ย้อนอดีต ‘จีนเดียว’ วันที่พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนจับมือกัน เพื่อรวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว

ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่ กับไต้หวัน จากการเดินทางเยือนของนางแนนซี โพเลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา จนทำให้ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จับจ้องความเคลื่อนไหวของทั้งจีน ไต้หวัน และอเมริกากันด้วยความหวั่นระทึก

ความสัมพันธ์ของจีนและไต้หวัน ที่ดูจะไม่มีท่าทีจะลดราวาศอกอะไรกันเลย

ไต้หวันประกาศกร้าว ว่าจะไม่ยอมจีน

ส่วนจีนใช้การซ้อมรบข่มขู่ และดำเนินการคว่ำบาตรทางการค้าต่อไต้หวัน

ต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมใคร

แต่หากย้อนเวลากลับไปในหน้าประวัติศาสตร์

พรรคก๊กมินตั๋ง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้ก่อตั้งและปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) นั้น

เคยมีช่วงเวลาที่ทั้งสองพรรคเคยร่วมมือกัน ร่วมแรงร่วมใจกัน ในการรวบรวมชาติจีนให้เป็นหนึ่งเดียว และต่อสู้ปกป้องอธิปไตยของตนเองจากการรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่นมาก่อนเช่นกัน

ประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ ถือกำเนิดขึ้นจากความอ่อนแอลงของราชวงศ์ชิงเอง

ถึงแม้จุดพลิกผัน จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติซินไห่ ค.ศ. 1911 ซึ่งนำโดย ดร. ซุนยัตเซ็น และสมาคมถงเหมิน ซึ่งทนไม่ได้กับความอ่อนแอของราชวงศ์ จนปล่อยให้คนจีนถูก 8 ชาติมหาอำนาจรุมรังแกและปล้นชิง

จีนในเวลานั้น ถูกเรียกว่า “ขี้โรคแห่งเอเชีย” คนจีนถูกดูถูกเหยียดหยามจากนานาชาติ

ซึ่งนี่เป็นแรงบันดาลใจของคณะปฏิวัติให้พวกเขาลุกขึ้นสู้นั่นเอง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราชวงศ์ชิงเอง ก็พยายามที่จะมีการปฏิรูป และส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพของราชวงศ์ชิงคือ “กองทัพไป่หยาง”

ซึ่งกองทัพไป่หยางนี้ ไม่ขึ้นตรงกับกองธงที่เคยมีชื่อเสียงในช่วงต้นราชวงศ์ มีพร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างฝรั่ง, ได้รับการฝึกอย่างฝรั่ง และมีกองทัพเรือสมัยใหม่ของตนเอง

และเป็นกองทัพไป่หยางนี้เอง ที่เป็นขวากหนามชิ้นใหญ่ที่ ดร. ซุนยัตเซ็น ไม่อาจก้าวข้ามไป

เพื่อให้เกิดสันติภาพและประชาธิปไตยโดยไว ซุนยัตเซ็น แอบเจรจาตกลงกับ หยวนซื่อไข่ ผู้นำทัพไป่หยาง

หยวนซื่อไข่เรียกร้องตำแหน่งประธานาธิบดี แลกกับการบีบบังคับให้ราชวงศ์ยอมสละราชสมบัติ ใน ค.ศ. 1912

การปฏิวัติซินไห่ เป็นครั้งแรกที่คน 2 คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิวัติเดียวกัน และมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน

คนแรก นายเหมา เจ๋อตง คนหนุ่มไฟแรงจากฉางซา ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ส่วนคนที่สอง นายร้อยเจียง ไคเช็ค ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น และอยู่ในระหว่างการฝึกงานในกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง และผู้ก่อตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนบนไต้หวัน

คนหนุ่มทั้ง 2 ล้วนแต่มีส่วนร่วมในปฏิวัติซินไห่นี้ทั้งคู่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลภายใต้การนำของหยวนซื่อไข่ ไม่ได้รับการยอมรับจากบรรดาขุนศึก-ผู้บัญชาการทหารท้องถิ่นทั่วแผ่นดิน โดยเฉพาะท่าที และการปกครองในลักษณะ “อำนาจนิยม” ของรัฐบาลหยวนซื่อไข่

จุดแตกหักของการไม่ยอมรับ เกิดขึ้นหลังหยวนซื่อไข่สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ ใน ค.ศ. 1915 ซึ่งกระตุ้นให้บรรดาขุนศึกท้องถิ่นก่อกบฏ

และภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของหยวนซื่อไข่ บรรดาผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาต่างแย่งกันขึ้นเป็นผู้นำ ทำให้กองทัพไป่หยาง แตกแยกกลายเป็นกลุ่มขุนศึก ที่คอยแย่งชิง ห้ำหั่นกันเอง

