เบื้องหลังการแก้ไข ม.112 ความจริงที่ถูกบิดเบือน

จากกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์ลงในเฟสบุ๊กแฟนเพจเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ว่า กฎหมายมาตรา 112 คือภาพแทนของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันแตะต้องมิได้ และยังได้ให้ความเห็นในเชิงชี้นำอีกว่าการแก้ไขมาตรา 112 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ตลอดจนการบังคับใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มิใช่เป็นการบังคับใช้ในเชิงกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้มาตรา 112 ในลักษณะของเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐใช้รังแกประชาชน

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการหยิบแค่บางประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112 มาขยายความ พร้อมกับชี้นำว่า รัฐมุ่งเน้นการเพิ่มโทษและบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เพื่อจัดการกับบุคคลที่ออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ

เป็นวิธีเดิม ๆ ที่นายปิยบุตร นำมาใช้บิดเบือนเพื่อไม่ให้คนทั่วไปมองเห็นภาพรวมว่า ในความเป็นจริงนั้น การแก้ไขมาตรา 112 ในปี พ.ศ. 2519 โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เกิดขึ้นพร้อมกับการแก้ไขกฎหมายมาตราอื่น ๆ เพื่อไม่ให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย อันสืบเนื่องมาจากบริบททางการเมืองในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นการยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกจนนำมาซึ่งความสูญเสีย

ก่อนการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นความผิดที่มีอัตราโทษไม่เท่ากับปัจจุบัน โดยในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มีอัตราโทษขั้นสูงคือจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หมายความว่า ศาลสามารถลงโทษหนึ่งเดือนหรือสองเดือนก็ได้ แต่ไม่เกินเจ็ดปี (โทษเบา)

ต่อมาหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ โดยเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี (โทษหนัก) และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในครั้งนี้ ไม่ใช่การแก้ไขอัตราโทษเพียงมาตราเดียว แต่คณะรัฐประหารมีการแก้ไขอัตราโทษในมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการ์ทางการเมือง ณ ขณะนั้นด้วย

หากจะกล่าวถึง 6 ตุลาฯ เรามีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปในช่วงเวลา 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ด้วย เนื่องจากสถานการณ์ทั้ง 2 ช่วงเวลานั้น มีความเกี่ยวเนื่องและเป็นพัฒนาการทางการเมืองที่เชื่อมโยงกัน ช่วงเวลา 3 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประชาธิปไตยเบ่งบานมากที่สุดช่วงหนึ่งของการเมืองไทย แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ภายนอกประเทศนั้น อยู่ในยุคสงครามเย็นที่เป็นการต่อสู้กันของมหาอำนาจ 2 ฝ่าย คือ โลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา และโลกคอมมิวนิสต์ที่นำโดยโซเวียตและจีน ทำให้ประเทศไทยในฐานะรัฐกันชน ต้องเข้าไปพัวพันกับการเมืองระหว่างประเทศนี้ด้วย

ประเทศไทยเลือกเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่นั้นมา นโยบายและอุดมการณ์หลักของรัฐไทย คือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นศัตรูกับความเป็นชาติไทยมาตลอด

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การเมืองไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม มาเป็นเวลานาน เป็นการปกครองโดยไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีรัฐสภา ไม่มีการเลือกตั้ง และยุบพรรคการเมืองทั้งหมด กระแสความคิดทางการเมืองในขณะนั้นมุ่งไปทางเสรีนิยม นักศึกษาออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เนื่องจากเห็นว่าทหารเข้ามาคอร์รัปชันและคดโกง กลุ่มนักศึกษายังได้มีการหยิบยกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 7 มาโจมตีรัฐบาลทหารอีกด้วย นั่นคือ “ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงประสงค์จะมอบประชาธิปไตยให้กับประชาชน มิใช่การมอบอำนาจการปกครองประเทศไว้ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง”

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นักศึกษาค่อย ๆ มีพัฒนาการทางความคิด จนกระทั่ง “เอียงซ้าย” มากขึ้น มีการรับอุดมการณ์สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เข้ามามากขึ้น กลุ่มนักศึกษาได้ทำโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตยเข้าสู่ชนบท บางส่วนไปช่วยสร้างโรงเรียนและห้องสมุด ทำให้พวกเขาได้ค้นพบความจริงว่า ยังมีคนที่ยากจนแร้นแค้นอยู่ในชนบทอีกเป็นจำนวนมาก ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจึงค่อย ๆ ขยับจากความเท่าเทียมทางการเมือง ไปสู่ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

นักศึกษาได้เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเสียเปรียบจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ คือชาวนาและกรรมกร แนวร่วมสามประสานนี้ทำให้ขบวนการนักศึกษาไม่โดดเดี่ยว และเริ่มมีแนวคิดว่าการมีรัฐธรรมนูญและพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งไม่พอแล้ว แต่ต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความเป็นธรรมด้วย ปัญหาไม่ใช่แค่เผด็จการทหารแล้ว แต่ระบบทุนนิยมก็เป็นปัญหาด้วย เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน เป็นหนี้สิน กรรมกรทำงานหนักแทบตาย แต่ถูกกดค่าแรงจากนายทุน ชาวบ้านไร้ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

แนวคิดแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์จึงค่อย ๆ แทรกซึมเข้ามาในขบวนการนักศึกษา และช่วงนั้นในสภาก็มีการจัดตั้งพรรคที่มีแนวคิดสังคมนิยมมากขึ้น โดยการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2518 มี 3 พรรคที่ประกาศนโยบายสังคมนิยมชัดเจน คือ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ซึ่งทั้ง 3 พรรค ได้เก้าอี้ในสภารวมกันเกือบ 40 ที่นั่ง

นอกจากการเคลื่อนไหวของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแล้ว ยังมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายขวาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกระทิงแดง กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มนวพล ฯลฯ ช่วงเวลานั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าในขบวนการนักศึกษามีคนจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้ามามีบทบาทในสถานการณ์การเมืองอย่างเห็นได้ชัด และนักศึกษาจำนวนมากก็มีอุดมการณ์ไปทางคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจน ส่วนฝ่ายขวาก็ปลุกอุดมการณ์ของตนเองขึ้นมาสู้กับคอมมิวนิสต์ จนเกิดเป็นสงครามวาทกรรม มีการให้ข้อมูลซ้ำ ๆ ผ่านวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ พอคนเห็นบ่อยก็เริ่มเชื่อตามนั้น หรือแม้แต่การยุยงปลุกปั่นภายใต้เสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งกระแสความรุนแรงทั้งหมดไม่ใช่แค่ถูกผลิตโดยสื่อมวลชนอย่างเดียว แต่ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ต่างก็มีวิธีการของตนเองในการเผยแพร่ ยุยง ปลุกปั่นชุดข้อมูลความคิดที่ตนเองเชื่อถือออกไปสู่สังคมด้วย

กระทั่งเหตุการณ์ความวุ่นวายดำเนินมาถึงช่วงรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และนำไปสู่คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ซึ่งเป็นการแก้ไขอัตราโทษของประมวลกฎหมายมาตราต่าง ๆ

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินพิจารณาเห็นว่า อัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตราต่าง ๆ ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสมควรแก้ไขอัตราโทษเหล่านั้นให้สูงขึ้น จึงมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ให้แก้ไขอัตราโทษในความผิดฐานต่าง ๆ ได้แก่

  • ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (หมิ่นพระมหากษัตริย์)
  • ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (ความผิดต่อธงของรัฐ)
  • ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หมวด 4 ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ (หมิ่นประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หมิ่นผู้แทนรัฐต่างประเทศซึ่งได้รับแต่งตั้งให้มาสู่พระราชสำนัก ความผิดต่อธงของรัฐต่างประเทศ)
  • ความผิดความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน)
  • ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม (หมิ่นศาลหรือผู้พิพากษา)
  • ความผิดเกี่ยวกับศาสนา (เหยียดหยามศาสนา)
  • ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง หมวด 3 ความผิดฐานหมิ่นประมาท (หมิ่นประมาท หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ดูหมิ่นซึ่งหน้า)

จากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 จะเห็นได้ว่า คณะรัฐประหารไม่ได้มีการแก้ไขอัตราโทษเฉพาะมาตรา 112 เพียงมาตราเดียว แต่มีการแก้ไขอัตราโทษในความผิดมาตราอื่น ๆ ด้วย เพื่อควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย จากเหตุความขัดแย้งต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา

ดังนั้น มาตรา 112 จึงไม่ใช่กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปฏิกิริยาที่สัมพันธ์กับสถานการณ์บ้านเมือง เป็นปฏิกิริยาที่สืบเนื่องจากบริบททางการเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ และไม่ใช่ในความหมายที่นายปิยบุตร พยายามบิดเบือนโดยการชี้นำว่า รัฐเพิ่มโทษและใช้มาตรา 112 ในการกำจัดผู้ที่พยายามตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่การเพิ่มโทษของกฎหมายมาตราต่าง ๆ ในขณะนั้น เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการยุยงปลุกปั่น ความรุนแรง การนองเลือด ความบ้าคลั่งของฝูงชน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากการรับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน หรือที่เราเรียกว่า Fake News จนอาจเป็นเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง

โดยคณะรัฐประหารในขณะนั้น ไม่เพียงแต่แก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอัตราโทษในมาตราที่คุ้มครองตำแหน่งพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มโทษความผิดในมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเกิดสถานการณ์วุ่นวายในบ้านเมืองด้วย

และหากจะมองกันตามความเป็นจริงแล้ว นับตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ได้หายไปนาน จนกระทั่งสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองช่วงหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เริ่มก่อตัวขึ้นโดยกลุ่มผู้ที่เรียกตนเองว่า “ตาสว่าง” เพียงเพราะรับข้อมูลข่าวสารและเลือกที่จะเชื่อสิ่งที่บิดเบือน จนนำไปสู่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

ซึ่งไม่ใช่เพราะกลุ่มคนพวกนี้หรือ ที่ทำให้กฎหมายมาตรา 112 ต้องถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง

ที่มา :

[1] คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41
[2] ว่าด้วย 6 ตุลา 19 และ มาตรา 112 พลังหนุ่มสาวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง คุยกับ ‘ปริญญา เทวานฤมิตรกุล’
[3] ประจักษ์ ก้องกีรติ, 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ประวัติศาสตร์บาดแผลที่เปิดเผยความจริงในสังคมไทย
[4] ปิยบุตร แสงกนกกุล มาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นปฏิกิริยา-สัมพันธ์กับสถานการณ์ทางการเมือง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า