‘สวนบ้านแก้ว’ จากความรกร้างสู่ผืนดินอันอุดม ด้วยหยาดเหงื่อและความทุ่มเท ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจากประเทศอังกฤษกลับสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2492 นั้น รัฐบาลได้ใช้พระตำหนักวังศุโขทัยเป็นสถานที่ทำงานของกระทรวงสาธารณสุขเสียแล้ว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้เชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ไปประทับอยู่ที่ตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในวังสระปทุมอยู่นานถึง 3 ปี จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง

พระตำหนักวังศุโขทัย ซึ่งจัดเป็นที่ประทับชั้นหลังนี้ ได้จัดอย่างเรียบง่ายตามพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระนางจ้ารำไพพรรณีผู้เป็นเจ้าของวัง ชั้นล่างประกอบด้วยห้องรับแขกห้องหนึ่ง ห้องเสวยห้องหนึ่ง และห้องสำหรับใช้ประชุมหรือประกอบพระราชพิธีอีกห้องหนึ่ง ส่วนชั้นบนจัดเป็นเขตที่สำราญพระราชอิริยาบถอย่างแท้จริง มีห้องเสวยอย่างลำลองห้องหนึ่งเชื่อมต่อกันกับห้องพระสำราญ ซึ่งเป็นทางแยกไปสู่ห้องพระและห้องพระบรรทมได้ และที่โต๊ะเล็กข้างพระแท่นบรรทมนั้น ประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดเล็กๆ ทรงฉลองพระองค์อย่างลำลอง แววพระเนตรเต็มไปด้วยความอ่อนโยนและแสดงพระเมตตาคุณอย่างชัดเจนคล้ายกับจะทรงคุ้มครองพระตำหนักนี้ให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดกาลนาน

ในระยะที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประเทศไทยและประทับอยู่ที่ตำหนักของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศวร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ณ วังศรีปทุมนั้น เป็นเวลาที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระเยาว์อยู่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เพื่อผ่อนคลายพระราชภารกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เป็นอันมาก

เนื่องจากทรงมีพระราชหฤทัยอ่อนโยน และไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะรบกวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการประทับอยู่ ณ ตำหนัก วังสระปทุมนานเกินควร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีจึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดจันทบุรี เพื่อทรงหาสถานที่ซึ่งเหมาะสมสำหรับพระองค์จัดเป็นที่ประทับ

ด้วยการเดินทางในสมัยนั้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทรงเห็นว่าเชียงใหม่นั้นอยู่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากเกินไป จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรพื้นที่ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งในระยะนั้นเส้นทางคมนาคมยังเต็มไปด้วยหลุมบ่อและฝุ่นตลบ ถนนหนทางยังไม่ได้ลาดยาง บางแห่งต้องใช้แพขนานยนต์หรือสะพานลำลองข้ามลำน้ำสายต่างๆ และในที่สุด ทรงเลือกได้ที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นทำเลที่มีธรรมชาติงดงาม มีความเงียบสงบต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ และระยะทางก็อยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองจนเกินไปนัก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงกู้เงินจากธนาคารไปจัดซื้อที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองบ้านแก้วจากเจ้าของที่ดินเดิมหลายราย รวมได้เนื้อที่ 687 ไร่ แล้วพระราชทานชื่อว่า “สวนบ้านแก้ว” และโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารทำการปรับที่ดิน พร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงจาก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้

ต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนรับรองพระตำหนักและเรือนข้าราชบริพารขึ้น โดยการก่อสร้างนั้นให้เป็นไปด้วยความประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กล่าวคือ จ้างช่างให้มาสอนคนงานที่บ้านสวนแก้วให้รู้จักการสร้างเตาเผาอิฐ แล้วทำการเผาอิฐ เผากระเบื้องมุงหลังคา เพื่อนำไปใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

สำหรับไฟฟ้านั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารตั้งเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าขึ้นมาใช้ และเมื่อมีกระแสไฟฟ้าแล้ว ก็นำไปใช้กับเครื่องสูบน้ำทำการสูบน้ำจากคลองบ้านแก้วขึ้นมาใช้ต่อไป ต่อมากรมชลประทานได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย และกรมทางหลวงก็ดำเนินการปรับปรุงสภาพถนนหนทางให้ดีขึ้นตามลำดับ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้สวนบ้านแก้วดำเนินกิจการในด้านการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกไม้นานาชนิด ทั้งที่เป็นพืชและไม้ผลในท้องถิ่นรวมทั้งจากแหล่งอื่นด้วย ตลอดจนมีการเลี้ยงสัตว์เพื่อที่จะให้สวนบ้านแก้วเป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่าหากปลูกพืชหรือสัตว์เลี้ยงชนิดใดได้ผลดี ก็จะทรงนำเอาความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ประชาชน โดยมีนักวิชาการเกษตรจากสถานีทดลองเกษตรจังหวัดจันทบุรีที่เป็นข้าราชบริพารเก่ามาช่วยเหลือแนะนำทางด้านวิชาการ

