‘พระองค์เจ้าธานีนิวัต’ เหยื่ออีกรายของอาชญากรทางวิชาการ

เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ในเฟซบุ๊กของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร ได้นำเสนอบทความที่เขียนโดย “ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” นักศึกษาคนรุ่นใหม่จากรั้ว “จุฬา-ธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นการตีแผ่ขบวนการล้มล้างและทำลายชื่อเสียงเจ้านายในอดีตผ่านหนังสือ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ของ ณัฐพล ใจจริง และค้นกระทั่งถึงหลักฐานชั้นต้นอย่างเผ็ดร้อน จนนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เนื้อหาในส่วนที่ณัฐพลฯ ได้กล่าวหา “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” เป็นเรื่อง “เท็จ” และเป็นการโกหกคำโตที่สุดในวงการประวัติศาสตร์การเมืองไทย

บทความในกรณีนี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ซึ่งฉบับเต็มสามารถอ่านได้จากเฟซบุ๊กของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร (Chaiyan Chaiyaporn) ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ผู้อ่านสามารถติดตามเรื่องราวในฉบับกระชับ ทีมงาน ฤา จึงได้นำบทความของ ทุ่นดำ-ทุ่นแดง มาย่อยไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้สามารถติดตามอ่านได้ง่ายขึ้น

ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ตรวจพบว่า ในหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี มีการอ้างว่าพระองค์เจ้าธานีนิวัติ เป็นเจ้านายผู้อยู่เบื้องหลังการใส่ร้ายรัฐบาลปรีดีฯ ในกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 โดยในหน้าที่ 38-39 ณัฐพลฯ ได้ระบุข้อความว่า …

“สถานทูตอังกฤษรายงานว่า พระราชวงศ์บางพระองค์และกลุ่มรอยัลลิสต์ใช้สถานทูตสหรัฐฯ และอังกฤษเป็นเป้าหมายของการปล่อยข่าวลือโจมตีรัฐบาลปรีดี ภายหลังการสวรรคตได้เพียงสองวัน ทูตอังกฤษรายงานว่าเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 พระองค์เจ้าธานีนิวัตได้มาพบทูตอังกฤษอย่างรีบเร่ง ด้วยรถยนต์ของทหารอังกฤษเพื่อแจ้งแก่เขาว่า พระองค์ทรงเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมิหิดล ถูกลอบปลงพระชนม์ ทรงแจ้งต่อเขาว่า ได้ทรงเห็นพระบรมศพด้วยพระองค์เอง แต่รัฐบาลปรีดีกลับประกาศว่าการสวรรคตเป็นอุบัติเหตุ ทรงแสดงความกังวลว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่จะไม่ได้ครองราชย์ เนื่องจากทรงเชื่อว่านักการเมืองที่ครองอำนาจอยู่จะสถาปนาสาธารณรัฐขึ้น จึงทรงเรียกร้องให้กองทัพอังกฤษที่กำลังจะถอนกำลังออกจากไทยให้ประจำการอยู่ในประเทศต่อไป”

แต่เมื่อ ทุ่นดำ-ทุ่นแดง ได้ไปค้นเอกสารที่ณัฐพลฯ ใช้อ้างอิงทั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ “การวิเทโศบายของไทย ระหว่างปีพุทธศักราช 2483 ถึง 2495” ซึ่งเขียนโดย กนต์ธีร์ ศุภมงคล (อดีตนักการทูตไทยฝ่ายนิยมปรีดี) และเอกสารฉบับที่สอง คือ “ชีวประวัติย่อของนายปรีดี พนมยงค์” ซึ่งเขียนโดยปรีดี พนมยงค์ เอง พวกเขากลับไม่พบข้อความที่สามารถโยงไปหา “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” ได้เลยว่าคือ “เจ้าพระองค์นั้น” ที่เข้าไปพบทูตอังกฤษในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489

และเพื่อให้ง่ายแก่การเปรียบเทียบว่าณัฐพล ใจจริง สร้างความเท็จขึ้นอย่างไร ทีมงาน ฤา จึงขอนำข้อความต้นฉบับมาเทียบให้ดูง่ายขึ้นดังนี้

