มรดกลูกหลานคณะปฏิวัติ ที่มาจากการฮุบทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ ปัญหาการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ของกลุ่มคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2480

โดยในครั้งนั้น รัฐบาลคณะราษฎรได้นำที่ดินพระคลังข้างที่มาแบ่งขายกันในราคาถูก ซึ่งภายหลังยังได้อ้างว่า ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จนเป็นเหตุให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกทั้งยังได้มีการยื่นหนังสือลาออกของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเวลาต่อมา

และเรื่องที่ดินพระคลังข้างที่ ยังได้เกิดเป็นข้อขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือกรณีที่ดินซึ่งขุนนิรันดรชัย คณะราษฎรสายทหารบกเคยอ้างว่าได้รับพระราชทานมา โดยปัจจุบัน “ทายาทตระกูลนิรันดร” ได้ถือครองอยู่จนกระทั่งเกิดเป็น “ข้อพิพาทเรื่องมรดกในครอบครัวจากที่ดินพระราชทาน”

ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในขณะที่พระองค์ยังทรงประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้นเป็นไปอย่างแนบแน่น ดังจะเห็นได้จากการให้ความร่วมมือในการปรับปรุงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นั่นคือ การปรับปรุง “กระทรวงวัง” เป็น “สำนักพระราชวัง” และการแยก “กรมราชเลขาธิการ” เป็น “กรมราชเลขานุการในพระองค์” โดยให้ทั้งสองหน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดนี้ ยังได้มีส่วนในการช่วยแก้ไขวิกฤตทางการเมือง ในปี พ.ศ. 2478 อันเนื่องมาจากการที่พระยาพหลพลพยุหเสนาลาหยุดราชการเป็นเวลาถึง 5 เดือน จากปัญหาสุขภาพ และพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลดเขาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่องดังกล่าวเอาไว้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชุดนี้ จึงแก้ปัญหาด้วยการอนุญาตให้พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาพักผ่อนต่อไปอีกตามกำหนดที่แพทย์แนะนำ และให้กลับเข้าทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามเดิม ซึ่งก็ช่วยบรรเทาวิกฤตครั้งนั้นไปได้

กระทั่งในปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ที่เกี่ยวพันกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ นั่นคือ “ปัญหาการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่” โดยหลังจากที่มีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ในทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น และเป็นการแบ่งขายกันในราคาถูก

โดยในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีที่มีการโอนกรมพระคลังข้างที่ ซึ่งเดิมขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีไปขึ้นกับกระทรวงการคลังในวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีการดำเนินการนั้น ปรากฏว่าได้มีการ “โอนขายอสังหาริมทรัพย์ของกรมพระคลังข้างที่” รวมกว่า 25 ราย

ซึ่งนายเลียงได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีการซื้อขายกันในราคาที่ถูกมากอย่างน่าสงสัย ทั้งไม่ได้มีการประกาศขายให้ประชาชนทั่วไปได้รู้ แต่เป็นการขายให้พวกเดียวกันเองแทบทั้งนั้น โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นตอบกระทู้ว่า ราคาที่ซื้อขายกันนั้นจะนับว่าถูกก็ได้ และบางรายจะว่าไม่ถูกก็ได้ ส่วนที่ไม่ได้มีการประกาศขายเพราะไม่ตั้งใจจะขาย โดยที่ขายไปนั้นเป็นการขายแก่ผู้ที่ขอพระมหากรุณาเป็นราย ๆ ไป และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้พิจารณาเห็นสมควรแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ยื่นหนังสือลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตามลำดับ เพื่อเปิดทางให้มีการสอบสวนกรณีการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ อีกทั้งได้มีการยื่นหนังสือลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา กับ เจ้าพระยายมราช และ เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ในเวลาต่อมา

โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยอมรับในการเขียนจดหมายชี้แจงหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบเหตุผลการลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ว่าในปี พ.ศ. 2479 ได้มีผู้แนะนำให้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐานเพื่อ “ปลูกบ้านส่วนตัว” และแม้จะซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่จริง แต่ก็ได้ขายคืนที่ดินกลับไป เพราะไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนของสิ่งปลูกสร้าง โดยประเด็นที่น่าวิเคราะห์จากการแถลงในครั้งนั้นคือเรื่อง “ราคาที่ดิน” ซึ่งปรากฏความตอนหนึ่งว่า

“ได้ตกลงซื้อไว้ 2 ไร่ ราคาไร่ละ 4,000 บาท เป็นเงิน 8,000 บาท ทางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้า (พันเอก หลวงพิบูลสงคราม) ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. 2480”

