ ในเอกสารจีนน่าจะเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของประเทศไทยโดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำท่าจีน-แม่กลองมากกว่า [2]

สำหรับการศึกษาด้านประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีเอกสารความทรงจำใด ๆ ของชาวปัตตานีกล่าวถึงว่าเมืองลังกาสุกะตั้งอยู่ในปัตตานีเลย กลับกัน เอกสารของราชสำนักไทรบุรี ‘ฮิกายัตมะโรง มหาวังสา’ (พงศาวดารไทรบุรี) ซึ่งเป็นตำนานมลายูที่มีเนื้อหาสืบความขึ้นไปในยุคเก่าแก่มาก เอกสารความทรงจำฉบับนี้ยืนยันหนักแน่นว่าเมืองลังกาสุกะตั้งอยู่ในพื้นที่ของไทรบุรี และถือว่าเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของราชวงศ์ไทรบุรีในฐานะ ‘มหาราชวงศ์’ ที่ปกครองสืบเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน หากใครอ่านเอกสารเหล่านี้อย่างพิเคราะห์ถ้วนถี่ก็จะทราบถึงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะได้ไม่ยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เมืองนี้จะตั้งอยู่ที่ฝั่งตะวันออก [3] เหตุที่ว่าการศึกษาเกี่ยวกับลังกาสุกะได้ผิดเพี้ยนไปถึงเพียงนี้ เพราะผู้ศึกษายุคก่อน ๆ ดูถูกเหยียดหยามว่าเอกสารบันทึกความทรงจำของชาวมลายูเป็นเรื่องเหลวไหลเลอะเทอะ ไม่มีความน่าเชื่อถือเอาเลย [4]

แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้เขียนได้พบอีกว่า มีอีกหนึ่งหลักฐานสำคัญที่จะช่วยมายืนยันสมมติฐานว่าลังกาสุกะตั้งอยู่บนคาบสมุทรตะวันตกบริเวณเมืองไทรบุรี และเพื่อเป็นการยุติคำปรามาสว่างานเขียนของชาวมลายูพื้นเมืองเป็นสิ่งที่เพ้อฝันและไม่มีข้อเท็จจริง หลักฐานที่ว่านั้นได้แก่ฎีกาจากพระสงฆ์อินเดียฉบับหนึ่งที่ได้อธิบายนิทานเรื่อง ‘สุปปารกาชาดก’ ว่าด้วยทะเล 6 ประการ ลำดับที่ 14 ในคัมภีร์ชาดกมาลาของอาริยสูตร ซึ่งชาดกเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของการเดินทาง ‘สุปปารกา’ (อดีตชาติของพระโพธิสัตว์) ผู้เป็นบุตรของต้นหนเมืองท่าภารุกัจฉะ (เมืองท่าแคมเบย์ อินเดีย) เพื่อมายังดินแดนสุวรรณภูมิ หากแต่เรือต้องมาประสพกับเหตุร้ายเพราะเกิดหลงทางกลางทะเลจนเป็นเหตุให้เฉไฉไปจากเส้นทางที่จะไปยัง ‘ท่าเรือทั้ง 2’ อย่างที่ควรจะเป็นไปตามแผนการเดินเรือที่วางไว้ [5]

ในประเด็นนี้ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดของชาดก หากแต่สนใจประโยคที่ว่า ‘ท่าเรือทั้ง 2’ ที่อยู่ทิศเดียวกับ ‘สุวรรณภูมิ’ นั่นก็คือทางทิศตะวันออกของประเทศอินเดีย สำหรับท่าเรือทั้ง 2 นั้น Peter Khoroche ผู้แปลหนังสือจากภาษาอินเดีย ‘ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยเป็นวานร’ (Once the Buddha was a monkey) ของ Arya Sura  ทั้งนี้ Peter Khoroche ได้นำฎีกาอธิบายความในชาดกของพระสงฆ์อินเดีย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 (ตรงกับสมัยสุโขทัยของไทย) ที่ Arya Sura นักวิชาการด้านพุทธศาสนาเป็นผู้ค้นพบและถอดความ ในเอกสารฎีกานี้พบว่ามีการกล่าวถึงท่าเรือทั้ง 2 ของสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi) ว่าคือ ไทรบุรี (Katahadvipa – กฎาหะทวีป – เคดาห์) และ ลังกาสุกะ (Lankasobha – ลังกาโศภะ) [6]

