‘พระราชอำนาจ Veto ร่างกฎหมาย’ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตอน 2

ในบทความตอนที่แล้วเราได้พูดถึง พระราชอำนาจยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมาย ซึ่งในแต่ละประเทศมีการกำหนดพระราชอำนาจดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญแตกต่างกันไป ดังนั้นการที่ประมุขของแต่ละประเทศจะมีอำนาจ veto ร่างกฎหมายหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นๆ

สำหรับประเทศไทย พระราชอำนาจดังกล่าวของพระมหากษัตริย์ มีบทบัญญัติชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงมีการกำหนดแนวทางของฝ่ายนิติบัญญัติเอาไว้ด้วยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญของไทยฉบับต่อๆ มาจนถึงปัจจุบัน ได้บัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการตราพระราชบัญญัติไว้ใน มาตรา 37 และ 38 และพระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติไว้ในมาตรา 39 ความว่า …

“ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ ถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือนนั้นก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าสภาลงมติตามเดิมไซร้ ท่านให้นำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้ว ท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้น ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”

ทั้งนี้ในชั้นของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ครั้งที่ 37/2475 เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ประธานอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงบทบัญญัติมาตราดังกล่าวไว้ว่า …

รัฐธรรมนูญบ้านใดเมืองใดในโลกนี้เขามีข้อความทำนองนี้ทุกแห่ง และเหตุผลทำไมจึงมีข้อความดังนี้ก็ดังที่เรียนไว้แล้วว่า หลักในธรรมนูญทุกแห่ง ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่ว่าดีหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่การถ่วงหน่วงเหนี่ยวซึ่งกันและกันในอำนาจต่างๆ ว่าพอเพียงหรือไม่ ถ้าแม้ว่าพอเพียงแล้วก็นับว่าดี และเหตุใดจึงต้องมีเช่นนี้นั้น เข้าใจว่าจะทราบกันแล้วในเมืองอื่นที่เขามีสองสภา เช่น สภาล่างสภาบนนั้น วิธีดำเนินการก็ต้องจากล่างไปบนแล้วจึงถึงพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนของเรานั้นมีเพียงสภาเดียวยิ่งต้องการ เพื่อแสดงให้คนทั้งหลายเห็นในอันจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ แต่ว่ากิจการใดต่างฝ่ายต่างจะวิ่งไปโดดเดี่ยวนั้นไม่ได้ฉะนั้น จึงต้องมีเครื่องจักรคอยหน่วงเหนี่ยวกัน สำหรับการที่นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนี้ ถ้าพระองค์ท่านไม่เห็นด้วยก็จะระงับไว้ได้เดือนหนึ่ง แล้วเรามาดำริกันอีกครั้งหนึ่งในร่างตามที่ได้ถวายไป เมื่อเห็นตามเดิมแล้วก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกทีหนึ่ง คราวนี้แม้พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วยก็จะระงับหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ 15 วัน และถ้าไม่พระราชทานลงมาเราก็ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ …”

เห็นได้ชัดเจนว่า จากบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 พระราชอำนาจ veto ร่างกฎหมาย ถูกกำหนดไว้ด้วยเจตนารมณ์ “เพื่อคงไว้ซึ่งหลักการถ่วงดุลอำนาจ ไม่ให้องค์กรนิติบัญญัติใช้อำนาจได้อย่างสิทธิขาดแต่ผู้เดียว” กล่าวคือหากสภามีมติอนุมัติร่างกฎหมายที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็ทรงมีพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายนั้น

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ได้กำหนดว่า หากมีการใช้อำนาจ veto ร่างกฎหมาย หรือไม่ได้พระราชทานร่างพระราชบัญญัติคืนมายังสภาภายใน 30 วัน สภาก็จะปรึกษาและออกเสียงกันใหม่ หากมีมติตามเดิม ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง และหากพระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายใน 15 วัน ก็สามารถประกาศพระราชบัญญัตินั้น ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เลย

สำหรับในปัจจุบัน การเสนอร่างพระราชบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น หากทรงไม่เห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติ แล้วเก็บไว้ไม่พระราชทานคืนมาภายใน 90 วัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด ก็จะทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้าพระมหากษัตริย์ยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยอีก เมื่อพ้น 30 วัน นายกรัฐมนตรีก็สามารถนำพระราชบัญญัตินั้นไปประกาศใช้ได้เลย เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วนั่นเอง

และในรัฐธรรมนูญยังกำหนดไว้ด้วยว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ” แต่รัฐธรรมนูญก็มีข้อยกเว้นไว้สำหรับ พระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่จำเป็นต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

สำหรับกรณีที่มีเพจๆ หนึ่งพูดถึงการ veto ร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์ไทยนั้น ในที่นี้ทีมงาน ฤๅ จะขอยกตัวอย่างกรณีในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้พระราชอำนาจ veto “ร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 พ.ศ. …”

วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2546 รัฐบาลมีมติให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อมาสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงนำไปสู่ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

แต่ปรากฏว่า มีข้อผิดพลาดสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว คือมีการอธิบายลักษณะของเหรียญเฉลิมพระเกียรติไม่ถูกต้อง ซึ่งรัฐบาลได้แถลงยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว และขอพระราชทานอภัยโทษในความไม่บังควรที่เกิดขึ้น รวมถึงมีการตราพระราชบัญญัติขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวให้ถูกต้อง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ด้วยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีถ้อยคำและข้อความคลาดเคลื่อน จึงมีพระราชกระแสให้ส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคืนรัฐสภา

ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 รัฐสภาจึงได้ประชุมปรึกษาร่างพระราชบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่ารัฐสภามีมติไม่ยืนยันร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับเป็นอันตกไป

จะเห็นได้ว่า การใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ถือเป็นการใช้พระราชอำนาจโดยเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ที่ไม่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีสาเหตุมาจากถ้อยคำและข้อความในร่างพระราชบัญญัติที่มีความผิดพลาด

จากตัวอย่างและข้อมูลทั้งหมดข้างต้น สรุปได้ว่า พระราชอำนาจยับยั้ง (veto) ร่างกฎหมายของพระมหากษัตริย์ไทย มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ รวมถึงกำหนดแนวทางการดำเนินการของฝ่ายนิติบัญญัติเอาไว้ด้วยในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ ดังนั้น พระราชอำนาจ veto ร่างกฎหมาย จึงไม่ใช่การขยายพระราชอำนาจเข้าแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจหากเกิดกรณีที่ฝ่ายนิติบัญญัติอนุมัติร่างกฎหมายที่ขัดต่อระบอบการปกครองอีกด้วย

[‘พระราชอำนาจ Veto ร่างกฎหมาย’ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ตอน 1]

ที่มา :

[1] นรนิติ เศรษฐบุตร เอกสารการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 (นนทบุรี: สถาบันพระปกเกล้า, 2552)
[2] นภารัตน์ กิมทรง กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2547)
[3] หยุด แสงอุทัย, “การร่างรัฐธรรมนูญฉะบับปัจจุบัน,” นิติสาส์น, ฉบับที่ 4 ปีที่ 20 น. 818-820 (ตุลาคม-ธันวาคม 2492).
[4] “แถลงการณ์สำนักนายกฯ แจงร่าง พ.ร.บ.สองฉบับที่พระราชทาน “คืน” รัฐสภา,” มติชน (27 พฤศจิกายน 2546)
[5] วิษณุ เครืองาม และ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 (กรุงเทพมหานคร: นำอักษรการพิมพ์, 2520)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า