ฤา Podcast Ep 15 – ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับภาษีมรดกของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนี

จากกรณีที่ ส.ส.พรรคกรีนส์ ของเยอรมนี ตั้งกระทู้ถามในสภา เมื่อปี 2563 และเรียกร้องให้รัฐบาวาเรีย ตรวจสอบเรื่องการเสียภาษีมรดกของในหลวง ร.10 ทำให้กลุ่มม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยเอามาเป็นประเด็นตั้งคำถามชี้นำว่า ในหลวง ร.10 ทรงเลี่ยงการเสียภาษีมรดก ซึ่งต้องชำระให้กับทางรัฐบาลเยอรมันในอัตราร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมด หรือประมาณ 3 พันล้านยูโร (1.1 แสนล้านบาท)

โดยกฎหมายภาษีของเยอรมนีได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องเสียภาษี โดยยึดหลักเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยเอาไว้ว่า “บุคคลที่พำนักอาศัยนานกว่า 6 เดือน และไม่ได้มีจุดประสงค์ในการพำนักเป็นพิเศษ หรือพำนักชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี ให้ถือว่าเป็นผู้มีสิทธิพำนักอาศัย (Resident) และเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษี”

ประเด็นนี้ทำให้หลายคนมีคำถามว่า ในหลวง ร.10 ต้องเสียภาษีมรดกให้กับประเทศเยอรมนีหรือไม่ ?

ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบกระทู้ถามในรัฐสภาไปแล้วว่า “กฎหมายการพำนักไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้กับองค์พระมหากษัตริย์ไทยในฐานะประมุขแห่งรัฐ” เนื่องจากพระองค์ทรงได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเทียบเคียงได้กับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูต

ดังนั้น ในหลวง ร.10 จึงไม่ทรงเข้าเงื่อนไขคุณสมบัติผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดกในเยอรมนี

และต่อให้ทรงเข้าเงื่อนไขผู้พำนักอาศัยในเยอรมนี แต่ด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางทูตในฐานะประมุขของรัฐ พระองค์ก็ยังทรงได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวอยู่ดี ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศอยู่แล้ว
ที่สำคัญที่สุด ต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยและประเทศเยอรมนี ได้มีการทำ “อนุสัญญาความตกลงระหว่างกันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน ค.ศ. 1967” ซึ่งข้อตกลงนี้กำหนดไว้ว่า ทั้งคนไทยและคนเยอรมัน เมื่อเสียภาษีในประเทศของตนไปแล้ว จะไม่ถูกเก็บภาษีซ้ำอีกครั้งหนึ่งตามกฎหมายของอีกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีอากรประเภทใดก็ตาม

ดังนั้น หากมีการเก็บภาษีมรดกในประเทศไทยแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดกในประเทศเยอรมนีอีก

ทั้งหมดนี้คงเป็นคำตอบที่ชัดเจนให้กับทั้ง ส.ส.พรรคกรีนส์ และกลุ่มม็อบเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทยได้หายข้องใจกันเสียที และหวังว่าคงเป็นข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนให้กับผู้ที่ยังสงสัยว่า ตกลงแล้วในหลวง ร.10 ต้องเสียภาษีมรดกให้กับประเทศเยอรมนีหรือไม่