แม้ว่าฎีกาดังกล่าวจะเขียนหลังการจดบันทึกชาดกเป็นเวลานาน หากแต่อายุของฎีกาก็มิใช่น้อย ๆ นั่นก็คือในช่วงพุทธวรรษที่ 18 อันตรงกับยุคสุโขทัยของไทย แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าเมืองไทรบุรีและลังกาสุกะเก่าแก่ถึงยุคก่อนพุทธกาล (น่าเชื่อว่าอายุไม่ถึง) หากแต่ถ้าใช้หลักการวิเคราะห์ว่าท่าเรือทั้ง 2 ของสุวรรณภูมิที่อยู่ในความเข้าใจและความทรงจำของพระสงฆ์อินเดียในยุคสุโขทัย พวกเขาย่อมอธิบายขยายความแก่ผู้ฟังชาดกว่าท่าเรือที่ ‘สุปปารกา’ บุตรแห่งต้นหนเมืองท่าภารุกัจฉะต้องการจะไปถึง คือ เมืองไทรบุรีและลังกาสุกะ เป็นที่ชัดแจ้งว่าการเข้าถึงท่าเรือของเมืองทั้ง 2 นี้ย่อมต้องมาจากทางตะวันออก ‘ของ’ อินเดีย ซึ่งก็ตรงกับบริเวณเมืองไทรบุรีในปัจจุบันอย่างไม่มีปัญหา แต่การที่จะให้ลังกาสุกะไปอยู่ทิศตะวันออก ‘ของ’ อีกฝั่งของคาบสมุทรของอินเดียนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในอดีตชาวอินเดียไม่นิยมล่องเรืออ้อมช่องแคบมะละกาไปอีกฝั่ง ด้วยเหตุนี้ คาบสมุทรทางตะวันออกจึงมีจีนเป็นผู้มีบทบาทมากกว่า คำอธิบายว่าเมืองทั้ง 2 คือไทรบุรีและลังกาสุกะนี้ก็ย่อมสะท้อนประสบการณ์การเดินเรือของชาวอินเดียในเวลานั้นว่าพวกเขาเข้าใจอดีต (ก่อนพุทธกาลตามเวลาในชาดก) ว่าหากล่องเรือมาทางตะวันออกที่สุวรรณภูมินี้ ก็ย่อมต้องมาถึงท่าฝั่งของเมืองทั้ง 2 ดังกล่าว

และสำหรับบริบทของ ‘สุปปารกา’ แล้ว การเอาเรือเทียบฝั่งไทรบุรีและลังกาสุกะอันเป็นเมืองที่อยู่ไม่ไกลกัน (ตามตรรกะ) น่าจะสมเหตุสมผลมากกว่าที่จะต้องอ้อมเรือไปปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งคาบสมุทรอย่างแน่นอน

เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้ อาจมีผู้ข้องใจทักท้วงมาอีกว่า ฎีกาฉบับนี้ได้กล่าวถึงเมืองไทรบุรีและลังกาสุกะ ‘ทับซ้อนกัน’ แสดงว่าทั้ง 2 เมืองนี้ในความเข้าใจของพระสงฆ์อินเดียเป็น ‘คนละเมืองกัน’ การนี้ย่อมทำให้อนุมานไม่ได้ว่าทั้ง 2 เมืองเป็นเมืองเดียวกันหรือตั้งอยู่ใกล้กัน

