อำเภอ ‘เทพา’ และ ‘สะบ้าย้อย’ ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานี (ปตานี)

โดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ที่ผ่านมาประชาชนทั้งไทยพุทธ-มุสลิม ในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลา ต้องเผชิญกับความทุกข์ยากแสนสาหัส ซึ่งเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในฐานะที่เคยเป็น “อาณาจักรปัตตานี” (ปตานี -Patani) ในอดีต

โดยเหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านั้น ไม่ได้รักษาขอบเขตการก่อเหตุเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ดังที่ควรจะเป็นบนความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ที่ว่า “ชาวปตานีกำลังต่อสู้เพื่อให้ได้เอกราช (Merdeka) กลับคืนมา” แต่เหตุการณ์กลับแพร่ลามมาถึงบางส่วนของจังหวัดสงขลา อันได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอนาทวี และรวมถึงอำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา และอำเภอเมืองสงขลา ในบางโอกาสอีกด้วย

อะไรคือปัจจัยเบื้องหลังที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบนอกพื้นที่ “อดีตอาณาจักรปัตตานี” (ปตานี) เช่นนี้ ?

ผู้เขียนในฐานะคนสงขลาแต่กำเนิด ได้เกิดความสงสัยนี้มานาน และไม่เคยเข้าใจเลยว่าชาวสงขลาในพื้นที่ข้างต้นไปทำผิดอะไร ทำไมพวกขบวนการฯ ถึงได้ใจดำอำมหิตเช่นนี้ แต่ชะรอยกลับไม่สามารถหาคำตอบได้เลย

จนกระทั่งมาพบกับความจริงไม่กี่ปีให้หลังว่า เหตุการณ์ก่อเหตุนอกพื้นที่ 3 จังหวัด ล้วนเกี่ยวข้องกับการ “บิดเบือนประวัติศาสตร์” อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและแนบเนียนที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ปรากฏในใบปลิวโฆษณา (ในอดีต) รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของพวกชาตินิยมนายูบางเล่ม (นายู – Nayu คำเรียกตัวเองของคน 3 จังหวัด หมายถึง คนมลายู) และที่น่าจับตามองในปัจจุบันคือ การบรรยายประวัติศาสตร์ท้องถิ่นออนไลน์โดยนักกิจกรรมบางกลุ่ม ที่บางครั้งผู้บรรยายพูดไปโดยไม่มีที่มาหรือการอ้างอิงข้อมูลที่ชัดเจนแต่อย่างใด

น่าสนใจว่าการสมอ้างว่า “4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) เป็นของอาณาจักรปัตตานี” เป็นชุดข้อมูลที่ถูก “ทำให้เข้าใจผิด” กันจนเกลื่อน แม้แต่คนในกรุงเทพฯ หรือส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย ก็ถูกพวกขบวนการฯ หลอกให้เข้าใจเช่นนั้น ถ้าไม่เชื่อก็ลองถามตัวเองดูว่า ก่อนหน้าที่จะอ่านบทความนี้จบ ท่านผู้อ่านมีความคิดเช่นนี้อยู่หรือไม่ ?

ความเชื่อที่ว่า 4 อำเภอของสงขลาเป็นของปัตตานีนี้ ได้ไปสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในการประหัตประหารคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งได้สร้างความเจ็บปวดให้แก่คนสงขลาในพื้นที่เหล่านั้นมาเกือบ 20 ปี (การก่อเหตุในจังหวัดสงขลาเพิ่งเริ่มอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2547 นี้เอง)

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอยกแค่กรณีอำเภอ “เทพา” และ “สะบ้าย้อย” ซึ่งผู้เขียนไปอ่านข้อมูลเท็จที่พบในหนังสือ “Pengantar Sejarah Patani” (ตีพิมพ์ประมาณ พ.ศ. 2537)ซึ่งเขียนโดย Ahmad Abdul Al-Fatani (นักชาตินิยมนายูที่ลี้ภัยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย)

ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดย นายนิอับดุลรากิ๊บ ศิริเมธากุล ภายใต้ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีงบประมาณ 2543

หนังสือเล่มดังกล่าว จัดเป็นหนังสือที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของปัตตานี (ปตานี) เล่มคลาสสิคอีกเล่มหนึ่ง ที่ค่อนข้างแพร่หลายในภาษามลายู (ตัวพิมพ์โรมัน-รูมี)

อย่างไรก็ดี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ปัตตานีโดยทั่วไป ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ผู้เขียนได้บังเกิดความ “เอะใจ” ตั้งแต่เปิดหน้าแรกขึ้นมาอ่าน ด้วยประโยคที่ถูกระบุไว้ในย่อหน้าที่ 1 ว่า …