และนี่คือ “ยุคขุนศึก” ของจีน

ดร. ซุนยัตเซ็น และพรรคก๊กมินตั๋ง พยายามที่จะรวบรวมแผ่นดินจีนให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง โดย ดร. ซุน ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำทางใต้

แต่ถึงกระนั้น แสนยานุภาพของ “กองทัพปฏิวัติแห่งชาติ” ของพรรคนั้น อ่อนแอ และไม่สามารถสู้กับใครได้เลย

ดร. ซุนพยายามวิ่งเต้นอีกครั้ง โดยร้องขอความช่วยเหลือจากชาติตะวันตก แต่ถูกปฏิเสธ

ซ้ำร้าย ชาติมหาอำนาจบางชาติ ได้ประโยชน์จากการขายอาวุธให้แก่เหล่าขุนศึก ซึ่งนี่ทำให้ช่องว่างระหว่างกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ ห่างไกลจากเหล่าขุนศึกมากขึ้นไปกว่าเดิม

สุดท้าย ผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคือ สหภาพโซเวียต โดยสหภาพโซเวียตมีเงื่อนไขว่า พรรคก๊กมินตั๋งต้องยินยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามามีส่วนร่วมในการกอบกู้ประเทศ รวมจีนให้เป็นหนึ่งด้วย

พรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงร่วมแรงร่วมใจกันในนาม “แนวร่วมที่ 1” นั่นเอง

ในเวลานั้น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เพิ่งจะมีเพียงหลักร้อย ในขณะที่ก๊กมินตั๋งมีถึง 5 หมื่น ดังนั้น สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน จึงเป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งด้วย

และหนึ่งในนั้นก็คือ เหมา เจ๋อตงนั่นเอง

สำหรับการปฏิรูปกองทัพนั้น โซเวียตไม่เพียงสนับสนุนด้านอาวุธ แต่ยังสนับสนุนด้านการศึกษาอีกด้วย โดยมีการก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยที่หวงผู่ มณฑลกว่างโจว

ที่นี่ นายทหารของทั้งพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างได้เรียนหนังสือ รับการฝึกสอนร่วมกัน กินและนอนร่วมกัน

การอสัญกรรมของ ดร. ซุนยัตเซ็น ในปี ค.ศ. 1925 กลับสร้างรอยร้าวขึ้นในพรรคก๊กมินตั๋ง และ แนวร่วมที่ 1 โดยเจียงไคเช็ค พยายามกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของเขา ผ่านการใช้อำนาจกองทัพในมือของเขา

เขาแต่งตั้งตนเองเป็น ผู้บัญชาการทหารกองทัพปฏิวัติแห่งชาติ และเริ่มการกรีธาทัพขึ้นเหนือ

กองทัพแนวร่วมที่ 1 สามารถสร้างผลงานได้อย่างงดงามในการปราบปรามเหล่าขุนศึกทางเหนือ ซึ่งเป็นอดีตนายทัพไป่หยาง

อาจจะเพราะความสำเร็จที่งดงามนี้เองที่ทำให้เจียงไคเช็คตัดสินใจ “ทรยศ” พรรคคอมมิวนิสต์จีนผ่าน “การสังหารหมู่ที่เซี่ยงไฮ้” ในปี ค.ศ. 1927

แต่ถึงจะเสียแนวร่วมอย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนไป เจียงก็ยังประสบความสำเร็จในการเข้ายึดกรุงปักกิ่ง รวมจีนให้เป็นหนึ่งเดียว

ช่วงเวลาที่สงบสุขกลับอยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากรัฐบาล ภายใต้การนำของเจียงไคเช็ค ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างที่เขาพยายามแสดงให้โลกเห็น

นโยบายลดขนาดกองทัพ และรวบอำนาจสู่ศูนย์กลางของเจียง ทำให้เกิดการต่อต้านในหมู่ขุนศึกท้องถิ่น ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การก่อกบฏต่อต้านเจียงและพรรคก๊กมินตั๋งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1929 ซึ่งเจียงใช้เวลาในการปราบปรามเกือบ 2 ปี

สงครามครั้งนี้ ทำให้กองทัพก๊กมินตั๋งอ่อนแอลงอย่างชัดเจน

แต่ก็ทำให้ขั้วอำนาจในจีนลดลงเหลือเพียงพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยเช่นกัน

แต่ก่อนที่ทั้งสองพรรคจะต่อสู้กันอีกครั้ง ญี่ปุ่นก็เริ่มรุกรานเข้ามาในจีนใน ค.ศ. 1931 ซึ่งบีบบังคับให้ เจียงไคเช็คต้องยอมเจรจา ขอความร่วมมือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีกครั้ง