ผู้เขียนขอเตือนความจำว่า ตรรกะประหลาด ๆ เช่นนี้ เคยมีผู้ใช้มาแล้วตอนวิพากษ์ลังกาสุกะกับไทรบุรีในเอกสารชวาโบราณ นาครกฤตาคม (Nagarakretgama) ที่เขียนขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 (ค.ศ.1365) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวคาดว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ลังกาสุกะน่าจะดับสูญไปแล้วไม่นานนัก  เอกสารชิ้นนี้กล่าวถึงเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรมัชปาหิต (Majapahit) อาทิ ปาหัง (Pahang) ยะโฮร์ (Hujung medina) ลังกาสุกะ (Langasuka) ไซมวัง (Saimawang) กลันตัน (Ketantan) ตรังกานู (Terrenganu) เตมาเสค (Tumasik – สิงคโปร์) ไทรบุรี (Keda) และ Jere (ยือไร – ยะรัง) เห็นได้ชัดว่าทางชวาเองก็ได้แยกลังกาสุกะออกจากไทรบุรี (เคดาห์) อีกทั้งยังได้แยกยะรังออกจากลังกาสุกะด้วย (ในเวลานั้นปัตตานียังไม่สถาปนา)

นักวิชาการบางคนกล่าวว่า นาครกฤตาคม แยกลังกาสุกะออกจากไทรบุรีชัดเจน ดังนั้น ลังกาสุกะย่อมไม่ใช่ไทรบุรี และน่าจะตั้งอยู่ที่ยะรัง จังหวัดปัตตานีมากกว่า [7] แต่ผู้เขียนเห็นว่าข้อสรุปดังกล่าวเป็นการด่วนทึกทักเกินไปมาก และเป็นการยกข้อเท็จจริงมากล่าวไม่หมด เพราะที่จริงแล้ว นาครกฤตาคม ก็ได้แยกยะรัง (Jere) และลังกาสุกะเป็นคนละเมืองกันอย่างชัดเจนด้วย และถ้าเมืองเก่ายะรังกับลังกาสุกะคือเมืองเดียวกันจริง เหตุใดผู้จดบันทึกเอกสารชวานี้จึงต้องแยกเมืองนี้ออกจากกัน (ตรรกะเดียวกับที่เขาใช้อ้างว่าลังกาสุกะไม่ใช่ไทรบุรี) อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ชื่อของปัตตานีก็ยังไม่ปรากฏขึ้นบนโลกแต่ก็ได้ปรากฏชื่อยะรังขึ้นแล้วในฐานะเมือง ‘โกตามหลิฆัย’ ควรต้องย้ำด้วยว่า เอกสารของมลายูทั้งทางปัตตานีและราชสำนักมะละกา-ยะโฮร์ ถือว่าปัตตานีเป็นเมืองที่สืบทอดมาจากเมืองโบราณ ชื่อ ‘โกตามหลิฆัย’ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอยะรัง [8] มิใช่ ‘ลังกาสุกะ’ แต่อย่างใด