สำหรับชาวบ้านที่มารับจ้างทำงานในส่วนบ้านแก้ว ส่วนมากก็มีสวนเป็นของตนเองอยู่ด้วย การนำความรู้ที่ได้จากสวนบ้านแก้วไปปฏิบัติที่สวนของตน จึงเป็นไปอย่างได้ผลดีและทำให้ชาวบ้านมีใจรักที่จะทำนุบำรุงสวนของตนให้มีสภาพที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ทั้งนี้เพราะว่าเขาเหล่านั้นได้พบเห็นตัวอย่างจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่มีพระวิริยะอุตสาหะในการทำไร่สวนบ้านแก้วด้วยพระองค์เองอยู่เสมอๆ อาทิ ทรงเกี่ยวข้าว สีข้าว ปลูกถั่วลิสง เก็บเมล็ดถั่วลิสง ตลอดจนดูแลเลี้ยงสัตว์พันธุ์ต่างๆ บางครั้งถึงกับทรงขับแทรกเตอร์และตัดหญ้าด้วยพระองค์เอง ทั้งยังทรงปลูกไม้ดอกไม้ประดับไว้เป็นจำนวนมาก จนปรากฏว่าสวนบ้านแก้วมีดอกไม้ประดับตระการตาหลากชนิด

ระหว่างที่ประทับอยู่ ณ สวนบ้านแก้วนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียังได้ทรงพัฒนาการทอ “เสื่อจันทบูร” อันเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นอาชีพหลัก ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดจันทบุรีให้เจริญก้าวหน้าไปมากกว่าเดิมอย่างมาก ทั้งนี้ เนื่องจากได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทอเสื่อจันทบูรของแม่ชีที่วัดญวณ แล้วทรงพบข้อบกพร่องต่างๆ เช่น สีที่ใช้ย้อมกกที่จะนำไปทอเป็นเสื้อนั้นไม่คงทน สีมักจะตกและมีสีที่จะใช้ย้อมเพียงไม่กี่สี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อกกจันทบูรขึ้นที่สวนบ้านแก้ว สั่งซื้อกกตากแห้งจากชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อ และมีพระราชดำริให้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตใหม่ให้ทันสมัยและมีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่น ให้ค้นคว้าผลิตสีที่จะใช้ย้อมกกให้มีมากสียิ่งขึ้น ใช้กรรมวิธีฟอกกกให้ขาวก่อนแล้วจึงย้อมสี ซึ่งวิธีนี้ทำให้สีย้อมกกคงทนถาวรและได้กกหลากสีมากขึ้น เป็นต้น

โรงงานทอเสื่อของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มีลูกจ้างเพียง 30 คน และมีการแยกหน้าที่เป็นสัดส่วนทั้งในแผนกฟอกกขาว แผนกย้อมกก แผนกทอ และแผนกตัดเย็บ ซึ่งนอกจากจะทอเสื่อออกจำหน่ายจนเป็นที่นิยมแพร่หลายและเรียกกันว่า “เสื่อจันทบูรสมเด็จฯ” แล้ว ยังผลิตของใช้ประเภทอื่นที่ทำจากเสื่อกกอีก เช่น กระเป๋าเอกสาร กระเป๋าถือสตรี ถาด ที่รองถ้วยแก้ว ที่รองจาน กล่องใสกระดาษเช็ดมือ ฯลฯ โดยทรงเป็นผู้ออกแบบและตรวจตราคุณภาพสิ่งของที่ผลิตขึ้นด้วยพระองค์เอง และสิ้นค้าต่างๆ ที่ผลิตออกมาจากโรงงานนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ติดเครื่องหมายการค้าเป็นรูปคนหาบกระจาด โดยใช้ชื่อว่า “อุตสาหกรรมชาวบ้าน” ซึ่งโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตสินค้าได้ดีมีคุณภาพ และทำรายได้ถึงเดือนละหลายหมื่นบาท

จากพระราชดำริให้มีอุตสาหกรรมชาวบ้านดังกล่าวนั้น ส่งผลให้เกิดศูนย์ฝึกฝนศิลปาชีพขึ้น ทำให้ลูกจ้างจำนวนหนึ่ง หลังจากลาออกไปประกอบอาชีพ ต่างได้มีกิจการเป็นของตนเอง และนำประสบการณ์ที่ได้จากโรงงานไปดำเนินกิจการของตนจนได้ผลอย่างดี จึงทำให้กิจการค้าด้านนี้แพร่หลายตามครัวเรือนราษฎรมากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบันอาชีพการปลูกกก การทอเสื่อจันทบูร ได้กลายเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงริเริ่มให้เกิดอุตสาหกรรม ประจำถิ่น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่าแก่ชาวจันทบุรี และถือเป็นของดีประจำจังหวัดจันทบุรี ตราบเท่าทุกวันนี้

พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงปฏิบัติระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่ส่วนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี คือ ทรงอุปถัมภ์โรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรีให้กลายเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่โตทันสมัยในปัจจุบัน

โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปหาที่ดินในจังหวัดจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2493 นั้น ได้ทรงช่วยข้าราชบริพารเตรียมพระกระยาหารและทรงทำมีดบาดพระดัชนีเป็นรอยแผลเล็กๆ เมื่อทำความสะอาดบาดแผลแล้ว ทรงต้องพระราชประสงค์ผ้าพลาสเตอร์ปิดแผล แต่ไม่มีข้าราชบริพารคนใดในคณะนำติดตัวไปด้วย จึงเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี ซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ปรากฏว่าแพทย์และพยาบาลต่างวิ่งกันวุ่นในโรงพยาบาลหลังเล็กๆ ที่ทรุดโทรม และมีอยู่เพียงหลังเดียวนั้น ในที่สุดก็ค้นหาได้เศษพลาสเตอร์ยาวประมาณหนึ่งนิ้วครึ่งนำมาถวาย ทำให้ทรงสลดพระราชหฤทัยยิ่งว่าหากประชาชนธรรมดามาพึ่งโรงพยาบาลในยามเจ็บไข้ จะได้รับความไม่สะดวกเพียงใด

ดังนั้น เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496 จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครในพระราชินูปถัมภ์เพื่อจัดหาทุนก่อสร้างตึกผ่าตัดให้แก่โรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2497 ได้พระราชชทานนามตึกหลังนี้ว่า “ตึกประชาธิปก” และพระราชทานตราศักดิเดชน์ ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ อันเป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าตึกนั้นด้วย

ต่อมาพระยาบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ขอให้รัฐบาลปรับปรุงโรงพยาบาลนี้ให้มีขนาดใหญ่และทันสมัยยิ่งขึ้น คือขยายจากโรงพยาบาล 50 เตียง เป็น 150 เตียง พร้อมด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อเป็นโรงพยาบาลหลัก และสร้างวิทยาลัยพยาบาลเพื่อเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของภาคตะวันออก

การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2489 และรัฐมนตรีได้มีมติให้เปลี่ยนนามโรงพยาบาลเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ” เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดป้ายชื่อ “ตึกประชาธิปก” และ “โรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ” ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2499

นอกจากจะทรงรับโรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ และวิทยาลัยพยาบาลดังกล่าวไว้ในพระราชินูปถัมภ์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียังได้พระราชทานทุนในการดำเนินงานของโรงพยาบาลชื่อ “ทุนประชาธิปก” และได้พัฒนาขึ้นเป็น “มูลนิธิประชาธิปก” ในปี พ.ศ. 2518 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะบำรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าฯ และวิทยาลัยครูจันทบุรี ไว้ใช้ในการศึกษาของนักเรียนพยาบาลและนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรีที่เรียนดีมีความประพฤติดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะประทับอยู่นอกกรุงเทพมหานครอีกต่อไป เนื่องจากทรงมีแต่พระประยูรญาติและข้าราชบริพารที่เป็นสตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยากจะตามเสด็จพระราชดำเนินไปอยู่ในต่างจังหวัด ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการมีความสนใจที่จะสร้างวิทยาลัยครูจันทบุรี พระองค์จึงตัดสินพระราชหฤทัยขายสวนบ้านแก้ว ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการไปในราคาถูก แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัยเป็นการถาวร

แต่กระนั้นก็มิได้ทรงละทิ้งกิจการทอเสื่อและผลิตสินค้าจากเสื่อ พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินกิจการเช่นเคยแต่จำกัดปริมาณให้ลดลง และโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักน้ำในวังศุโขทัยที่อยู่ติดริมคลองสามเสนเป็นสถานที่ทอเสื่อ และผลิตสินค้าที่ทำจากเสื่อภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของพระองค์เองด้วย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ในช่วงที่พระองค์เสด็จประทับที่ “สวนบ้านแก้ว” จังหวัดจันทบุรี และได้ทรงทุ่มเทฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ จนทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นป่ารกร้าง ขาดแคลนสาธารณูปโภคต่างๆ แปรเปลี่ยนเป็นผืนดินอันอุดม สร้างงานสร้างอาชีพ และสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชนในตำบลบ้านแก้วมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ที่มา :

[1] พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7, งานพระบรมศพฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง 9 เมษายน พ.ศ.2528, หน้า 28-34

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus s