เบื้องหลังความสำเร็จของไทยในการฉีดวัคซีนทะลุเป้า 100 ล้านโดส

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในต้นปี พ.ศ.2563 เป็นระยะเวลาที่การระบาดเริ่มรุนแรงขึ้นพร้อมกันทั่วโลก ทำให้เกิดสถานการณ์ขาดแคลดชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไม่มีใครคาดคิดมาก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งได้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีกำลังการผลิตในระยะแรก วันละ 3,000 ชุด/วัน สยามไบโอไซเอนซ์ได้ปรับพื้นที่บางส่วนของโรงงานเพื่อใช้ผลิตชุดตรวจ RT-PCR อย่างเร่งด่วนและสามารถขยายการผลิตได้อีกเป็นเท่าตัว ทำให้ภายในครึ่งปี สามารถส่งมอบชุดตรวจให้รัฐได้ถึง 1 ล้านชุดตรวจได้เป็นผลสำเร็จ

และในเวลาต่อมา บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (มหาชน) จำกัด ซึ่งมีความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนากับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ มาเป็นระยะเวลานาน ด้วยความสนับสนุนจากภาครัฐ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จึงได้พูดคุยกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัคซีน ซึ่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดขณะนั้นได้มีความร่วมมือกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ จนในที่สุดได้มีการตกลงสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 2019 และเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์การผลิตระดับภูมิภาคในที่สุด

และด้วยจุดกำเนิดของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีที่มาจากการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในระยะแรก ผ่าน บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ซึ่งมี ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานกรรมการบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด และ ดร.เสนาะ อูนากูล ก็ยังเป็นกรรมการใน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (มหาชน) จำกัด อีกด้วย จึงทำให้ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย และ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน

จึงเป็นที่มาของการที่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เข้ามาตรวจสอบความพร้อมของประเทศไทย และได้พบว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นเพียงองค์กรเดียวในประเทศไทยที่มีความพร้อม และได้รับเลือกเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงรายเดียว

สำหรับประเทศไทย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นผู้ผลิตยาชีววัตถุแห่งแรกของประเทศไทย ที่มีความร่วมมือและได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี จาก Center for Molecular Immunology รัฐวิสาหกิจของประเทศคิวบา ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านอุตสาหกรรมยาชีววัตถุอันดับต้นๆ ของโลก และประกอบกับ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุเป็นเวลากว่า 10 ปี จึงมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญมากที่สุดของไทย

เพราะว่าเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนในชนิด (platform) ไวรัสเวคเตอร์ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม ด้วยการใช้พาหะอะดีโนไวรัสของลิงชิมแพนซีที่ถูกทำให้ไม่สามารถแบ่งตัวได้ (ChAdOx1) มาผ่านการเข้ารหัสไกลโคโปรตีน S ของ SARS-CoV-2 ซึ่งผลิตในเซลล์เนื้อเยื่อไตของมนุษย์ (HEK293) มาตัดต่อสายพันธุกรรม ดังนั้นแม้ว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อนเลย แต่ด้วยวัคซีนชนิด ไวรัสเวคเตอร์ ต้องอาศัยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรม ซึ่งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนในเมืองไทยยังไม่มีบริษัทใดเคยทำมาก่อน แม้ว่าบริษัทองค์การเภสัชกรรม เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด จะเป็นบริษัทที่องค์การเภสัชกรรมร่วมทุนกับบริษัทโซนาฟี่ปาสเตอร์ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติฝรั่งเศส ก็ไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดไวรัสเวคเตอร์ได้ เพราะว่าสายการผลิตของบริษัทองค์การเภสัชกรรม เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด รองรับการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อตายได้เท่านั้น