ข้อความต้นฉบับจากเอกสารอ้างอิง
ชิ้นที่ 1 (กนต์ธีร์ ศุภมงคล)
ข้อความต้นฉบับจากเอกสารอ้างอิง ชิ้นที่ 2 (ปรีดี พนมยงค์)
รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ ท่านเอกอัคราชทูต มีโทรเลขอีกฉบับหนึ่งถึงกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ ๑๑ พระองค์เจ้าไทยพระองค์หนึ่ง ซึ่งทูตไม่ระบุพระนามเสด็จไปพบที่สถานทูตเอกอัคราชทูตภายหลังอาหารค่ำอย่างกระวีกระวาด‘เจ้าองค์นั้น’ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า HIS ROYAL HIGHNESS ซึ่งหมายถึงพระราชวงศ์ชั้นสูงซึ่งเทียบเท่าพระราชวงศ์ไทยชั้น ‘พระเจ้า’ ซึ่งอาจเป็น ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ’ หรือ ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ’
สรุป : ไม่มีข้อความใดหมายถึง “พระองค์เจ้าธานีนิวัต”สรุป : ไม่มีข้อความใดหมายถึง “พระองค์เจ้าธานีนิวัต”

เป็นที่ชัดเจนว่า เอกสารทั้ง 2 ชิ้น ที่ณัฐพลฯ ยกมากล่าวอ้างนั้น ไม่ได้ปรากฏพระนาม “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” แม้แต่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่เขียนขึ้นโดยปรีดี พนมยงค์ เองนั้น ก็ไม่ได้มีการระบุชื่อของบุคคลใดไว้เลย

แต่ในหนังสือขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ณัฐพลฯ กลับระบุพระนามของ “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” ทั้งๆ ที่ไม่มีข้อมูลในเอกสารอ้างอิง และในเชิงอรรถที่ 24 หน้า 39 ณัฐพลฯ ยังระบุไว้ด้วยว่า “ทั้งนี้ ‘พระองค์เจ้าไทย’ ที่เอกสารอังกฤษรายงานนั้น ปรีดี พนมยงค์ เห็นว่าหมายถึง ‘พระองค์เจ้าธานีนิวัต’”

นี่เท่ากับว่า ณัฐพล ใจจริง ได้จงใจหวังทำลายพระเกียรติยศของเจ้านายราชวงศ์จักรี โดยการสมอ้างหลักฐานจากบุคคลอื่น ซึ่งถือเป็นกระบวนการ “สร้างความเท็จ” ในวงการประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่อาจนับได้ว่าร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

นอกจากข้อเท็จจริงจากหลักฐานชั้นต้นทั้ง 2 ชิ้นนี้แล้ว “ทุ่นดำ-ทุ่นแดง” ยังค้นพบด้วยว่า แท้จริงแล้ว “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” ไม่ได้เป็น “His Royal Highness” (แปลเป็นไทยได้ว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ และ/หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ) ตามที่ปรีดี พนมยงค์ ได้ระบุไว้เลย เนื่องจากพระองค์ทรงมีตำแหน่งเป็นเพียงแค่ “พระวงศ์เธอ” (His Highness) มาโดยตลอดพระชนม์ชีพ (ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2517 ในพระอิสริยยศ “พระวงศ์เธอ”)

ดังนั้น ประเด็นที่ว่าเจ้าพระองค์นั้นคือ “พระองค์เจ้าธานีนิวัต” จึงปัดตกไปได้เลย เพราะแค่การระบุฐานันดรระหว่างหลักฐานกับข้อสันนิษฐาน (อันแสนมโน) ของณัฐพล ใจจริง ก็ไม่ตรงกันแล้ว

สรุปแล้วงานเขียนของณัฐพล ใจจริง ในหลายส่วนล้วนเป็นการตีความเกินหลักฐานด้วยธงที่ปักเอาไว้อยู่แล้วในใจ ซึ่งณัฐพลฯ ต้องการเพียงแค่ให้ผู้อ่านมองว่า ฝ่ายคณะเจ้าเป็น “ผู้ร้าย” ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ของตนเท่านั้น ซึ่งงานเขียนในลักษณะนี้นอกจากไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานวิชาการแล้ว ยังเป็นการนำเสนอข้อมูลบิดเบือนชนิดชั่วร้ายและไร้จริยธรรมอย่างที่สุด