และทั้งสองประกาศจัดตั้ง “แนวร่วมที่ 2” ในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1936 เพื่อปกป้องจีน จากการรุกรานของญี่ปุ่นร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม การรวมกันในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปด้วยความสนิทแนบแน่นเหมือนในครั้งแรก หากแต่พรรคคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง “ฉวยโอกาส” ใช้ทรัพยากรของพรรคก๊กมินตั๋ง ในการสร้างเสริมกองทัพของตน

และอาศัยการรบ เพื่อรวบรวมผู้คนให้เข้ามาเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เติบใหญ่ขึ้น ท่ามกลางไฟสงคราม

สิ่งที่เป็นเรื่องตลกสำหรับเหตุการณ์ในช่วงนี้คือ

วันนั้น อเมริกาคือหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน ไม่ว่าจะด้านเงินทุน และการส่งบุคลากรเข้าไปให้ความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการพัฒนากองทัพ

นี่เป็นเรื่องที่น่าคิดไม่น้อยว่า ถ้าประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวล มีญาณรับรู้ว่า วันนี้ จีนคือศัตรูหมายเลข 1 ของอเมริกา เขาจะยังให้การช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์อยู่หรือไม่ ?

หลังการยอมจำนนของญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1945 เหมาเจ๋อตง และเจียงไคเช็คพยายามเจรจาสันติภาพกันอีกครั้ง แต่ล้มเหลว

สงครามกลางเมืองระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง และพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน เต็มไปด้วยทหารเจนศึก และมียุทโธปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต และอาวุธที่ยึดได้จากญี่ปุ่น จากการมีชัยเหนือญี่ปุ่นในสงครามก่อนนี้

นอกจากนี้ กลยุทธ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์ใช้ในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นที่เหนือกว่าทั้งด้านยุทโธปกรณ์ และวิทยาการสมัยใหม่ คือ “สงครามกองโจร” และ “ยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง” ที่เหมา นำเอาภูมิปัญญาโบราณในการทำศึกษาสงคราม มาประยุกต์เข้ากับวิทยาการสมัยใหม่ อย่างได้ผล และประสบผลสำเร็จในการรบกับญี่ปุ่น

ในขณะที่เจียงไคเช็ค ซึ่งรับการศึกษาด้านการทหารมาจากญี่ปุ่น กลับด้อยมากกว่า เมื่อต้องรบกับกองทัพที่เคยสอนสั่งตัวเองมา และกลายเป็นสาเหตุของความอ่อนแอของกองทัพก๊กมินตั๋งในเวลาต่อมา

ซึ่งส่งผลให้นับตั้งแต่ที่เจียงไคเช็คเปิดศึกเต็มรูปแบบกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 เป็นต้นมา

กองทัพก๊กมินตั๋งได้แต่ถอยร่นจากปักกิ่งลงมา จนต้องถอยข้ามไปอยู่ไต้หวัน ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1949

ประวัติศาสตร์จีนในอดีต เกิดการรวมประเทศ และแตกแยก แล้วกลับมารวมกันใหม่ หลายต่อหลายครั้ง ในหลายยุคสมัย

บางช่วงแห่งการแตกแยก กินเวลายาวนานถึง 6 ร้อยปีเลยทีเดียว

ประวัติศาสตร์จีนนับจากปฏิวัติซินไห่ จนถึงการถอยร่นเข้าสู่ไต้หวันของก๊กมินตั๋ง คือช่วงเวลาแห่งความแตกแยก และการกลับเข้ามารวมกันใหม่ของเหล่าชาวจีนทั้งมวล

และในช่วงเวลาแห่งความแตกแยกของจีนยุคใหม่นี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีน และพรรคก๊กมินตั๋ง ครั้งหนึ่งเคยร่วมมือกัน ร่วมแรงร่วมใจกันในการรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่ง และร่วมมือกับ ปกป้องอธิปไตยของชาติ จากข้าศึกที่เหนือกว่าอย่างญี่ปุ่น

นี้แสดงให้เห็นว่า การร่วมมือกันของจีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวันนั้น จะส่งผลดีต่อทั้งสอง และต่อโลกมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ “จีนเดียว” จึงควรจะได้รับการสนับสนุน

ซึ่งจีนเดียวในที่นี้ หมายถึงการร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวของประชาชนทั้ง 2 ขั้วที่คิดต่างกัน เห็นต่างกัน

หวังว่าวันหนึ่ง จีนจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การ “ผสานความต่าง แต่รวมใจเป็นหนึ่ง” ได้สำเร็จ อย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า