ปัตตานีที่ให้ความหมายในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่จังหวัดปัตตานีดังที่เป็นอยู่ในแผนที่ประเทศไทยปัจจุบันนี้ แต่เป็นการอ้างอิงถึงรัฐแห่งหนึ่งที่มีเขตแดนที่กว้างขวางกว่านั้น นั่นคือ ครอบคลุมทั้งจังหวัดนราธิวาส ยะลา และบางส่วนของจังหวัดสงขลา (อำเภอสะบ้ายอ และตีบอ)”

ซึ่งหนังสือเล่มดังกล่าว (ฉบับแปลไทย) ได้ใส่เชิงอรรถที่ 1 ไว้ว่า “อำเภอสะบ้ายอ” ก็คือ “อำเภอสะบ้าย้อย” ส่วน “ตีบอ” คือ “เทพา” เมื่ออ่านมาถึงประโยคนี้ผู้เขียนถึงกับคิ้วขมวด พยายามพลิกหาถึงเอกสารหรือหลักฐานอ้างอิงที่หนังสือเล่มดังกล่าวใช้ในการสนับสนุนข้อมูลตรงนี้

แต่เปล่าเลย… ข้อความในย่อหน้าดังกล่าวถูกเขียนขึ้นโดยที่ไม่มีการใส่อ้างอิงแต่อย่างใด ประหนึ่งลอยมาจากวิมานไหนไม่ทราบ…

เพราะแม้แต่ใน พงศาวดารราชสำนักปัตตานี (Hikayat Patani) ทั้งฉบับ ก็ไม่มีการระบุว่าปัตตานีโบราณมีอาณาเขตไปถึงพื้นที่ของจังหวัดสงขลา น่าสนใจว่าพงศาวดารราชสำนักปัตตานีอ้างสิทธิ์การปกครองแค่เมืองแถบกรือเซะ สายบุรี ยะลา ไปจนถึง ตาเนาะแมเราะห์ เท่านั้น ผู้เขียนจึงไม่เข้าใจว่าการ “เคลม” สะบ้าย้อย และ เทพา ของหนังสือเล่มดังกล่าว เขาไปเอาหลักฐานมาจากไหนกันแน่

นอกจากนี้แล้ว ผู้เขียนในฐานะ “ลูกสงขลาแต่กำเนิด” ต้องขอบอกข้อเท็จจริงกับท่านผู้อ่านว่า แท้จริงแล้วการออกเสียง “สะบ้ายอ” และ “ตีบอ” ข้างต้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่เป็นสำเนียงการเรียกเฉพาะคนมุสลิมในพื้นที่ที่มีเชื้อสายมาจากชาวนายู (หรือชาวมลายู 3 จังหวัด) เท่านั้น

แต่หากท่านไปคุยกับคนมุสลิมสงขลาดั้งเดิมในพื้นที่ที่แหลงใต้ (พูดปักษ์ใต้) เช่น ชาวสะกอมในพื้นที่อำเภอเทพา ที่มีจำนวนมากกว่าคนมุสลิมนายูในพื้นที่อำเภอเหล่านี้ (หลายเท่า) จะพบว่า คนมุสลิมสงขลาเวลาแหลงใต้ยังออกเสียงอำเภอของพวกเขาว่า “สะบ้าย้อย” และ “เทพา” เหมือนๆ กับคนไทยพุทธในพื้นที่ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมเช่นเดียวกัน

นอกจากการออกเสียงที่ผิดกันแล้ว แม้แต่ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมุสลิมสงขลาใน เทพา และ สะบ้าย้อย (รวมถึงอำเภอ จะนะ และ นาทวี) ก็มีความแตกต่างกับชาวนายูในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกด้วย อาทิ พวกเขาใช้คำว่า “บัง” (อาบัง – Abang) แบบภาษามลายูกลางเรียก “พี่ชาย” ไม่ใช่ “แบ” (อาแบ) แบบสำเนียงมลายูใน 3 จังหวัดและรัฐกลันตัน หรือการที่พวกเขาใช้คำว่า “มาหยัง” ที่มาจากคำว่า “ซัมมายัง – Sembahyang” ในภาษามลายูกลาง ที่แปลว่า “ละหมาด” ไม่ใช่ “มาแย” แบบสำเนียงมลายู 3 จังหวัด

จะเห็นได้ว่าแม้แต่คำศัพท์ง่ายๆ ในชีวิตประจำวันก็มีความแตกต่างกับชาวมลายูใน 3 จังหวัดอย่างชัดเจนมาก ดังนั้น การไปเหมารวมว่าคนมุสลิมสงขลาใน เทพา และ สะบ้าย้อย เป็น “ชาวปัตตานี” จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงมาก

