จาก ‘ปู่คออี้’ ถึง ‘มูลนิธิภูบดินทร์’ เมื่อสถาบันกษัตริย์มาดูแล ‘คนชายขอบ’ ที่มักถูกละเลยจากการบริหารของภาครัฐ

ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง ‘คนอยู่ป่า’ และ ‘คนชาติพันธุ์’ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนของไทย ยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกสำหรับภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ใช้อำนาจตามกฎหมาย ไล่รื้อ ไล่คนอยู่ป่าเหล่านี้ออกจากพื้นที่ไปเป็นจำนวนมาก

ทั้งที่ในความเป็นจริงคนอยู่ป่าเหล่านี้อาจจะอาศัยอยู่มาก่อนการประกาศเขตอนุรักษ์หรือป่าสงวนเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อรัฐเข้ามาบริหารจัดการ ก็มักจะนึกถึงแต่การใช้อำนาจทางกฎหมาย โดยไม่ได้พิจารณาถึงมิติของมนุษย์  สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการดำรงชีวิต

จนนำไปสู่ความขัดแย้ง การรุกไล่ การใช้กำลังในการบังคับคนอยู่ป่าเหล่านั้นให้ออกจากพื้นที่ หนักเข้าถึงขั้นไปรื้อไล่ทำลาย เผาบ้านเรือนของคนอยู่ป่า

ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกรณี ‘ปู่คออี้’ ผู้อาวุโสชาวไทยพื้นเมืองดั้งเดิมเชื้อสายกระเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ) ที่ถูกเจ้าหน้าที่กรมอุทยานเผาทำลายทรัพย์สินยุ้งฉาง ในปี พ.ศ. 2554

ก่อนที่ปู่คออี้วัยร่วม 100 ปีและชาวบ้านปกาเกอะญอจำนวน 6 คน ต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และชนะคดีไปในปี 2561 ปู่คออี้จึงได้รับการยอมรับตัวตน ได้รับสัญชาติไทย และได้ทำบัตรประชาชนครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 107 ปี ก่อนจะเสียชีวิตเพียงไม่กี่เดือน

นอกจากกรณีปู่คออี้แล้ว การเคลื่อนย้ายคนอยู่ป่าออกมาจากพื้นที่แล้วจัดหาพื้นที่ใหม่ให้ หลายครั้งที่พื้นที่เหล่านั้น ก็ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตและการเพาะปลูกของคนอยู่ป่าหรือชาติพันธุ์ที่อาศัยเกื้อกูลกันกับพื้นที่ป่า จนทำให้พวกเขาต้องหนีกลับไปอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หรือป่าสงวนอีกครั้ง ก่อนจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐอยู่เป็นประจำ

แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องดีอยู่ เมื่อในปี พ.ศ. 2562 ได้มี พ.ร.บ. กรมอุทยานแห่งชาติ (ฉบับใหม่) และ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับใหม่) ที่เน้นการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนกับป่าตามแนวคิด ‘ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้’

แต่ถึงกระนั้นเอง การดำเนินการในเชิงปฏิบัติก็ยังมีความยากลำบาก ทั้งการขึ้นทะเบียนรายชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะให้ได้มาซึ่งข้อตกลง ระหว่างชุมชนกับภาครัฐในเรื่องกฎกติกาในการอยู่ร่วมกับป่า

จนเมื่อปลายเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 เมื่อ “ในหลวง พระราชินี ” โปรดเกล้าฯ ให้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้ง “มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์” ด้วยจุดประสงค์ดังต่อไปนี้

  1. เพื่อช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับประชาชน ที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ที่ดินของรัฐทุกประเภท อาทิ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าไม้ถาวร ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ป่าอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ราชพัสดุ หรือที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ ซึ่งมีการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์จากทางราชการเป็นไปตามระเบียบ และข้อกฎหมายของพื้นที่นั้นๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีพสอดคล้องกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และประเพณี ตามวิถีชุมชนท้องถิ่น และเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ
  2. ส่งเสริมชุมชนให้มีการจัดการ ใช้ประโยชน์ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับวิถีชีวิต
  3. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และประสานงานหน่วยงาน องค์กร ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสม
  4. ดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศล และองค์กรสาธารณประโยชน์ เพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนที่เหมาะสมในพื้นที่ดังกล่าว
  5. ดำเนินกิจกรรมอื่นใดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม หรือโปรดให้ดำเนินการตามที่มีพระราชดำริเห็นสมควร
  6. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด

การขยับของสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ครั้งนี้ เป็นการสืบสานงานจากรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอุทิศแรงกายแรงใจให้กับการฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และทรงพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาชายดอย กลุ่มชาติพันธุ์ จนพระองค์กลายมาเป็นรักของคนชายขอบ และถูกขนานนามเป็น ‘พ่อหลวง’ หรือ ‘ป้อหลวง’ ของพวกเขา

การจัดตั้ง ‘มูลนิธิภูบดินทร์’ ครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญอีกครั้งของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ได้ขยับตัวเข้ามา เพื่อเติมเต็มและอุดช่องโหว่การทำงานของภาครัฐ เฉกเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยรัชกาลก่อน ดังความตั้งใจของในหลวงรัชกาลปัจจุบันที่จะทรง ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ สิ่งดีๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาจากรัชกาลก่อนนี้