ฤา Podcast Ep 26 – สวนสราญรมย์ บันทึกแห่งความทรงจำ ของสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

ถ้าพูดถึงสถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างสวนสาธารณะในย่านถนนเจริญกรุง ทุกคนคงต้องนึกถึง “สวนสราญรมย์” พระราชอุทยานเก่าแก่คู่พระนครที่มีการตกแต่งสวนอย่างสวยงาม มีศาลาพักผ่อนมากมายหลายจุด รวมถึงน้ำพุสไตล์ยุโรป ซึ่งแต่เดิมเคยใช้ตกแต่งพระราชอุทยาน และกลายเป็นโบราณวัตถุทรงคุณค่าในปัจจุบัน

ทุกๆ เย็นสวนสราญรมย์จะมีประชาชนมากมายเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และมีกิจกรรมต่างๆ เช่นการแสดงดนตรีในสวนสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป

และในอดีต สวนสราญรมย์ ยังเป็นสวนสัตว์ที่เปิดดำเนินการมาก่อนสวนสัตว์ดุสิตถึง 45 ปี อีกทั้งยังสร้างมาก่อนสวนลุมพินีถึงกว่า 32 ปี เรียกได้ว่าเป็นสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทยเลยก็ว่าได้

จากหลักฐานคือ ประกาศราชกิจจานุเบกษา ในช่วงปี พ.ศ. 2436 – 2439 มีผู้บริจาคสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าหายาก ให้แก่สวนสราญรมย์เพื่อนำมาจัดแสดง มากกว่า 100 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าสวนสัตว์ดุสิตในระยะแรกเสียอีก

แต่ด้วยความที่พื้นที่มีจำกัด ประกอบกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สโมสรคณะราษฎร ได้เข้าใช้พื้นที่บางส่วนของสวนสราญรมย์เป็นพื้นที่ทำการ จึงทำให้สวนสราญรมย์คับแคบลงไปอีก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงปรับปรุงเขาดินวนา และทำการย้ายสัตว์ชนิดต่างๆ จากสวนสราญรมย์ มายังเขาดินวนาและเปลี่ยนชื่อมาเป็น สวนสัตว์ดุสิต ตามที่หลายคนรู้จักกันดี

นอกจากนี้ ภายในสวนสราญรมย์ ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรักที่มีต่อพระอัครมเหสี และพระราชธิดาของพระองค์

สวนสราญรมย์ จึงเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อนสำหรับประชาชน และพระราชอุทยานเก่าแก่ทรงคุณค่า ที่มีทั้งความสวยงาม และเต็มไปด้วยเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์

ยังมีเกร็ดน่าสนใจและประวัติความเป็นมาที่สำคัญอีกมากมายของ “สวนสราญรมย์” ใครอยากรู้รายละเอียดแบบเต็มๆ กดเข้าไปอ่านได้ในบทความนี้ครับ ‘สวนสราญรมย์’ บันทึกแห่งความทรงจำ ของสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย