รู้หรือไม่ ? คนไทยเกือบได้รับชมโทรทัศน์กันตั้งแต่เมื่อ 90 ปีที่แล้ว

ใครคือผู้สร้างโทรทัศน์เครื่องแรกของโลก ? ตามประวัติศาสตร์มีที่มาจากหลากหลายข้อมูล บ้างก็ใช้ปี ค.ศ. ในการอ้างอิงต้นกำเนิด บ้างก็ใช้การจดสิทธิบัตรในการอ้างอิง แต่ผู้ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ฟีโล ที. ฟาร์นสเวิร์ธ (Philo T. Fransworth) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน

ฟาร์นสเวิร์ธ ได้แนวคิดการสร้างโทรทัศน์มาตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี ขณะกำลังไถร่องดินในไร่ให้เป็นแนวยาวเพื่อใช้ในการเพาะปลูก จนเกิดไอเดียขึ้นมาว่า เขาสามารถใช้เส้นแนวนอนแบบเดียวกับการไถร่อง เพื่อนำไปสร้างภาพบนหลอดเครื่องรับได้

ฟาร์นสเวิร์ธ นำสิ่งนี้มาเป็นแนวคิดตั้งต้นในการพัฒนาจนกระทั่งสามารถส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้สำเร็จ ในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1927 แต่ก็เกิดปัญหาการยื่นจดสิทธิบัตรจนเป็นคดีฟ้องร้องกับ วลาดิเมียร์ เค ซโวรีคิน (Vladimir K. Zworykin) นักประดิษฐ์ชาวรัสเซีย จนกระทั่งสุดท้ายศาลตัดสินให้ ฟาร์นสเวิร์ธ ชนะคดี เขาจึงได้รับสิทธิบัตรเป็นผู้ประดิษฐ์โทรทัศน์ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์เป็นคนแรกของโลก

สำหรับในประเทศไทย ชาวสยามได้รู้จักกับโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2475 จากการเตรียมแพร่ภาพสัญญาณทางโทรทัศน์ของ “กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น

โดยก่อนหน้านั้น กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นผู้ริเริ่มพัฒนากิจการด้านต่างๆ ในประเทศให้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการวางรากฐานกิจการการบินโดยการจัดตั้งบริษัทเดินอากาศ และเปิดเส้นทางพาณิชย์ขึ้นในประเทศไทย รวมถึงกิจการรถไฟที่มีการขยายเส้นทางออกไปเกือบทั่วประเทศด้วยเส้นทางกว่า 3,000 กิโลเมตร จนกระทั่งทรงได้รับสมญานามว่า “พระบิดาแห่งรถไฟไทย”

กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ยังทรงสนใจงานด้านวิทยุและโทรทัศน์เป็นอย่างมาก และถือเป็นผู้ที่ริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้ในประเทศ โดยเริ่มจากการตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นในชื่อ “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” (Radio Bangkok at Phyathai) และมีการถ่ายทอดเสียงเป็นครั้งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 โดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 7 จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เข้าไมโครโฟนถ่ายทอดไปตามสาย

จากนั้นในปี พ.ศ. 2475 กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงริเริ่มทดลองและเตรียมการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งหากประสบความสำเร็จ ประเทศไทยอาจเป็นประเทศแรกของเอเชียที่มีการส่งสัญญาณแพร่ภาพทางโทรทัศน์

แต่ทว่าในปีนั้นได้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเสียก่อน กิจการต่างๆ ที่กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงริเริ่มพัฒนาไว้จึงถูกรัฐบาลคณะราษฎรยกเลิกและยุบทิ้งไป ซึ่งรวมไปถึงกิจการด้านวิทยุและโทรทัศน์ที่กำลังเตรียมแพร่ภาพอยู่ในขณะนั้นด้วย

ต่อมาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้อุบัติขึ้นในปี พ.ศ. 2482 ส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ประชาชนทั่วประเทศอดอยากแร้นแค้น การริเริ่มกิจการโทรทัศน์จึงยิ่งจางหายและไม่ได้รับการพูดถึงอีกเลยเป็นระยะเวลาหลายปี

