ในหลวงรัชกาลที่ 8 เป็นผู้พระราชทานกรรมสิทธิ์ ‘ที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ ไม่ใช่จอมพล ป. พิบูลสงคราม

“ที่ดินจุฬาฯ มาจากไหนกันแน่?”

หากยิงคำถามนี้ออกไป เชื่อว่าใครหลายคนต้องตอบว่า ก็ต้องเป็นจอมพล ป. สิที่ตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกได้ว่าเป็นคุณูปการที่สำคัญของคณะราษฎรโดยจอมพล ป. เลยทีเดียว

แต่รู้หรือไม่ว่า นี่เป็นคำตอบที่ “ผิด”

เพราะที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เดิมคือ โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานในรูปแบบการจัดตั้งกองทรัพย์สิน แล้วนำดอกผลตั้งไว้เป็นบัญชีเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ให้กับผู้มีสิทธิตามพระบรมราชโองการ

และต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานยกเลิกสัญญาเช่า และพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ทางจุฬาฯ ผ่านทางเลขานุการในพระองค์ แต่ติดด้วยเงื่อนไขเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย กระบวนการขอรับพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงต้องกระทำผ่านทางรัฐสภาตามวิถีทางของการปกครองระบอบใหม่

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเกิดเป็นความเข้าใจผิดว่าจอมพล ป. เป็นผู้มีคุณูปการโอนที่ดินแปลงนี้ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาจัดการโรงเรียน เพื่อเตรียมความพร้อมยกระดับขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในโอกาสต่อไป โดยใช้วังวินด์เซอร์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณปทุมวันเป็นสถานที่เรียน

ที่ดินผืนดังกล่าว แม้จะเป็นที่ดินของพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แต่ก็เป็นที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานเป็นพระราชมรดก แก่ 6 เจ้าฟ้าซึ่งเป็นพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า คือ

  • สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
  • สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย
  • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
  • สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานที่ดินแปลงดังกล่าว ในรูปแบบการจัดตั้งกองทรัพย์สิน แล้วนำดอกผลตั้งไว้เป็นบัญชีเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ให้กับผู้มีสิทธิตามพระบรมราชโองการ โดย “บัญชีเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา” คือเงินเลี้ยงชีพแก่บุคคล ผู้ซึ่งเคยได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระภรรยา พระสนม พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอ ตลอดจนพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมหลวง

และด้วยเงื่อนไขในพระบรมราชโองการดังกล่าว ทำให้ในทางทฤษฎี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องทำสัญญาเช่าที่ดินกับพระคลังข้างที่ และกระทำในนามพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงถือครองที่ดิน โดยผลประโยชน์ตามบัญชีเลี้ยงชีพบาทบริจาริกาของ 6 เจ้าฟ้า ก็จะยังคงเดิม

ต่อมาเมื่อได้มีการยกฐานะ “โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมมหาวิทยาลัยขึ้นในกระทรวงธรรมการ โดยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงต่อกรมมหาวิทยาลัย และรับงบประมาณผ่านกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการ

ในปี พ.ศ. 2477 ได้มีการออก “พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งส่งผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นนิติบุคคล และรับงบประมาณตรงจากกรมบัญชีกลาง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแบกรับภาระทางการเงินเอาไว้เอง และแม้ว่าพระคลังข้างที่จะคิดอัตราค่าเช่าในราคาต่ำก็ตาม แต่ด้วยความที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำสัญญาเช่ากว่าพันไร่ ทำให้ทางมหาวิทยาลัยมีภาระค่าเช่าหลายหมื่นบาทต่อปี

ดังนั้นในปี พ.ศ. 2479 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสมัยศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน พร้อมทั้งขอรับพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่มหาวิทยาลัย

เนื่องจากในขณะนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 8 ยังทรงพระเยาว์ และคณะผู้สำเร็จราชการก็ไม่อาจตัดสินใจโดยลำพังได้ จึงต้องมีการประสานไปยังเลขานุการในพระองค์ เพื่อขอพระบรมราชานุญาต ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ทั้งเรื่องการพระราชทานยกเลิกสัญญาเช่า และการพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่มหาวิทยาลัย หากเพียงแต่ติดขัดอยู่เรื่องเดียวคือ พระบรมราชโองการเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ที่มีเงื่อนไขเฉพาะกำหนดไว้ ดังนั้นสำนักราชเลขาธิการ จึงจำเป็นต้องส่งเรื่องไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้จัดการต่อไป

ในช่วงที่กำลังขอพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินนี้เอง ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส กำลังพ้นสมัยอธิการบดี และผู้ที่เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีของจุฬาฯ เป็นลำดับต่อมาคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประจวบกับในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น จอมพล ป. ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงทำให้การขอพระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นไปอย่างราบรื่น

จุดนี้เองที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทานยกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน พร้อมทั้งขอรับพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่มหาวิทยาลัย รวมถึงเป็นผู้ตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าวคือ เนื่องจากว่าพระบรมราชโองการเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสถานะเป็นกฎหมาย การพระราชทานที่ดินด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ตามวิธีปกติ จึงทำได้ยากเพราะติดเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องใช้วิธี “กฎหมายใหม่ล้างกฎหมายเก่า” แต่เนื่องจากหลังปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว ดังนั้นในหลวงรัชกาลที่ 8 จึงไม่สามารถยกเลิกเงื่อนไขตามพระบรมราชโองการเงินเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา ได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งกระบวนการนี้ต้องใช้วิธีการทางรัฐสภา ตามวิถีทางของการปกครองระบอบใหม่นั่นเอง

ถ้าพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ของการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือ เริ่มมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยื่นขอพระราชทานฯ ไปยังสำนักราชเลขาธิการ ในชั้นต้นสำนักราชเลขาธิการ ได้กราบบังคมทูลผ่านราชเลขาธิการในพระองค์ ผลปรากฎว่า ในหลวงรัชกาลที่ 8 พระราชทานพระบรมราชานุญาต ดังนั้น สำนักราชเลขาธิการจึงส่งเรื่องไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ในฐานะองค์กรฝ่ายบริหาร ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการยื่นเสนอกฎหมายไปยังรัฐสภา ให้ฝ่ายนิติบัญญัติอภิปรายและให้ความเห็นชอบ เพื่อผ่านเป็นกฎหมายต่อไป

จะเห็นได้ว่า ที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผืนนี้ เป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงออกพระราชบรมราชโองการกำหนดเขตให้เป็นเขตโรงเรียน แล้วให้พระคลังข้างที่ทำสัญญาเช่าที่ดินกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์แก่ทางมหาวิทยาลัย และยึดหลักปันดอกผลให้บุคคลต่าง ๆ ตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5

และการยกเลิกสัญญาเช่า รวมถึงการพระราชทานที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ทางจุฬาฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 8 ก็เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งระบอบการปกครองใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทุกรัชกาล ในการจัดสรรที่ดินผืนนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาแก่ประเทศชาติและประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] ประกาศตั้ง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 วันที่ 11 มกราคม ร.ศ.129 หน้า 123
[2] หัวข้อความคิดจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 29 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ร.ศ.131 หน้า 2566
[3] ประกาศกระแสพระบรมราชโองการบรรจุในศิลาพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 32 วันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2458 หน้า 2562
[4] พระยาบำรุงราชบริพาร(เสมียน สุนทรเวช). “กบฏ 13”, มานวสาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 (มีนาคม 130)
[5] วรชาติ มีชูบท. เกร็ดพงศาวดาร รัชกาลที่ 6, กรุงเทพฯ สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553
[6] พระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2482 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม56 วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2482 หน้า 1364

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีคว