…มารับพระราชภารกิจนี้ เพราะความจำเป็น ‘มงกุฎ’ นี้ไม่ใช่ของพระองค์…

“…มารับพระราชภารกิจนี้ เพราะความจำเป็น ‘มงกุฎ’ นี้ไม่ใช่ของพระองค์…”

บันทึกพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

ในวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวงรัชกาลที่ 3 ทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎและทรงถือไว้ ไม่ทรงสวมลงบนพระเศียร โดยพระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสิ้นรัชกาลพระองค์แล้วจะพระราชทานราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎ (จาก หนังสือเมื่อถึงกาลผลัดแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หน้า 50 – 52)

ในช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 2 ทรงประชวร พระองค์มิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่ผู้ใด (สาเหตุจากพระอาการประชวรจึงทรงไม่ได้สติ) เมื่อเสด็จสวรรคต เหล่าข้าราชการเสนาบดีจึงได้ประชุมและตกลงอัญเชิญกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) ขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุเพราะกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณมาตลอด และในขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ยังทรงผนวชอยู่

ซึ่งก็เป็นไปตามธรรมเนียมโบราณที่ว่า องค์รัชทายาทผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อไปจะต้องมาจากการได้รับมอบราชสมบัติจากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนหน้า หรือได้รับการสนับสนุนเห็นชอบจากที่ประชุมของเหล่าข้าราชการเสนาบดี

ในหลวงรัชกาลที่ 3 จึงทรงครองราชสมบัติและทำนุบำรุงบ้านเมืองให้พัฒนาก้าวหน้ามาตลอดรัชสมัยของพระองค์ และยังทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้อย่างชัดเจนว่าจะพระราชทานราชสมบัติให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 4 หลังสิ้นรัชสมัยของพระองค์ ดังพระราชดำรัสข้างต้น

ซึ่งเหตุการณ์ในวันประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยังมีการบันทึกอยู่ในหนังสือ “เจ้าชีวิต : สยามก่อนยุคประชาธิปไตย” (Lords of Life) ที่เขียนโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งได้รับฟังข้อเท็จจริงมาจากทูลกระหม่อมพ่อ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) ความว่า …

“… ผู้เขียน (พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) ได้ฟังเรื่องมาจากทูลกระหม่อมพ่อ (เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ) ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสให้พระองค์ท่านฟังว่า ขณะที่พราหมณ์ราชครูถวายพระมหามงกุฎแด่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เมื่อทรงรับมาแล้วก็มิได้ทรง แต่พระราชทานไปยังจางวางมหาดเล็กผู้ใหญ่ พลางตรัสว่า ‘จงเก็บไว้ให้เขา’ ซึ่งน่าจะทรงหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) …”