‘พระสยามเทวาธิราช’ เทวดาปกป้องรักษาเมืองที่เกิดหลังยุคพุทธกาล แต่มีที่มากล่าวถึงและรับรองอยู่ในพระไตรปิฎก

จากความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ที่พยายามที่จะบอกว่า พระสยามเทวาธิราชนั้นไม่อยู่ในพระไตรปิฎก ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งกล่าวแย้งว่า พระสยามเทวาธิราชนั้นเกิดหลังยุคพุทธกาล จึงมิได้มีการกล่าวถึง

เมื่อพิจารณาถึงประวัติของพระสยามเทวาธิราชแล้ว จะเห็นได้ว่า “พระสยามเทวาธิราช” นั้น ถูกสร้างขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในช่วง พ.ศ. 2402–2403 ซึ่งทรงสนพระทัยในการศึกษาประวัติศาสตร์ จนทรงตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยนั้น มีเหตุการณ์ที่เกือบจะต้องเสียอิสรภาพมาหลายครั้ง แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ

จึงมีพระดำริขึ้นว่า ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้น ไว้สักการบูชา แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าดิษฐวรการ (หม่อมเจ้ารัชกาลที่ 1) นายช่างเอกทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปทรงต้นยืนถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ขวา ขนาด 8นิ้วฟุต งดงามได้สัดส่วนแล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ทรงถวายพระนาม “พระสยามเทวาธิราช” แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิมานกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณจนทุกวันนี้



จากประวัติของพระสยามเทวาธิราชนี้จะเห็นได้ว่า พระสยามเทวาธิราช นั้นจัดได้ว่าเป็นเทพยาดาพระองค์หนึ่ง มีบทบาทในการปกป้องรักษาประเทศไทย และพวกเราชาวไทยให้ร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา

ถึงแม้ว่าพระสยามเทวาธิราชนั้น จะถูกสร้างขึ้นหลังยุคพุทธกาลถึง 2,400 ปี แต่ถ้าหากศึกษาพระไตรปิฎกดูให้ดีจะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎก กล่าวถึงเทวดาอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะพระอินทร์ หรือท้าวสักกะ ราชาเทวดา ซึ่งมีบทบาทในพระพุทธประวัติตั้งแต่ทรงกราบทูลเชิญให้ท้าวสันดุสิตเทวราช ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติบนสวรรค์ ลงมาจุติยังโลกมนุษย์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ อีกทั้งยังเป็นผู้บันดาลให้เจ้าชายพบเห็นเทวทูตทั้ง 4 จนเกิดความเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติเสด็จออกผนวช จนถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จปรินิพพาน

ไม่เพียงพระอินทร์เท่านั้นที่มีบทบาทในพระไตรปิฎก ในหลายพระสูตร มีเหตุมาจากการที่เทวดาองค์อื่น เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาธรรมจากพระพุทธองค์ ตัวอย่างเช่น “มงคลสูตร” ซึ่งมาจากการที่เทวดาองค์หนึ่งเข้าเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ว่า “เทวดาและมนุษย์เป็นอันมาก ผู้หวังความสวัสดี ได้พากันคิดมงคลทั้งหลาย ขอพระองค์จงตรัสอุดมมงคล”

นอกจากนี้ ในพระอภิธรรมมีการแบ่งจำแนกเทวดาออกเป็น 3 พวกคือ สมมติเทวดา อันหมายถึง พระราชาและเชื้อพระวงศ์, อุปปัตติเทวดา อันหมายถึงเทวดาบนสวรรค์ และ วิสุทธิเทวดา อันหมายถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย

อีกทั้งในพระสูตร “อนุสสติฏฐานสูตร” พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนอนุสติ 6 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เทวดานุสติ” ความว่า

“อริยสาวกย่อมระลึกถึงเทวดาว่า เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่ เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่ เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัดดีมีอยู่ เทวดาเหล่าพรหมมีอยู่ เทวดาที่สูงกว่านั้นมีอยู่

เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเรามีอยู่ เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วยศีลเช่นใด ด้วยสุตะเช่นใด ด้วยจาคะเช่นใด ด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น เป็นจิตไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว เป็นจิตออกไป พ้นไป หลุดไปจากความอยาก

ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า ความอยาก นี้ เป็นชื่อของเบญจกามคุณ สัตว์บางพวกในโลกนี้ ทำเทวตานุสสติแม้นี้ให้เป็นอารมณ์ ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยประการฉะนี้”

จากเนื้อความตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ในพระไตรปิฎกนั้น มีเนื้อความกล่าวถึง และยอมรับในการคงอยู่ของเทวดาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก



สำหรับบทบาทของเทวดา ผู้มีหน้าที่ในการปกป้องรักษาเมือง มีปรากฏใน “ปาฏลิคามิยสูตร” กล่าวถึงการสร้างเมืองปัฏนา หรือปาตลีบุตร ซึ่งปัจจุบันคือเมืองหลวงของรัฐพิหาร ของประเทศอินเดีย โดยพระพุทธองค์ทรงทำนายเอาไว้ว่า หมู่บ้านปาฏลิคาม ซึ่งในเวลานั้นเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ นั้นในอนาคตจะกลายเป็นเมืองที่สำคัญอย่างมากในอนาคต เนื่องจากมีเทวดานับพันลงมาประจำรักษาเมือง ความว่า

“ดูกรอานนท์ เราได้เห็นเทวดาเป็นจำนวนมากแบ่งเป็นพวกละพัน รักษาพื้นที่อยู่ในปาฏลิคาม ด้วยทิพยจักษุอัน

บริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ณ ตำบลนี้ คือ เทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่ … เทวดาผู้มีศักดิ์ต่ำรักษาพื้นที่อยู่ในประเทศใด จิตของราชมหาอำมาตย์ของพระราชาผู้มีศักดิ์ต่ำ ย่อมน้อมไปเพื่อจะสร้างนิเวศน์ในประเทศนั้น

ดูกรอานนท์ เมืองนี้จักเป็นเมืองเลิศแห่งที่ประชุมของเหล่ามนุษย์ผู้เป็นอริยะ และเป็นทางค้าขาย เป็นที่แก้ห่อสินค้า อันตราย 3 อย่างจักมีแก่เมืองปาฏลิคาม จากไฟ 1 จากน้ำ 1 จากความแตกแห่งกันและกัน 1 ฯ”

ซึ่งในเวลาต่อมาไม่นาน เมืองปัฏนา ได้กลายเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ และมีบทบาททั้งทางการเมือง, เศรษฐกิจและศาสนาในอินเดียจวบจนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงและรับรองการมีอยู่ของเทวดา อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงบทบาทของเทวดาในการปกป้องรักษาเมือง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เมืองที่เทวดาเหล่านั้นปกป้องรักษา ดังนั้น แม้พระสยามเทวาธิราชจะมาภายหลังยุคพุทธกาล แต่พระสยามเทวาธิราชนั้น มีบทบาทมิได้ต่างจากเหล่าเทวดาผู้ปกป้องรักษาเมืองปัฏนาเลย

นอกจากนี้ การบูชาพระสยามเทวาธิราชด้วยจิตศรัทธา ย่อมเป็นการเพิ่มพูนพลังอำนาจแก่เหล่าเทวดาผู้ปกป้องรักษาประเทศไทยของพวกเรา ให้สงบร่มเย็น มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป