ฤา Podcast Ep 20 – 2475 จากบันทึกมิชชันนารีชาวอเมริกัน ข่าวลือและบรรยากาศคุกรุ่นก่อนการปฏิวัติ

อันที่จริงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้มีข่าวระแคะระคายออกมาก่อนหน้านั้นสักระยะแล้ว เจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ รวมถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต่างก็รับทราบถึง “ข่าวลือ” นี้ เพียงแต่ยังไม่สามารถเข้าจับกุมผู้ก่อการได้ เพราะยังไม่มีหลักฐานที่แน่นหนาพอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจบารมีอย่างมากในตอนนั้น ยังไม่ทรงเชื่อว่า คนที่พระองค์รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดีจะกล้าคิดก่อการ

แต่แล้วการปฏิวัติก็เกิดขึ้น และส่งผลต่อประเทศชาติไปอีกยาวไกลหลังจากนั้น
ภาพบรรยากาศบ้านเมืองในช่วงข่าวลือการปฏิวัตินี้ มีอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์หลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือ Siam was our Home (สยามคือบ้านของเรา) ซึ่งเป็นบันทึกของนางเอ็ดน่า บรูเนอร์ บัลค์คลีย์ ภรรยาของนายแพทย์ลูเยส คอนสแตนท์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งได้เดินทางเข้ามาลงหลักปักฐานในสยามตั้งแต่สมัย ร.5

เอ็ดน่า บันทึกเรื่องราวก่อนการปฏิวัติไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันพิธีเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ ซึ่งในหลวง ร.7 ทรงเป็นประธานในพิธี พระองค์ทรงยืนบนพระแท่นเพื่อทอดพระเนตรการสวนสนามของเหล่าทัพด้วยความกล้าหาญ

แม้ว่าท่ามกลางข่าวลือนั้น อาจจะมีเสียงปืนดังขึ้นในนาทีใดนาทีหนึ่งก็ได้

บันทึกของเอ็ดน่า ยังมีเรื่องราวน่าสนใจอีกมาก โดยเฉพาะมุมมองของเธอที่มีต่อผู้ก่อการปฏิวัติ และยังเป็นบันทึกสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า บรรดาชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีความเกี่ยวข้องอันใดกับความเป็น “สยาม” เลย แต่พวกเขาต่างก็มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นอย่างมาก รวมถึงให้ความเคารพต่อวัฒนธรรมของชาติที่ตนเข้าไปพึ่งพาอาศัยอีกด้วย ดังเช่นที่เอ็ดน่าเรียกแผ่นดินสยามว่า “บ้าน”

TOP