จนกระทั่งสงครามโลกสิ้นสุด และก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2490 กิจการโทรทัศน์จึงได้รับการพูดถึงอีกครั้ง และถือเป็นยุคบุกเบิกของโทรทัศน์ไทย โดยในปี พ.ศ. 2492 เจ้าหน้าที่ข่าวต่างประเทศของกรมโฆษณาการ ได้รับฟังข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับปรากฏการณ์การประดิษฐ์โทรทัศน์ในยุโรปและอเมริกา จึงมีความสนใจและเขียนบทความเรื่อง “วิทยุภาพ” ขึ้น และต่อมาได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่า “วิทยุโทรทัศน์” ขึ้นโดย กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

ต่อมาสถานีโทรทัศน์ไทยแห่งแรกได้ถือกำเนิดขึ้น ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 โดยใช้ชื่อว่า “ช่อง 4 บางขุนพรหม” ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด ตั้งอยู่ ณ วังบางขุนพรหม และมีการแพร่ภาพออกอากาศเป็นครั้งแรกในระบบภาพขาว-ดำ โดยมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธานพิธีเปิดสถานีโทรทัศน์ ซึ่งนอกจากเป็นการเผยแพร่สัญญาณภาพทางโทรทัศน์ครั้งแรกในประเทศไทยแล้ว ยังถือเป็นแห่งที่สองของทวีปเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่น

เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2501 ในระบบขาว-ดำ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหาร โดยมีการส่งสัญญาณแพร่ภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และยังถือเป็นการใช้สื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองระหว่างจอมพล สฤษดิ์ และจอมพล ป. อีกด้วย

จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2510-2519 ถือเป็นยุคแห่งการเติบโตของวงการโทรทัศน์ไทย โดยสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ได้เริ่มแพร่ภาพในระบบสีเป็นสถานีแรก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 จากนั้นได้มีการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตามมาในปี พ.ศ. 2513 โดยออกอากาศอย่างเป็นทางการในระบบสี

นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ขาว-ดำ 2 ช่องแต่เดิม มาเป็นระบบสี ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 ขาวดำ เปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 ออกอากาศในระบบสี และสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ขาวดำ เปลี่ยนเป็นสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 โดยออกอากาศในระบบสีเช่นกัน

ทำให้เมื่อสิ้นสุดทศวรรษ 2510 ประเทศไทยมีสถานีโทรทัศน์ระบบสี 4 สถานีด้วยกัน คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 9

จากนั้นมาวงการโทรทัศน์ไทยได้กระโดดเข้าสู่ยุคทองและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีสถานีโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็นสถานี NBT รวมถึงสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งได้เปลี่ยนมาเป็น ThaiPBS

จนกระทั่งเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัลในปัจจุบันซึ่งมีช่องสถานีต่างๆ มากมาย รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คนไทยได้เลือกรับชมอีกนับไม่ถ้วน ผ่านทางเครื่องโทรทัศน์ที่ได้รับการพัฒนาควบคู่กันมาอย่างรวดเร็ว จนกลายมาเป็นสมาร์ททีวีที่ทุกคนใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน

เป็นเรื่องที่น่าทึ่งไม่น้อยหากมองย้อนกลับไป ประเทศไทยเกือบจะได้รับชมการแพร่ภาพทางโทรทัศน์กันตั้งแต่เมื่อ 90 ปีที่แล้วจากความสามารถของคนไทย แต่สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์บ้านเมืองและวิกฤตสงครามโลกก็ได้หยุดโอกาสในการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ลงเสียก่อน แต่ในที่สุด วงการโทรทัศน์ไทยก็ได้เริ่มนับหนึ่งและเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดเรื่อยมา จนกระทั่งพลิกโฉมได้อย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และจะยังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในอนาคต

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า