ราชวงศ์ซ่ง ประเทศที่รวยที่สุดในโลก แต่ขาดความมั่นคง และพึ่งพาต่างชาติมากจนเกินไป จนสิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน

ราชวงศ์ซ่ง เป็นยุคสมัยหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์จีน ปกครองประเทศช่วง ค.ศ. 960 – 1276 ถัดจากยุค 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักร และก่อนยุคราชวงศ์หยวนของมองโกล ก่อตั้งโดยสมเด็จพระจักรพรรดิซ่งไท่จู่ จ้าวควงอิ้น

ประวัติการก่อตั้งราชวงศ์ของจ้าวควงอิ้น จัดได้ว่าแปลกใหม่ไม่เหมือนใครในหน้าประวัติศาสตร์ของจีน เนื่องจากว่าพระองค์นั้นถูกบังคับให้เสวยราชสมบัติขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิของราชวงศ์ใหม่ โดยทหารในกองทัพของเขา ในระหว่างที่เขายกทัพทำศึก และจักรพรรดิโฮ่วโจวซึ่งเป็นนายเดิมของพระองค์นั้น ยอมสละราชสมบัติถวายพระองค์แต่โดยดี

ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงได้รับราชสมบัติจากการกราบทูลเชิญโดยบรรดาแม่ทัพนายกองของพระองค์ แต่พระองค์ทรงวางพระอุบายให้แม่ทัพเหล่านั้นลาออกจากราชการแต่โดยดี แล้วทรงจัดระเบียบการบริหารกองทัพเสียใหม่ เพื่อลิดรอนอำนาจของแม่ทัพนายกอง รวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

การรวบอำนาจของซ่งไท่จู่ในครั้งนี้ อาจไม่เพียงด้วยเพราะเหตุผลส่วนพระองค์ ที่ทรงเกรงอำนาจของเหล่าแม่ทัพนายกองที่โอบอุ้มพระองค์ขึ้นสู่บัลลังก์และอาจพลิกราชบัลลังก์ของพระองค์ลงเมื่อไรก็ได้ แต่อาจจะด้วยบทเรียนในช่วงกลางราชวงศ์ถัง ที่รัฐบาลกลางกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มากจนเกินไป จนท้องถิ่นแข็งข้อต่อส่วนกลาง จนประเทศแตกเป็นเสี่ยง ๆ เกิดการรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกัน สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ในยุค 5 ราชวงศ์ 10 อาณาจักรก่อนหน้าราชวงศ์ซ่งด้วย

เหตุผลดังกล่าว ทำให้ซ่งไท่จู่ฮ่องเต้ ตัดสินพระทัยปรับปรุงระเบียบราชการกองทัพเสียใหม่ เพื่อควบคุมอำนาจกองทัพให้ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง รวมทั้งลดอำนาจกองทัพลง ซึ่งวิธีการเช่นนี้ จะเกิดผลดีก็ต่อเมื่อผู้นำรัฐบาลกลาง หรือตัวฮ่องเต้เอง มีความรู้ความเข้าใจในการทหารและความมั่นคงสูง และแผ่นดินมีเสถียรภาพด้านความมั่นคงที่แข็งแรง

อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้นราชวงศ์ซ่งเผชิญภัยคุกคามจากชนเผ่าชี่ตัน และเผ่าหนี่เจินตลอดเวลา ซึ่งใน 2 รัชกาลแรก ทั้งซ่งไท่จู่ และซ่งไท่จงฮ่องเต้ ล้วนแต่ทรงเป็นนักการทหารที่เข้มแข็งทั้งคู่ ทำให้แผ่นดินซ่งใน 2 รัชกาลนี้แผ่นดินมีความมั่นคง

แต่ว่า นับตั้งแต่ซ่งเจินจงฮ่องเต้พระองค์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์ แนวนโยบายด้านการทหารของราชวงศ์เปลี่ยนไปในทางประนีประนอม เลือกใช้วิธีจ่ายส่วยให้แก่กองทัพต่างชาติ อีกทั้งปล่อยให้ขุนนางฝ่ายบุ๋น นักวิชาการเข้ามามีอำนาจเหนือกองทัพในการบริหารงานความมั่นคงแทน

ถึงแม้ว่าในด้านเศรษฐกิจ ราชวงศ์ซ่งจะมีความสามารถในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่สูงมาก เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนยุโรปถึง 500 ปี เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่สุดของโลกในเวลานั้น อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระดับสูง มีการใช้พลังงานจากน้ำเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรม อีกทั้งมีการสรรค์สร้างนวัตรกรรมสิ่งประดิษฐ์, วิศวกรรม และสถาปัตยกรรมขึ้นมากมายในราชวงศ์ซ่งนี้

แต่ความอ่อนแอของกองทัพ ก็ทำให้ราชวงศ์ซ่งต้องสูญเสียเมืองหลวงและดินแดนภาคเหนือให้แก่ชนเผ่าหนี่เจิน ราชวงศ์จิน ซึ่งเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งในเวลานั้นใน ค.ศ.1127 เหลือไว้เพียงดินแดนภาคใต้ ซึ่งนักประวัติศาสตร์เรียกยุคสมัยที่ราชวงศ์ซ่งเหลือเพียงดินแดนภาคใต้ในปกครองว่า “ราชวงศ์ซ่งใต้”

ทั้ง ๆ ที่สูญเสียเอกราชในดินแดนภาคเหนือไปแล้ว แต่รัฐบาลซ่งใต้ยังเลือกที่จะไม่ปรับปรุงกองทัพให้มีความเข้มแข็งขึ้นใหม่ ยังคงพึ่งพาการจ่ายส่วยให้แก่ชนชาติที่แข็งแรงกว่า ซึ่งในเวลานั้น ชนเผ่ามองโกล รวบอำนาจขึ้นมาเป็นขั้วอำนาจใหม่ คุกคามราชวงศ์จิน ของชนเผ่าหนี่เจิน และรัฐบาลราชวงศ์ซ่งเลือกทำสนธิสัญญากับราชวงศ์มองโกลเพื่อปราบปรามราชวงศ์จิน

ภายหลังจากที่กองทัพมองโกลโค่นล้มราชวงศ์จินลงได้สำเร็จ มองโกลหันคมดาบมาที่ราชวงศ์ซ่ง กรีธาทัพรุกรานราชวงศ์ซ่งจนกระทั่งสิ้นชาติไปในที่สุด

ราชวงศ์ซ่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นราชวงศ์ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่สูงก็จริง แต่กลับมีเสถียรภาพด้านความมั่นคงที่ต่ำ จากความพยายามในการควบคุมอำนาจจากส่วนกลางที่มากจนเกินไป อีกทั้งยังปล่อยให้เหล่านักวิชาการ ขุนนางฝ่ายบุ๋นที่ไม่มีความรู้เรื่องการทหารเข้ามาก้าวก่าย จนกลายเป็นเหตุให้ราชวงศ์ซ่งถูกตราหน้าว่าเป็นราชวงศ์ที่อ่อนแอที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

บทเรียนจากราชวงศ์นี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าประเทศจะมีเศรษฐกิจที่ดีมากเพียงใด แต่ประเทศก็จะคงอยู่ไม่ได้หากขาดความมั่นคง

นอกจากนี้ ยังเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นถึงหายนะจากการหวังพึ่งพาความมั่นคงจากกองทัพต่างชาติมากจนเกินไป ซึ่งนี่ไม่เพียงเป็นเหตุให้ประเทศถูกขูดรีดตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นการยืมจมูกคนอื่นหายใจ เมื่อไรที่เขาไม่ให้ยืม ประเทศก็สูญสิ้นสลายไป

ประเทศไทยของเราในวันนี้ มีบุคคลบางกลุ่ม พยายามเรียกร้องให้เกิดการลดขนาดกองทัพ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยไม่มีแนวทางการรักษาความมั่นคงของชาติที่ชัดเจน นอกจากการหวังพึ่งพากองทัพต่างชาติให้เข้ามารักษาความมั่นคงของประเทศแทนกองทัพของเราเอง

ความคิดและความพยายามเหล่านี้ นับได้ว่าอันตรายอย่างมาก เพราะปลายทางสุดท้ายคือความหายนะของประเทศชาติ และความเดือดร้อนของประชาชน