และแม้ว่าโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ที่ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยาเขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นความร่วมมือขอองค์กรภาครัฐหลายหน่วยงาน โดยมีสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เป็นผู้นำในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยียาชีววัตถุ และถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการพัฒนา ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) เป็นยาชีววัตถุคล้ายคลึงที่รักษาโรคมะเร็งเต้านม และเป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ดำเนินการโดยนักวิจัยชาวไทยในประเทศ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยไม่ได้อาศัยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และได้มีการเดินสายการผลิตที่โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติในระดับอุตสาหกรรมแล้วก็ตาม ในปีพ.ศ.2562 แต่ว่าเนื่องจากตัวโรงงานเพิ่งเริ่มเดินสายการผลิตได้ไม่กี่ปี ประกอบกับสายการผลิตยังไม่พร้อมกับการผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อเทียบกับสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีขนาดการผลิตไม่น้อยกว่า 1 ล้านโดสมานานแล้ว ดังนั้นโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติจึงมีความพร้อมน้อยกว่า

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมแอสตร้าเซนเนก้า จึงได้เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเลือกเป็นศูนย์การผลิตประจำภูมิภาค แต่ว่าเนื่องจากการผลิตวัคซีนในระดับศูนย์การผลิตประจำภูมิภาค ซึ่งมีความต้องการปริมาณที่มาก แม้ว่าโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์จะมีศักยภาพขยายการผลิตให้สูงขึ้นได้ประมาณหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีการขยายเครื่องจักรเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต

แม้สยามไบโอไซเอนซ์จะเป็นบริษัทเอกชนที่มีทุนดำเนินการมั่นคงก็ตาม การขยายกำลังผลิตในระยะเวลากระชั้นชิดส่งผลต่อการดำเนินสภาพคล่องทางการเงิน จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนทุนหมุนเวียนจากภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อให้ทันท่วงทีต่อโอกาสของประเทศชาติ ที่ได้รับโอกาสคัดเลือกเป็นศูนย์การผลิตวัคซีนประจำภูมิภาคของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้นรัฐบาลจึงสนับสนุนเงินงบประมาณ ซึ่งเป็นงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นเงิน 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือสนับสนุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังดำเนินการพัฒนาวัคซีนชนิด mRNA และมีความร่วมมือกับ บริษัทไบโอเนท-เอเชีย โดยสนับสนุนการปรับปรุงสายการผลิตของบริษัทไบโอเนท-เอเชีย ผ่านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้วยความที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์เป็นบริษัทเอกชน การได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับกฎหมายและข้อบังคับด้านการเงินการคลังภาครัฐหลายฉบับ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาติดขัดในอนาคต บริษัทจึงยื่นข้อเสนอโดยตกลงเงื่อนไข การชดใช้เงิน 600 ล้านบาทที่รัฐสนับสนุน คืนโดยการส่งมอบวัคซีนเป็นจำนวนเท่ากับมูลค่าเงินที่ได้รับสนับสนุน

เป็นความโชคดีที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นศูนย์การผลิตวัคซีนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ได้รับโอกาสที่พิเศษในการเจรจาจัดซื้อจัดหาวัคซีนกับผู้ผลิตโดยตรงได้ง่ายขึ้น รัฐบาลไทยจึงมีความจำเป็นน้อยลงที่จะเข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการที่ประเทศซึ่งมีฐานะร่ำรวย ได้วางเงินจองวัคซีนเป็นมูลค่ามหาศาลเพื่อให้ได้รับวัคซีนก่อน ได้รวมตัวกันเพื่อจัดสรรวัคซีนส่วนเกิน ที่แต่ละประเทศสั่งจองมามากเกินความจำเป็น ไปให้กับประเทศที่ได้รับโอกาสการเข้าถึงวัคซีนน้อยกว่า

โดยนัยของโครงการนี้ ก็คือ เป็นการปิดปากประเทศยากจน ที่ได้รับความเดือดร้อนในการเข้าถึงวัคซีน จากความเห็นแก่ตัวของประเทศที่ร่ำรวย ให้ไม่ต้องโวยวายกันนั่นเอง