กลับกัน หากใครก็ตามที่อ่าน ‘ฮิกายัตมะโรง มหาวังสา’ (พงศาวดารไทรบุรี) โดยละเอียด จะพบว่าราชสำนักไทรบุรีกล่าวอย่างชัดเจนว่า ในขณะที่เมืองลังกาสุกะตั้งอยู่นั้น พระราชาก็ได้ไปตั้งเมืองไทรบุรีขึ้นอีกเมืองด้วยในพื้นที่ติดชายทะเล ในนามไทรบุรีนครแห่งป่าเขา ‘Kiddah Zumin Tauran’ [9] และแม้ในขณะที่ตั้งเมืองไทรบุรีที่ชื่อว่า ‘เคดาห์ – กฎาหะทวีป –เกดะรัม’ (Kedah – Katahadvipa – Kadaram) ขึ้นแล้ว เมืองลังกาสุกะก็ยังมีสภาพเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางราชสำนักต่ออยู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง หาได้ล่มสลายไปทันทีที่เกิดการย้ายเมืองใหม่ ด้วยตรรกะนี้ การที่เอกสารใด ๆ ไม่ว่าจะทั้ง ฎีกาชาดกของพระสงฆ์อินเดีย, นาครกฤตาคมของชวา และจารึกตันชอว์ (Tanjore inscription) ของราชวงศ์โจฬะในอินเดียใต้ ที่ได้แยก ‘ลังกาสุกะ’ กับ ‘ไทรบุรี’ ออกจากกัน ย่อมไม่ใช่ปัญหาที่จะอธิบายว่าถึงอย่างไรเมืองไทรบุรีก็ย่อมเป็นรัฐสืบทอดมาจากลังกาสุกะ หรือถ้ากล่าวโดยชัด ๆ เมืองลังกาสุกะเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันตกในแถบไทรบุรีด้วยปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เดียวกัน ก่อนที่จะมีการย้ายที่ตั้งเมืองไทรบุรีอีกที แต่ในเวลานั้นลังกาสุกะก็ยังดำรงอยู่ควบคู่กันกับไทรบุรีไปในฐานะเมืองหลวงแห่งปฐมราชวงศ์ หาได้ล่มสลายลงไปทันใดแต่อย่างใด ส่วนทางปัตตานีในทางตะวันออกนั้นเป็นเรื่องของ ‘เมืองโกตามหลิฆัย’ ล้วน ๆ และถึงแม้ราชวงศ์ปัตตานีจะสืบสาแหรกมาจากน้องสาวคนสุดท้องของราชวงศ์ไทรบุรีในยุคลังกาสุกะ หากแต่บันทึกความทรงจำของทางปัตตานีไม่เคยกล่าวถึงชื่อลังกาสุกะเลย กลับขับเน้นไปยัง ‘เมืองโกตามหลิฆัย’ อย่างเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ การพยายามนำปัตตานีไปยัดเยียดว่าคือลังกาสุกะจึงเป็นงานวิชาการที่ผิดฝาผิดตัว เป็นการตีความเกินกว่าหลักฐานจนยากที่จะรับได้

ดังนั้น ข้อมูลในฎีกาอธิบายชาดกของพระสงฆ์อินเดียยุคสุโขทัยชิ้นนี้จึงเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าและน่าเชื่อถือ เพราะย่อมเป็นการพิสูจน์ว่าเอกสาร ‘ฮิกายัตมะโรง มหาวังสา’ มีเค้ามูลแห่งความจริง เป็นการยุติคำดูถูกของฝรั่งที่ไม่ให้ค่าเอกสารของมลายูพื้นเมือง อีกทั้งยังนำไปเติมเต็มเพื่อประกอบคำอธิบายเอกสาร นาครกฤตาคม ของชวา และจารึกตันชอว์ของอินเดียใต้ได้อีกด้วย

อ้างอิง :

[1] โปรดดูรายละเอียด ใน Pual Wheatley . The Golden Khersonese (1961).
[2] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีในศรีวิชัย เก่ากว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์.(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.) 2547. หน้า 150-158.
[3] โปรดดู Hiyakat Merong Mahawangsa. ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society Vol. 16, No. 2 (131) (December 1938). ; ตำนานเมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร นะมาตร์ ณ เมรุวัดวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507. ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรง มหาวงศ์. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โนวเลจ) 2550. และ พงศาวดารเมืองไทรบุรี (ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน).
[4] Ronald Braddell. The Study of Ancient Times in The Malay Peninsula and Straits of Malacca (1949). pp.22
[5] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรง มหาวงศ์. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โนวเลจ). 2550. หน้า 12 และ อรรถกถา สุปปารกชาดก ว่าด้วย ทะเล ๖ ประการ
[6] Peter Skilling. Two ports of Suvarnabhumi ใน The Journal of SiamSociety Vol. 80 Part 1. 1992.
[7] นิอับดุลรากิ๊บ บินนิฮัสซัน. ปัตตานีกับโลกมลายู และตำนานปาตานี เอกสารประกอบสัมนาเรื่องโลกของอิสลามและมุสลิมในอุษาคเนย์ วันที่ 28-29 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 ณ โรงแรมทวิน โลตัส นครศรีธรรมราช. หน้า 5.
[8] โปรดดู Hikayat Patani และ Sejarah Melayu.
[9] ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรง มหาวงศ์. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โนวเลจ). 2550. หน้า 85 และโปรดดูฉบับภาษาอังกฤษเพื่อเทียบเคียง Hiyakat Merong Mahawangsa. ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society Vol. 16, No. 2 (131) (December 1938).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r