ในเรื่องการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่นั้น ได้เกิดเป็นข้อขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบ 90 ปีแล้วก็ตาม นั่นคือกรณีของ “ขุนนิรันดรชัย” หรือในชื่อ พ.ต. สเหวก นิรันดร ซึ่งเป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป. เป็นอย่างมาก กระทั่งถูกแต่งตั้งให้เป็นคนประสานงานระหว่างรัฐบาล (ช่วงจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี) กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 8 ทรงครองราชย์) โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นแกนนำในกลุ่มคณะทำงานชุดนี้ และมีขุนนิรันดรชัยเป็นเลขานุการคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

โดยในปี พ.ศ. 2561 มีการฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อแบ่งแยกมรดกของตระกูล “นิรันดร” ซึ่งมีมรดกตกทอดส่วนหนึ่งมาจากขุนนิรันดรชัย และมีการลงทุนต่อ ๆ กันมาจนเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานครรวมกันมากถึง 90 แปลง โดยมีการประเมินมูลค่าว่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท

ซึ่งนายธรรมนูญ นิรันดร หนึ่งในทายาทขุนนิรันดรชัย ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ 1 ไร่ให้ขุนนิรันดรชัย แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับพบว่า ขุนนิรันดรชัย ได้ลาออกจากราชเลขาธิการในพระบาท ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ และก่อนที่พระองค์จะเสด็จนิวัตกลับประเทศไทยด้วย

ดังนั้น ขุนนิรันดรชัย จึงเป็นเพียงข้าราชการในสำนักราชเลขานุการของ “คณะผู้สำเร็จราชการ” เท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า การได้ที่ดินมาในครั้งนั้นได้มาจากใคร ระหว่าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 หรือได้จากคณะผู้สำเร็จราชการกันแน่

และนายธรรมนูญฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขุนนิรันดรชัย ได้ซื้อที่ดินหน้าพระราชวังจิตรลดาในราคาตารางวาละ 2.50 บาท ต่อตารางวา เท่ากับ 1,000 บาท ต่อไร่ ซึ่ง “ต่ำกว่า 75 เปอร์เซ็นต์” เมื่อเทียบกับราคาที่ดินหน้าพระราชวังเดียวกันกับที่พันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยซื้อเอาไว้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2480 ในราคา 4,000 บาท ต่อไร่

ซึ่งปัจจุบัน “ตระกูลนิรันดร” คือผู้ถือครองที่ดินผืนงามขนาดใหญ่ผืนหนึ่งบนถนนวิทยุที่ “อ้างว่า” ได้ “รับพระราชทาน” มาตั้งแต่ครั้งกระนั้น จนกระทั่งมี “ข้อพิพาทเรื่องมรดกในครอบครัวจากที่ดินพระราชทาน” และต่อมา พล.ท. สรภฎ นิรันดร บุตรชายของ พ.ต. เสวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้แถลงข่าวขอสำนึกผิดแทนบิดา ที่ได้กระทำการมิบังควรจากการนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบว่า

“การปฏิวัติ 2475 ส่วนคุณพ่อได้สำนึกผิดก่อนเสียชีวิตในการกระทำ วันนี้ถ้าดวงวิญญาณคุณพ่อรับรู้คงไปสู่สุขคติ ผมได้ทำหน้าที่แทนคุณพ่อ และไม่สามารถตอบแทนคณะราษฎรหรือลูกหลานคณะราษฎรคนอื่นได้ อย่างไรก็ตาม จากที่มีโอกาสคุยกับบุตรของคณะราษฎรบางคน ก็รู้สึกสำนึกผิด และอยากขอพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน แต่ไม่มีโอกาส”

จากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า ในยุคที่คณะราษฎรเรืองอำนาจ ได้มีการนำที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ออกมาจัดสรรให้สมาชิกคณะราษฎรผ่อนซื้อในราคาถูก ๆ โดยอ้างว่าเป็นที่ดินพระราชทาน และต่อมาปรากฏว่าผู้ซื้อแทบทุกคนไม่มีการผ่อนชำระ แต่ก็ได้จัดฎีกาขอพระราชทานยกหนี้ให้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การกระทำภายใต้พระปรมาภิไธยนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังเป็นยุวกษัตริย์ในขณะนั้น เคยได้ทรงรับทราบเรื่องราวนี้และมีพระบรมราชานุญาตด้วยหรือไม่

ที่มา :

[1] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพมหานคร : มติชน, 2557)
[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, สมัยที่ 2 ครั้งที่ 4/2478, สมัยสามัญ, 20 สิงหาคม 2478
[3] ศิริพงศ์ บุญราศี, มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เอกบุรุษ 4 แผ่นดิน, (กรุงเทพมหานคร : ศยาม, 2544)
[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยย่อ ครั้งที่ 14/2480 (วิสามัญ) สมัยที่ 2 วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 (2 สิงหาคม 2480)
[5] บุตรชาย “ขุนนิรันดร” คณะราษฎร 2475 “สำนึกผิดแทนบิดา” ปมปล้นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
[6] ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4) มรดก “ขุนนิรันดรชัย” กับ ความลับของ “จอมพล ป.” ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้