และการที่คนมุสลิมใน เทพา และ สะบ้าย้อย พูดปักษ์ใต้แทนภาษามลายูนี้ ผู้เขียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติม พบว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายรัฐนิยมชาติไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่อย่างใด น่าสนใจว่าคนมุสลิมเหล่านี้กลับพูดภาษาปักษ์ใต้อย่างน้อยๆ ก็ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว ดังปรากฏข้อความในพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ช่วงเสด็จประพาสอำเภอเทพา เมื่อ ร.ศ. 108 ว่า ราษฎรในเทพานี้ “ค่าน้ำค่าดิน” ก็ออกเสียงเพี้ยนเป็น “ค่ามันดิน” เพราะพวกเขามีน้ำเสียง “อย่างชาวนอก” ซึ่ง “ชาวนอก” ในความหมายของคนภาคกลางสมัยก่อนก็คือ “คนปักษ์ใต้” นั่นเอง

นอกจากนั้น ผู้เขียนขอให้สังเกตให้ดีว่า ในปี พ.ศ. 2537 ที่หนังสือเล่มนี้ (Pengantar Sejarah Patani) ถูกพิมพ์เผยแพร่ ฝ่ายนักชาตินิยมนายูและขบวนการฯ ยังไม่มีการ “เคลม”อำเภอ จะนะ และ นาทวี แต่อย่างใด แต่เหตุใด 10 ปีหลังจากนั้น (พ.ศ. 2547) บรรดาตำราประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยพวกนักชาตินิยมท้องถิ่น ตลอดจนถึงการดำเนินการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน จึงได้รุกคืบไปยังอีก 2 – 3 อำเภอที่เหลือของจังหวัดสงขลา (จะนะ นาทวี หาดใหญ่ และสะเดา)

สำหรับประเด็นนี้ แม้แต่ นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ยังตั้งข้อสงสัยไว้อย่างน่าสนใจว่า …

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนช่วงนั้นมีหลายกลุ่ม หลายพวก ตั้งชื่อต่างๆ นานา แต่ลงท้ายด้วยคำว่า ปัตตานีเสมอ เพื่อยืนยันว่าต้องการแยกปัตตานีในอดีตที่มีดินแดนกว้างขวางออกไป บางองค์กรคิดแยกแค่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ บางองค์กรก็เลยขึ้นมาถึงนครศรีธรรมราช แล้วแต่จะเขียนแผนที่เอาเองโดยหาเหตุผลทางประวัติศาสตร์มาอ้างต่างๆ นานา

ข้อสรุปของผู้เขียนคงไม่ต่างกับบทความก่อนๆ อาทิ “สะเดาไม่เคยเป็นของปัตตานี” หรือ “ลังกาสุกะไม่ใช่ปัตตานี” ที่ว่า เห็นทีจะต้องมีการชำระและตรวจสอบประวัติศาสตร์นิพนธ์บางสำนักเสียใหม่ ว่าเขียนขึ้นโดยอาศัยกระบวนการทางประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อคนในพื้นที่หรือไม่

คนสงขลาในพื้นที่ 4 อำเภอ ไม่สมควรที่จะต้องถูกเหมารวมและถูก “บิดปาก” จากกลุ่มขบวนการก่อการร้ายที่ถูก “นำเข้า” มาจากภายนอกอำเภอและจังหวัดของตน ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์ของพวกเขาและเธอกลับไม่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์บาดแผลของอาณาจักรปัตตานีโบราณเลย

และหากเรายังไม่รู้เท่าทันการบิดเบือนประวัติศาสตร์เหล่านี้ เห็นทีการ เสียดินแดนคงจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงในอนาคตก็เป็นได้

อ้างอิง :

[1] Ahmad Abdul Al-Fatani. Pengantar Sejarah Patani. (2537) แปลไทยโดย นายนิอับดุลรากิ๊บ ศิริเมธากุล ภายใต้ โครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปีงบประมาณ 2543.
[2] ศรายุทธ เจียรมาศ. แผ่นดินนี้ชื่อเทพา. (2562). จัดพิมพ์โดย ที่ทำการปกครองอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา.
[3] พงศาวดารราชสำนักปัตตานี (Hikayat Patani)
[4] ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์. ไล่ล่าจารชน. (2556). จัดพิมพ์โดยสำนักข่าวกรองแห่งชาติ
[5] เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูเมื่อ ร.ศ. 108ม 109, 117 รวม 3 คราว.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า