ส.ค.ส. ฉบับแรกของไทย ส่งผ่านจากวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ รัชกาลที่ 4

ในทุกเทศกาลปีใหม่ สิ่งหนึ่งซึ่งเราจะพบเห็นอยู่เสมอคือ ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต่างส่งคำอวยพรให้แก่กันผ่าน ส.ค.ส. เป็นการแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดี ในการส่งมอบความสุขให้กับคนที่เรารัก เรียกได้ว่าการส่ง ส.ค.ส. เป็นธรรมเนียมสากลของช่วงเทศกาลปีใหม่เลยทีเดียว

แล้วรู้ไหมครับว่า ส.ค.ส. ใบแรกของไทยเกิดขึ้นตอนไหน? และเป็นใครส่งให้ใคร?

ส.ค.ส. ฉบับแรกของไทยมีขึ้นในปี พ.ศ. 2409 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นสำหรับพระราชทานแก่คณะทูตานุทูต ข้าราชบริพาร และมิตรสหายชาวต่างประเทศ เนื่องในวาระวันขึ้นปีใหม่สากล เมื่อวันจันทร์ที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409)

ซึ่ง ส.ค.ส. อันประเมินค่ามิได้ฉบับนี้ ถูกค้นพบในร้านหนังสือเก่าแก่ ใจกลางกรุงลอนดอน และผู้ที่ซื้อกลับมาสู่แผ่นดินไทยคือ คุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามผ่านเอกสารของชาวตะวันตก

คุณธวัชชัย เล่าว่า ส.ค.ส. ฉบับนี้ เป็นฉบับที่ในหลวง ร.4 พระราชทานให้แก่ กัปตันจอห์น บุช หรือหลวงวิสูตรสาครดิษฐ ที่ดูแลกรมเจ้าท่าในขณะนั้น โดยตัว ส.ค.ส. มีการเขียนคำอวยพรด้วยลายพระหัตถ์สวยงามเป็นระเบียบ ความยาวทั้งสิ้น 4 หน้า แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดีในด้านภาษาอังกฤษของพระองค์ และที่สำคัญคือ ในหลวง ร.4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายเซ็นพระนามลงบน ส.ค.ส. ฉบับนี้ด้วย

สำหรับกัปตันจอห์น บุช เดิมเป็นนักเดินเรือชาวอังกฤษที่มีความสามารถ และได้เข้ามารับราชการในสยาม ในตำแหน่ง “เจ้าท่ายุโรป” กรมท่ากลาง มีหน้าที่จัดระเบียบการเดินเรือ และคอยดูแลเมื่อเกิดคดีความขึ้นในเขตน่านน้ำไทย โดยกัปตันจอห์น บุช ได้รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวของประเทศไทย ถึง 2 พระองค์ คือ ในหลวง ร.4 และ ร.5 อีกทั้งยังเป็นผู้วางรากฐานงานเจ้าท่าขึ้นในประเทศไทยด้วย

ส.ค.ส. ฉบับแรกของไทยนี้ นอกจากเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งพระราชหฤทัยของในหลวง ร.4 ในการส่งมอบความปรารถนาดี ให้แก่ข้าราชบริพารทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้ว หากเรามองให้ลึกลงไป ในสมัยนั้นยังเป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศรอบข้างต่างถูกยึดครองโดยชาติมหาอำนาจ และด้วยการส่งบัตรอวยพรนั้น ถือเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันตก ดังนั้นการส่ง ส.ค.ส. ของในหลวง ร.4 จึงมีนัยสำคัญเพื่อสื่อให้ชาติตะวันตกเห็นว่า สยามเป็นประเทศที่มีความเจริญ มีอารยะ เรารู้และเข้าใจธรรมเนียมของชาวตะวันตกเป็นอย่างดี สยามจึงไม่ใช่ประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อน ที่มหาอำนาจจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเข้ามาครอบครองได้

เรื่องราวของ ส.ค.ส. เก่าแก่ที่สุดของไทยฉบับนี้ จึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลในด้านต่าง ๆ ของในหลวง ร.4 ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกชาวตะวันตกที่มีความสามารถอย่างกัปตันจอห์น บุช เข้ามาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมถึงการใช้ธรรมเนียมของตะวันตกอย่างการส่ง ส.ค.ส. ทำให้ชาวยุโรปต่างรู้จักสยามเป็นอย่างดีในนามประเทศที่มีอารยะ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมมาได้จนถึงปัจจุบัน