โครงการ COVAX จึงเป็นการจัดสรรโควต้าวัคซีนแบบอนาถา กล่าวคือ ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับวัคซีนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และจะได้วัคซีนฟรีเฉพาะประเทศยากจนเท่านั้น ถ้าเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างไทย จะต้องมีค่าใช้จ่ายโดยวางเงินล่วงหน้าไว้ก่อน โดยไม่มีกำหนดว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไหร่

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2564 จนถึงปัจจุบัน การส่งมอบวัคซีนในโครงการ COVAX สามารถส่งมอบได้ต่ำกว่าปริมาณที่จองมาก เฉลี่ยแล้วส่งมอบได้เพียงราว 10-15% เท่านั้นเอง โดยที่ประเทศผู้เข้าร่วมโครงการไม่สามารถเลือกชนิดของวัคซีนได้

เมื่อเทียบกับการจัดซื้อจัดหาโดยตรงกับบริษัทผู้ผลิตโดยตรง อย่างเช่น ประเทศอินโดนีเซีย จองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 104 ล้านโดส ปัจจุบันส่งมอบแล้วกว่า 36.5 ล้านโดส หรือราวๆ 35% หรือกรณีประเทศเวียดนาม จองวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 30 ล้านโดส และได้รับมอบมาแล้ว 100% ในขณะที่การส่งมอบผ่านโครงการ COVAX การรับมอบต่ำมาก

ถ้าหากประเทศไทยเข้าโครงการ COVAX ความต้องการของประเทศไทย คือ 61 ล้านโดส อาจจะเป็นการซื้อโดยตรง 50% และซื้อผ่านโครงการ COVAX อีก 50% ป่านนี้ ไทยอาจได้รับมอบจากแอสตร้าเซนเนก้า 100% เหมือนเวียดนามแล้วก็ได้ แต่ว่าการรับมอบวัคซีนผ่านโครงการ COVAX ก็คงจะได้รับมอบสักราวๆ 4 ล้านโดส พอๆ กับเวียดนามก็เป็นได้ ดังนั้นก็น่าจะจัดหาวัคซีนมาได้สักราวๆ 34 ล้านโดสเหมือนเวียดนาม

ตลอดเดือนธันวาคม 2564 ทางแอสตร้าเซนเนก้า ได้ส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 (ChAdOx1-S [Recombinant]) จำนวนกว่า 15 ล้านโดส ให้กับกระทรวงสาธารณสุข รวมยอดส่งมอบวัคซีน ณ ปัจจุบันครบจำนวน 61 ล้านโดส ตามแผนการจัดหาวัคซีนให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้าจะทำการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มอีกจำนวน 60 ล้านโดส ให้แก่ประเทศไทยสำหรับใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยจะทำการทยอยส่งมอบในปี 2565 ตามสัญญาการจัดซื้อวัคซีนที่แอสตร้าเซนเนก้า และรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อสนับสนุนแผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสามารถดำเนินการเปลี่ยนเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ได้หลังจากได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพในประเทศไทย

จึงนับได้ว่า ความสำเร็จของการเร่งรัดให้ประชาชนชาวไทยเข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวาง ในระยะครึ่งปีหลังของ ปี พ.ศ.2564 จนประสบผลสำเร็จ ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2564 นั้นมาจากการที่สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งปูพื้นฐานพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุมากว่า 10 ปี จนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเห็นถึงศักยภาพของสยามไบโอไซเอนซ์ ว่าเป็นบริษัทเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความพร้อมสำหรับเป็นศูนย์กลางการผลิตประจำภูมิภาคได้ และทำให้ไทยได้รับโควตาจัดสรรวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า จนเพียงพอต่อความต้องการ

อ้างอิง :

[1] บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
[2] บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
[3] บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (มหาชน) จำกัด
[4] กองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
[5] กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
[6] กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
[7] สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
[8] รายงานประจำปีองค์การเภสัชกรรม
[9] ราคายาโรงพยาบาลศิริราช
[10] ราคากลางของราคายาโรงพยาบาลราชวิถี อ้างอิงตามราคากลางตามประกาศของคณะกรรมการระบบยาแห่งชาติและกระทรวงสาธารณะสุข

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า