รู้หรือไม่ กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินขับไล่ตั้งแต่ปี 2462

ด้วยการตัดสินพระราชหฤทัยของในหลวงรัชกาลที่ 6 ในการประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาและการเสริมอาวุธยุทโธปกรณ์อากาศยาน ของ “กองบินทหารบก” หรือกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน

และเชื่อหรือไม่ว่า กองทัพอากาศไทย มีเครื่องบินขับไล่ใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462

พระเอกของเราครั้งนี้คือเครื่องบิน นิเออปอร์ต (Nieuport) ซึ่งหากใครเป็นแฟนหนังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเคยดูเรื่อง FLY BOY คงจะจดจำความสุดยอด ของเครื่องบินขับไล่แบบปีกสองชั้นรุ่นนี้ได้เป็นอย่างดี

เครื่องบิน นิเออปอร์ต (Nieuport) เครดิตภาพจาก กองทัพอากาศ

เครื่องบินแบบนิเออปอร์ต (Nieuport) เป็นเครื่องบินที่ออกแบบและผลิตขึ้นโดยบริษัท Nieuport et Deplante ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1910 เป็นต้นมา ได้รับการออกแบบสร้างหลายรุ่น มีประจำการในกิจการการบินทหาร (กองบินทหารบก แผนกการบิน กรมอากาศยาน) ของกองทัพอากาศหลายชาติในยุคบุกเบิกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สิ้นสุดลงในเดือน กันยายน ปี พ.ศ. 2462 กองบินทหารบกของไทย ได้จัดซื้อเครื่องบินรบหลายรุ่นจากฝรั่งเศสมาใช้ในราชการชุดแรก รวม 15 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ปลดระวางจากสงครามโลกนั่นเอง และหนึ่งในนั้นคือ เครื่องบิน นิเออร์ปอร์ต 17/24/27 ซึ่งเป็นรุ่นที่มีขนาดปีก 15 ตร.ม. เป็นจำนวนถึง 12 เครื่อง

นิเออร์ปอร์ต เป็นเครื่องบินรุ่นที่ได้รับความนิยมมาก เรียกว่าจัดอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของเครื่องบินขับไล่ในกองทัพอากาศฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เลยทีเดียว

ลักษณะเด่นของเครื่องบินรบ นิเออร์ปอร์ต คือ มีปีกสองชั้น พื้นที่ปีกขนาดเล็กคล่องตัว มีขีดความสามารถในการบินที่สูง และมีการติดปืนกลอยู่ด้านบนของปีกเหนือตำแหน่งคนขับ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยิงลอดใบพัด โดยใช้วิธีการดึงสายบังคับลงมาในการลั่นไกยิงใส่ข้าศึก ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องบินขับไล่ในสมัยนั้น

ร.ต. ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน กับ บ.ข.1 Nieuport นิเออปอร์ต 13 ตร.ม. และภาพขวาคือลักษณะการติดปืนกลบนเครื่องบิน ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นของเครื่องบินขับไล่ในสมัยนั้น : ภาพจาก Facebook Fanpage ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน

อนึ่ง ประเทศไทยยังได้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่น นิเออร์ปอร์ต 13 ตร.ม. เพื่อใช้เป็นเครื่องบินฝึกขั้นมัธยมให้กับศิษย์การบิน โดยบรรจุอยู่ในกองโรงเรียนการบินเบื้องต้น สนามบินดอนเมือง แต่ด้วยขีดความสามารถที่สูงมากของ นิเออร์ปอร์ต ดังที่กล่าวมาแล้ว อีกทั้งช่างอากาศของกรมอากาศยานไทยสมัยนั้น ได้ดัดแปลงและพัฒนา จนมีขนาดเครื่องยนต์ที่สูงถึง 120 แรงม้า ทำให้เครื่องบินแบบนี้เหมาะที่จะเป็นเครื่องบินขับไล่มากกว่า

และเป็นที่น่าสนใจว่า กรมอากาศยานไทยสมัยนั้น ยังได้สร้างเครื่องบินรุ่นนี้ออกมาเองอีกจำนวนหนึ่งด้วย นับได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟูทั้งในแง่ศักยภาพของบุคลากร และอาวุธยุทโธปกรณ์อากาศยานของไทยเลยทีเดียว

ต่อมาทางกองทัพอากาศ ได้กำหนดชื่อเรียกเครื่องบินรบรุ่นนี้ใหม่ว่า “บข.1” ได้รับการบรรจุประจำการในกองบินใหญ่ทหารบกที่ 1 (ขับไล่) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของสนามบินดอนเมือง

เครื่องบินขับไล่แบบ นิเออปอร์ต ของกองทัพอากาศไทย : เครดิตภาพจากบทความของ พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์

อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานว่าเครื่องบินรุ่น นิเออปอร์ต ได้ถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2476 เมื่อสองนักบินชั้นประทวน คือ สิบตรีเสริม ชุมแสง และ สิบตรีแฉล้ม นำเครื่องบินรบแบบ “นิเออร์ปอร์ต เดอลาส” 2 เครื่อง หนีจากการกักตัวที่ฐานทัพดอนเมือง ไปวนลงสู่สนามหลวงทางด้านทิศใต้ เพื่อเข้าสวามิภักดิ์กับฝ่ายรัฐบาล เมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏบวรเดช

นับเป็นการเดินทางมาถึงยุคสิ้นสุดของเครื่องบินรบ นิเออปอร์ต ในช่วงที่คณะราษฎรเรืองอำนาจหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง

จากความเป็นมาของเครื่องบินขับไล่ระดับแนวหน้ารุ่น นิเออปอร์ต ที่ประเทศสยามมีใช้งานมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 นี้ ไปจนถึงการพัฒนาทั้งในแง่ฝีมือของบุคลากรการบิน และการเสริมเขี้ยวเล็บด้านอาวุธยุทโธปกรณ์อากาศยานของ “กองบินทหารบก” ในขณะนั้น ถือได้ว่าเป็นแรกก้าวสำคัญของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบันเลยทีเดียว