มาตรา 112 อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่รัฐ ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน

จากบทความในตอนแรก “ม.112 ลิดรอนเสรีภาพและรังแกประชาชนจริงหรือ?” เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่า มาตรา 112 คือกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับที่ประชาชนทั่วไปมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง

แต่ที่ผ่านมา ในหลวงทั้ง 2 รัชกาลทรงรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน

นี่คือการรับรู้ เข้าใจ และเป็นการปรับตัวของสถาบันฯ ตามบริบทสังคมปัจจุบัน และเป็นการแสดงให้เห็นว่า กฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้มีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก หรือการพูดคุยถกเถียงถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันแต่อย่างใดเลย

แต่มิวายยังมีกลุ่มคนกล่าวหาด้วยใจอคติว่า “ในหลวงมีอำนาจ สั่งให้ใช้ หรือไม่ใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชนได้”

เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมาทำความเข้าใจกันว่า มาตรา 112 โดยแท้ที่จริงแล้ว ในทางปฏิบัติ ผู้ใดมีอำนาจนำมาใช้งานได้บ้าง

อำนาจในการใช้ ม.112

มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งโดยปกติแล้ว ความผิดอาญาแผ่นดิน มักจะมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อประสงค์ให้เกิดควาสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

โดยมีข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติ มาตรา 112 นี้ แม้ในหลวงจะทรงมีรับสั่งไม่ให้นำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนก็ตาม แต่โดยพฤติการณ์ได้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาข้องเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบริภาษด่าทอ ใส่ความ เสียดสีล้อเลียนอยู่เนือง ๆ จนนำมาซึ่งความระส่ำระส่ายแตกแยกในสังคม การถกเถียงเต็มไปด้วยอารมณ์เดือดดาล ไม่ใช่เหตุผลเชิงประจักษ์อีกต่อไป

รัฐบาลในฐานะอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่ทำผิดกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามพระประสงค์ของในหลวงก็ตาม

จะเห็นได้ว่า อำนาจทางกฎหมายที่แท้จริงแล้ว “อยู่ที่รัฐบาล” ไม่ใช่อยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า ในปัจจุบัน พระมหากษัตริย์ถูกใส่ความ บริภาษด่าทอ เสียดสีล้อเลียน จากบุคคลที่เรียกตัวเองว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมากมาย ด้วยตรรกะบิดเบี้ยวของพวกเขาที่ว่า “การใช้คำหยาบคาย ด่าทอ เป็นการแสดงออกของผู้ที่ถูกกดทับ และไม่เคยทำให้ใครเดือดร้อน”

ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีการจับกุมดำเนินคดีกลุ่มคนพวกนี้อย่างเด็ดขาด หรือหากมีการจับกุมดำเนินคดีแล้ว ศาลก็ยังให้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีอีก ดังจะเห็นได้จากแกนนำของกลุ่มม็อบราษฎร ที่ไม่เคยสำนึกในความผิดแต่อย่างใดเลย นับว่าการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบัน ผ่อนปรนลงมามากแล้ว เมื่อเทียบกับสมัยก่อน

สรุปสาระสำคัญของกฎหมายมาตรา 112 คือ “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี” ถือเป็นกฎหมายที่มุ่งให้ความคุ้มครองตำแหน่งประมุขของรัฐ เช่นเดียวกับที่ประชาชนทั่วไปมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง

และการที่ในหลวงทรงรับสั่งไม่ให้ใช้มาตรา 112 ก็เป็นเพียงคำแนะนำ ตามขอบเขตพระราชอำนาจที่ถูกจำกัดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

อำนาจเด็ดขาดในการใช้งาน หรือยกเลิก และแม้กระทั่งดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ขึ้นอยู่กับ “ฝ่ายบริหารราชการแผ่นดิน” มิใช่องค์พระมหากษัตริย์