หยุดวาทกรรม ‘พอเพียง’ คือการหลอกให้คนอยู่อย่าง ‘จนๆ’

เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับคนไทย มายาวนานกว่า 25 ปี

แต่หลายครั้งที่คำว่า “พอเพียง” กลับถูกตีความหมายให้อยู่ในวงแคบ จนหลายคนเข้าใจไปว่า พอเพียง ต้องอยู่แบบจนๆ ต้องห้ามซื้อโน่นซื้อนี่ บางคนก็เข้าใจไปว่า เศรษฐกิจพอเพียงต้องไปเป็นเกษตรกรทำไร่ทำสวนอยู่ตามชนบท คนที่อยู่ในเมือง คนที่ทำธุรกิจหรือทำอาชีพอื่นๆ ไม่เรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง

และหลายครั้งมีการนำไปบิดเบือนถึงขั้นว่า พอเพียง คือการกดทับคนเอาไว้ให้ต้องจนอยู่อย่างนั้น

ซึ่งการตีความแบบนี้ไม่ใช่ปรัชญาที่แท้จริงของคำว่า “พอเพียง”

– พอเพียง ไม่ได้แปลว่า ต้องอยู่อย่างจนๆ
– พอเพียง ไม่ได้แปลว่า ต้องไปทำการเกษตร
– พอเพียง คือการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน

พอเพียง คือการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับฐานะ ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็น และยังรวมถึงการวางแผนปรับเปลี่ยนการใช้เงิน ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งการปรับเปลี่ยนการใช้เงินยังหมายความรวมไปถึงการสร้างรายได้เพิ่มให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายอีกด้วย

เศรษฐกิจพอเพียง ยังรวมไปถึงการลงทุน สำหรับเจ้าของกิจการหรือเจ้าของธุรกิจใหญ่ๆ ซึ่งการกู้เงินหรือการสร้างหนี้ในแง่ของการลงทุนนั้น ก็คือหนี้ที่จะนำมาซึ่งรายได้ หากมีการศึกษาเรื่องที่จะลงทุนให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเป็นการลงทุนที่ไม่เกินตัว ธุรกิจก็สามารถเติบโตและประสบความสำเร็จได้

โดยสรุปคำว่า “พอเพียง” ก็คือหลักการบริหาร ทั้งการบริหารเงิน บริหารเวลา รู้จักใช้จ่ายอย่างเหมาะสมโดยที่ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน อีกทั้งยังรวมไปถึงการลงทุนเพื่อสร้างมั่นคงให้กับตัวเอง เมื่อมีความมั่นคง เราก็ไม่เดือดร้อน ชีวิตก็มีคุณภาพ

เพราะฉะนั้นคำว่า “พอเพียง” จึงเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ไหนหรือประกอบอาชีพใดก็ตาม ปรัชญาพอเพียง จะทำให้เราอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน อยู่ได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา